ไม่มีประเด็นใหม่ ไทยไม่หวั่นหลังรับฟังคำให้การของกัมพูชา
ฮอร์ นัมฮง ให้การทางวาจาที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ รอบแรก ขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษา คดีปราสาทพระวิหารปี ๒๕๐๕ ด้านรมว.บัวแก้ว ยันไม่รู้สึกหนักใจ พร้อมชี้แจงท่าทีของไทยต่อศาลฯ ๑๗ เม.ย.นี้
เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ที่กรุงเฮก นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการ และพลอากาศเอกสุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้นำคณะผู้แทนไทยเข้ารับฟังการให้การโดยวาจาของฝ่ายกัมพูชาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) โดยนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชาในฐานะตัวแทนรัฐบาลกัมพูชา และคณะที่ปรึกษากฏหมายชาวต่างชาติของฝ่ายกัมพูชา ในคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี ๒๕๐๕
หลังจากรับฟังถ้อยแถลงในช่วงแรกของฝ่ายกัมพูชา นายสุรพงษ์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสรุปคำให้การของฝ่ายกัมพูชาว่า นายฮอร์ นัมฮง ได้พยายามชี้แจงต่อศาลฯ ยืนยันว่า มีความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างไทยกับกัมพูชาเกี่ยวกับขอบเขตและความหมายของคำพิพากษาปี ๒๕๐๕ และการที่ไทยไม่ปฏิบัติตาม คำพิพากษาฯ ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ปะทะทางอาวุธบริเวณชายแดนในสมัยรัฐบาลที่แล้ว ทำให้กัมพูชาต้องขอให้ ศาลฯ ตีความคำพิพากษาฯ ให้ชัดเจน
ส่วนคณะที่ปรึกษากฏหมายชาวต่างชาติของกัมพูชาได้พยายามเสนอข้อมูลหักล้างเหตุผลและหลักฐานในคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรที่ไทยได้ยื่นต่อศาลฯ ก่อนหน้านี้
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ กล่าวว่า ไม่รู้สึกหนักใจ เพราะประเด็นต่างๆ ที่กัมพูชาได้นำเสนอเป็นไปตามความคาดหมายของฝ่ายไทย ไม่มีประเด็นใหม่ ซึ่งคณะทำงานของไทยมีความพร้อมโดย ได้เตรียมข้อมูลตอบโต้ไว้แล้ว ทั้งนี้ กระบวนการชี้แจงโดยวาจาเพิ่งเริ่มต้นขึ้นในวันนี้ ไทยมีกำหนดจะชี้แจงท่าทีของไทยต่อศาลฯ ในวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๖
ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะเดินทางไปเป็น "ผู้สังเกตการณ์" โพสต์ในเฟชบุค ระบุหลังจบการพิจารณาวันที่ 1 ว่า แม้ดูกัมพูชาจะเสมือนเป็นต่อ ถล่มอาวุธหนักตั้งแต่ลั่นระฆังยกแรก แต่ตั้งสติใช้วิจารณญาณให้ดีแล้วจะพบว่า ก็จะวนเวียนอยู่กับเรื่องเดิม เรื่อง the Annex I map เหมือนเมื่อ 50 ปีก่อน
"ถ้าจะมีใหม่ก็คือแทคติก ที่พยายามผลักให้ศาลลงมาเป็นคู่ต่อสู้กับไทย เพราะทางชนะมีทางเดียว คือศาลจะต้องกล้าหาญในการวินิจฉัยที่เสี่ยงจะออกนอกกรอบคำพิพากษาเดิม คือศาลจะต้องรับตีความ และตีความเลยส่วน "บทปฏิบัติการ" ไปถึงส่วน "เหตุผล" ซึ่งแม้พอมีช่องให้ทำได้ แต่ก็เป็นช่องที่เล็กมาก ศาลต้องกล้าหาญจริง ๆ"
นายคำนูณ ระบุด้วยว่า ทางรอดของไทยก็มีทางเดียว คือศาลต้องไม่กล้าหาญตีความในจุดที่เสี่ยงจะเข้าข่าย "นอกกรอบ" ศาลจะต้องตีความวินิจฉัยยืนเพียงแค่ในกรอบคำพิพากษา 2505 ไม่ไปแตะ the Annex I map ที่อยู่ในส่วน "เหตุผล" ของพิพากษาเดิม
"ข้อยากของไทยคือต้องพยายามชี้ให้ศาลเห็นว่า ศาลไม่มีอำนาจ ทั้งไม่มีอำนาจรับพิจารณา และไม่มีอำนาจตีความนอกกรอบคำพิพากษาเดิม หากไม่ระวัง จะกลายเป็นต่อสู้กับศาล ไม่ใช่ต่อสู้กับกัมพูชา ซึ่งจะเสียเปรียบในเชิงจิตวิทยา เพราะศาลทั่วโลกเหมือนกัน คือเป็นผู้วินิจฉัยเขตอำนาจของตัวเอง ไม่ต้องให้ใครมาสอน"