24 ศัพท์บัญญัติด้านสันติภาพและความขัดแย้ง (จบ)
ช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์เช่นนี้ มาใช้เวลาว่างนอกเหนือจากเล่นสาดน้ำด้วยการศึกษา "คำศัพท์สันติภาพ" จากเนื้อหาตอนที่ 2 ของบทความที่ชื่อ "24 ศัพท์บัญญัติด้านสันติภาพและความขัดแย้งที่ควรทำความเข้าใจก่อนและหลังการพูดคุยสันติภาพ 28 มี.ค." ซึ่งเขียนโดย อาจารย์โชคชัย วงษ์ตานี จากสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (ม.อ.หาดใหญ่)
ศูนย์ข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา นำเสนอบทความชิ้นนี้ไปแล้ว 1 ตอน เลือกคำศัพท์มานำเสนอ 10 คำ ยังเหลืออีก 14 คำ ติดตามได้ในตอนที่ 2 นี้
อภิธานศัพท์สันติภาพ (ต่อ)
11. Political context บริบททางการเมือง (ภ.มลายูกลาง kontekspolitik) คือ สถานการณ์ที่ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ของความขัดแย้ง ถูกกระทบโดยระบอบทางการเมืองหรือโครงสร้างการตัดสินใจของชุมชน ท้องถิ่น หรือเชื้อชาติที่มีความขัดแย้งหรือไม่อย่างไร ใครเป็นผู้กุมอำนาจในการเมืองในชุมชนหรือสังคมดังกล่าว การลงมติหรือการหาทางออกจากความขัดแย้งในรูปแบบต่างๆ นั้นเป็นไปอย่างประชาธิปไตยหรือเผด็จการหรือไม่อย่างไร
หากมองประเด็นนี้ บริบททางการเมืองในกรณีปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การใช้อำนาจทางการเมืองของฝ่ายรัฐในกรณีที่ส่งผลต่อความขัดแย้งในพื้นที่ ครอบคลุมถึงการใช้อำนาจทางการเมือง อำนาจทางการเงิน ทางการทหารในการใช้สรรพกำลังและการชี้ขาดปัญหาทั้งทางด้านการเมืองและปกครอง โดยมีโครงสร้างการตัดสินใจรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง หรือที่นักข่าวต่างชาติเรียกว่า "รัฐบาลกรุงเทพฯ" บริบททางการเมืองในพื้นที่เป็นผลมาจากการใช้อำนาจในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษควบคุมจากรัฐส่วนกลาง การเลือกใช้กฎหมายชนิดต่างๆ และการใช้ระบบรัฐสภาเพื่อร่วมตัดสินใจหาทางออกที่ควรจะเป็นจากความขัดแย้ง รวมทั้งปัญหาที่มาจากการถือครองทรัพยากร บุคลากร กลไก และงบประมาณด้านการพัฒนาในพื้นที่
12. Social Context บริบททางสังคม (ภ.มลายูกลาง kontekssosial) หมายถึง ความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีอยู่ภายในกลุ่มบุคคลหนึ่งๆ ที่กำลังอยู่ในภาวะของความขัดแย้ง ตัวอย่างเช่น กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจทางสังคมหรือทางการเงินเหนือกว่าหรือไม่ ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งประสบความสำเร็จน้อยกว่า หรือเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับอีกฝ่ายหรือไม่
กรณีปัญหาชายแดนใต้ บริบททางสังคมอาจพิจารณาได้ถึงความสัมพันธ์ทางสังคมที่ล้มเหลวที่ต่างฝ่ายเลือกใช้ความรุนแรงตอบโต้กัน ความไม่ไว้วางใจลดลงระหว่างกัน หรืออาจหมายรวมถึงสภาพความหลากหลายของผู้คนในสังคมและวัฒนธรรม การเป็นอยู่ การทำมาหากิน การอพยพย้ายถิ่น การรวมกลุ่มของสตรีหรือภาคประชาสังคม รวมทั้งประเด็นผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
13. Brainstorming การระดมสมอง (ภ.มลายูกลาง pemerahanotak) คือ กระบวนการที่คู่พิพาทถูกระบุให้คิดหาวิธีต่างๆ เพื่อให้มีตัวเลือกในการเข้าถึงปัญหาหนึ่งๆ มากเท่าที่จะทำได้ คู่พิพาทจะได้รับการกระตุ้นให้คิดอย่างสร้างสรรค์และต่อยอดความคิด (ideas) ของกันและกัน จุดมุ่งหมายคือการได้มาซึ่งวิธีการใหม่ๆในการเข้าถึงปัญหา นอกเหนือจากวิธีการเดิมที่มีอยู่แล้ว
14. Consensus ฉันทามติ (ภ.มลายูกลาง sepersetujuan, konsensus,หรือ ijmak : คำหลังสุดมีรากศัพท์จาก ภ.อาหรับ) การหาข้อสรุปแบบ "ฉันทามติ" คือการที่ทุกคนมีความเห็นสอดคล้องกันในข้อสรุปหนึ่งๆ ไม่ใช่แค่เพียงเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยเหมือนแนวทางปฏิบัติเรื่องเสียงข้างมาก ในกระบวนการหาฉันทามติ สมาชิกทุกคนต้องร่วมกันสร้างข้อตกลงที่ดีพอ (ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบเสมอไป) และเป็นข้อตกลงที่ทุกคนยินดียอมรับพร้อมทั้งปฏิบัติตาม ฉันทามติเป็นผลในระหว่างการพูดคุยในแต่ละครั้ง และเป็นผลปลายทางการพูดคุยที่สำคัญทั้งสำหรับทางการไทยและตัวแทนกลุ่มขบวนการผู้ก่อการ รวมทั้งฝ่ายอำนวยความสะดวกอย่างมาเลเซีย
15. Stakeholders ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (ภ.มลายูกลาง pemegangtaruh) คือ ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากข้อขัดแย้งหนึ่งๆ หรือข้อสรุปของข้อขัดแย้งนั้น ในที่นี้รวมไปถึงคู่กรณีที่กำลังมีความขัดแย้งกันอยู่ในขณะนั้น และผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งดังกล่าวโดยตรง แต่อาจจะเข้ามามีส่วนร่วมเพราะพวกเขาจะได้รับผลกระทบจากผลลัพธ์ของความขัดแย้งที่จะมีขึ้นในอนาคต
ในกรณีนี้หลายฝ่ายมองว่าบทบาทนี้หมายถึงประเทศมาเลเซียเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นมุมมองที่แคบไป ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกรณีปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจครอบคลุมถึงประชาชนในพื้นที่ ประชาชนชาวไทยและมาเลเซียโดยรวม รวมทั้งสมาชิกของประเทศในกลุ่มอาเซียนทั้งภูมิภาคย่อมได้ประโยชน์เช่นเดียวกันหากการพูดคุยสันติภาพบรรลุผล เกิดการหยุดการใช้ความรุนแรง การพัฒนาที่มุ่งสู่สันติภาพอันจะส่งผลดีแก่ทุกฝ่าย
16. Values คุณค่า (ภ.มลายูกลาง nilai.) คือ แนวคิดที่ผู้คนมีอยู่เกี่ยวกับเรื่องการแยกแยะดีชั่ว และสิ่งต่างๆ ควรจะเป็นไปในรูปแบบใดจึงเรียกได้ว่าเหมาะสม ผู้คนมีคุณค่าในเรื่องของความสัมพันธ์ในครอบครัว เช่น บทบาทของสามีที่ให้เกียรติภรรยา ในเรื่องของความสัมพันธ์ในที่ทำงาน เช่น แนวทางที่นายจ้างควรปฏิบัติต่อลูกจ้าง และในเรื่องของความสัมพันธ์ส่วนบุคคล เช่น แนวทางที่เด็กควรจะปฏิบัติตนต่อผู้อาวุโส หรือมนุษย์กับการนับถือศาสนา
ในกรณีปัญหาชายแดนใต้ แนวคิดเรื่องระบบคุณค่าของคนในพื้นที่มีรากฐานจากศาสนา อัตลักษณ์มลายู และประวัติศาสตร์ปาตานี ซึ่งเป็นแนวคิดที่มักขัดกับแนวคิดแนวปฏิบัติหลักของรัฐที่พยายามชูเรื่อง "ความเป็นไทย" ที่มีลักษณะเฉพาะและยึดประเพณีในศาสนาพุทธเป็นหลักทั้งในพิธีกรรมรัฐ การปกครอง และระบบราชการ
17. Deadlines กำหนดเวลาสิ้นสุด (ภ.มลายูกลาง TarikhAkhir) การกำหนด "deadlines" และบทลงโทษของผู้ที่ไม่สามารถทำบางสิ่งบางอย่างสำเร็จภายในกำหนด สามารถช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่คู่กรณีว่าการสรรหาข้อตกลงหนึ่งๆ จะสำเร็จลุล่วง การกำหนด "deadlines" ยังสามารถลดความเสี่ยงเรื่องคู่กรณีไม่ที่ซื่อสัตย์ทำการขัดขวางข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่าย
"deadlines" ในกระบวนการเจรจาต่อรองช่วยสร้างความมั่นใจว่าคู่กรณีฝ่ายใดที่ต้องการคงไว้ซึ่งสถานะเดิม (status quo) ไม่สามารถยืดเวลาการเจรจาออกไปได้อย่างไม่มีกำหนด เมื่อคู่กรณีที่ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันยินดีที่จะแสดงความรับผิดชอบ ก็มีทางเป็นไปได้ที่จะออกแบบทางแก้ปัญหาตามที่มีข้อตกลงกันไว้ว่าขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของอีกฝ่าย การแสดงความรับผิดชอบยังสามารถนำไปสู่ความสำเร็จของข้อตกลงหนึ่งๆ อีกด้วย
การมีกำหนดเวลาสิ้นสุดเป็นเครื่องมือที่แสดงการให้โอกาสและการแสวงหาเส้นความเด็ดขาดที่สำคัญทั้งสำหรับทางการไทยและฝ่ายก่อการ เพราะเกี่ยวข้องกับการค้ำประกันผลที่ควรเกิดขึ้นจากการพูดคุย และเพื่อให้สิ่งที่ตกลงกันมีผลในทางปฏิบัติตามตามข้อตกลงและมีผลในการบังคับใช้ร่วมกัน เพื่อให้กระบวนการพัฒนาสันติภาพไปข้างหน้าได้
18. Conciliation การประนีประนอม (ภ.มลายูกลาง pendamaian) เกี่ยวเนื่องกับความพยายามของบุคคลที่สามในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคู่พิพาทให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น การประนีประนอมนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หรืออยู่เดี่ยวๆ ก็ได้ (independently) โดยปกติแล้วบุคคลที่สามจะเป็นผู้ทำหน้าที่แก้ไขข้อเข้าใจผิด ลดความหวาดกลัวและความไม่ไว้วางใจกันระหว่างคู่พิพาท ในบางครั้งการประนีประนอมเพียงอย่างเดียวก็สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ หรืออย่างน้อยก็เป็นการปูทางไปสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยขั้นต่อไป ซึ่งการประนีประนอมนี้สำคัญทั้งสำหรับทางการไทยและฝ่ายขบวนการ
19. Impartiality ความเป็นกลาง (ภ.มลายูกลาง adil, saksama, tidakberatsebelah คำแรกมีรากศัพท์มาจาก ภ.อาหรับ) ในที่นี้หมายถึงทัศนคติของบุคคลที่สาม "a impartial third party" จะต้องไม่เลือกเข้าข้างใดข้างหนึ่ง แต่ต้องเข้าหาและทำความรู้จักคุ้นเคยกับคู่กรณีทุกฝ่ายอย่าเท่าเทียมกัน ในทางปฏิบัติแม้ว่าบุคคลที่สามจะสามารถปฏิบัติต่อทุกฝ่ายได้อย่าเท่าเทียม แต่ก็ถือเป็นเรื่องยากที่บุคคลผู้นั้นจะสามารถให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย ถ้าบุคคลผู้นั้นมีความโน้มเอียงไปยังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือโน้มเอียงไปทางเหตุผลของฝ่ายหนึ่งมากกว่าอีกฝ่าย ประเด็นความเป็นกลางนี้สำคัญมากสำหรับทางการมาเลเซียที่อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพในทุกครั้งนับจากนี้
20. Dialogue การสานเสวนา (ภ.มลายูกลาง percakapan, dialog) คือ กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับความเชื่อ ความรู้สึกนึกคิด ความสนใจ และความต้องการระหว่างกลุ่มคน ในรูปแบบที่เป็นมิตรและเปิดกว้าง โดยปกติแล้วจะมีบุคคลที่สามทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ การสานเสวนาแตกต่างจากการไกล่เกลี่ย (mediation) ซึ่งมีเป้าหมายคือการได้มาซึ่งข้อสรุปหรือทางแก้ไขปัญหาของข้อพิพาทหนึ่งๆ ในขณะที่จุดมุ่งหมายของการสานเสวนาเพียงแค่ต้องการเสริมสร้างความเข้าใจและความไว้วางใจระหว่างบุคคลเท่านั้น
ในกรณีปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ กระบวนการนี้เครื่องมือสำคัญที่ถูกหยิบใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งแวดวงวิชาการ ภาคราชการ และภาคประชาสังคม คือใช้การสานเสวนาระหว่างเพื่อนต่างศาสนิก ระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ ระหว่างนักการเมืองกับชาวบ้าน อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เน้นการรับฟังซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่การเปิดใจและสร้างการยอมรับระหว่างกัน
21. Human needs ความต้องการของมนุษย์ (ภ.มลายูกลาง keperluanmanusia) คือ สิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการเพื่อการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการในสภาวะที่ปกติ Abraham Maslow นักจิตวิทยาคนสำคัญได้ให้ความหมายไว้ว่า ความต้องการของมนุษย์เป็นสิ่งที่เหนือกว่าความต้องการที่แสดงออกทางกายภาพ อันได้แก่ ความต้องการอาหารและที่อยู่อาศัย เพราะความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ครอบคลุมถึงความต้องการทางด้านจิตใจ เช่น ความมั่นคงปลอดภัย ความรัก อัตลักษณ์ ศักดิ์ศรี และความสามารถในการบรรลุเป้าหมาย
นักทฤษฎีทางด้านความขัดแย้งบางท่านเสนอทฤษฎีเกี่ยวกับ "human needs" ไว้ว่า ความขัดแย้งที่มีความซับซ้อนและรุนแรงที่สุด คือความขัดแย้งทางด้านเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ เกิดจากการปฏิเสธในความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ อาทิ อัตลักษณ์ ความมั่นคงปลอดภัย และการเป็นที่ยอมรับของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย การที่จะแก้ไขความขัดแย้งดังกล่าวจะต้องคิดหาทางเพื่อตอบสนองความต้องการของทุกฝ่ายโดยปราศจากการประนีประนอม ดังคำกล่าวที่ว่า "human needs are not for trading" หรือ ความต้องการของมนุษย์ไม่ได้มีไว้สำหรับการซื้อขาย
22. Interests ความสนใจแบบเฉพาะเจาะจง (ภ.มลายูกลาง kepentingan) คือ ความต้องการและความกังวลอันเด่นชัดที่กระตุ้นผู้คนให้ระบุในจุดยืน (position) คือสิ่งที่คู่ขัดแย้งระบุว่าเขาต้องการ เช่น ฉันต้องการจะสร้างบ้านตรงนี้ ความสนใจแบบเฉพาะเจาะจงคือเหตุผลที่สนับสนุนว่าคนๆ หนึ่งเลือกจุดยืนนั้น บ่อยครั้งที่ความสนใจแบบเฉพาะเจาะจงของคู่ขัดแย้งแต่ละฝ่ายสามารถเข้ากันได้ และสามารถเจรจาต่อรองได้ แม้ว่าความสนใจแบบเฉพาะเจาะจงของแต่ละฝ่ายจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงก็ตาม
ความสนใจแบบเฉพาะเจาะจงของทางการไทยคือ ในเบื้องต้นต้องการการยุติการใช้ความรุนแรงทั้งรายวันและการสร้างสันติภาพระยะยาว รวมถึงร่วมค้นหารูปแบบปกครองท้องถิ่นที่เหมาะสมสำหรับชายแดนใต้ในกรอบรัฐธรรมนูญ สำหรับฝ่ายกลุ่มขบวนการอาจเปิดเผยชัดในประเด็นเฉพาะเจาะจง แต่อาจยังสงวนท่าที่ที่สามารถผ่อนปรน ซึ่งไม่ว่าจะมีทางออกเช่นไรก็ต้องพยายามน้าวโน้มการยอมรับและการเห็นด้วยจากทางการไทยด้วยเช่นกัน
23. Goal Clarification เป้าหมายที่ชัดเจน (ภ.มลายูกลาง Matlamat yang Penjelasan) การประสบความสำเร็จในการจัดการความขัดแย้งหนึ่งๆ ถือเป็นเรื่องยาก ถ้าหากบุคคลในความขัดแย้งเหล่านั้นไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับเป้าหมายของเขาตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม เพราะฉะนั้นขั้นตอนแรกสุดในการเผชิญหน้าอย่างสร้างสรรค์ คือ การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนของแต่ละฝ่ายเพื่อสรุปว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร และวิธีไหนคือทางแก้ปัญหาที่เหมาะสม
ในประเด็นนี้ชัดเจนว่าทางการไทยใช้การต่อรอง เจรจา พูดคุยสันติภาพตามกรอบของรัฐธรรมนูญไทย หากแต่ฝ่ายกลุ่มขบวนการอาจมีความแตกต่างหลากหลายในการพูดคุย ทั้งกลุ่มที่ต้องการเอกราช การปกครองตนเอง หรือการปกครองในรูปแบบพิเศษที่เป็นที่ยอมรับหรือทางการไทยเห็นว่าเหมาะสม
24. Amnesty นิรโทษกรรม (ภ.มลายูกลาง pengampunan) คือ การอภัยโทษแก่ผู้เคยกระทำความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำความผิดทางการเมือง เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนและอาชญากรสงคราม การนิรโทษกรรมเป็นอีกทางออกหนึ่งของปลายทางการพูดคุยสันติภาพที่ทางการไทยสามารถหยิบมาใช้ในกรณีที่ฝ่ายกลุ่มขบวนการให้ความร่วมมือ ซึ่งทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถเบาบางอดีตที่ทั้งสองฝ่ายเคยกระทำผิดต่อกัน โดยเป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมการเดินหน้าสู่อนาคตร่วมกัน
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การประชุมนอกรอบของคณะทำงานพูดคุยสันติภาพฝ่ายรัฐบาลไทย นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (คนแรกทางขวามือ) ที่โรงแรมเจดับบลิว แมริออต กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ก่อนไปร่วมโต๊ะพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐเมื่อ 28 มี.ค.2556
ขอบคุณ : ภาพจากศูนย์ภาพเนชั่น
อ่านประกอบ : 24 ศัพท์บัญญัติด้านสันติภาพและความขัดแย้ง (1)