ผู้อยู่เบื้องหลัง ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐรับของขวัญเกิน 3,000 บาท
การที่องค์การสุรา กรมสรรพสามิต ได้ทำสัญญาว่าจ้าง บริษัท แสงโสม จำกัด ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ผลิตแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95 ดีกรี 2 สัญญาเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2555 และ วันที่ 21 ส.ค.2555 รวม 214,785,000 บาท ในทัศนะของผู้เขียนถือเป็นเรื่องน่าสนใจ เนื่องเพราะระยะหลังข่าวความเคลื่อนไหวทางธุรกิจของนายเจริญมักเกี่ยวข้องกับการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์มากกว่าอย่างอื่น
ขณะเดียวกันตำนานการทำธุรกิจโรงเหล้าซึ่งถูกกล่าวขานไม่รู้จบ ผุดวาบขึ้นมาอีกครั้ง
อ.นวลน้อย ตรีรัตน์ นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเส้นทางการทำธุรกิจของนายเจริญ ผ่านหนังสือ “การต่อสู้ของทุนไทย การปรับตัวและพลวัต” ซึ่งมี ผาสุก พงษ์ไพจิตร เป็นบรรณาธิการว่า
ในการสร้างอาณาจักรของนายเจริญ เขาได้สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับส่วนต่างๆ ไว้มาก โดยเฉพาะในวงราชการ ทหาร และนักการเมือง จนกล่าวว่า ไม่ว่าหน่วยราชการใดจัดเลี้ยง ขอความอนุเคราะห์มา ก็จะมีการขนสุราหงส์ทองไปแจกเป็นว่าเล่น หรือว่ากรรมการในเครือบริษัทต่างๆ ของเขาจะเต็มไปด้วยอดีตข้าราชการและนายทหารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำเมามาแล้วทั้งสิ้น
นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ยังใช้วิธีการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ฝังรากลึกและยาวนานกับข้าราชการที่มีอำนาจหน้าที่ที่สามารถเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจของเขาได้ จึงปรากฏว่าข้าราชการระดับสูงที่เกษียณราชการออกมาแล้วทั้งจากกรมสรรพสามิตและกระทรวงอุตสาหกรรมมักจะได้รับเชิญให้ไปนั่งในตำแหน่งต่างๆ ของบริษัทในเครือของนายเจริญ และหรือยังคงความสัมพันธ์ทางธุรกิจต่อกัน ซึ่งเป็นที่มาของผู้เขียนที่เขียนถึงนายเจริญ สิริวัฒนภักดี มักจะอ้างถึงลักษณะนิสัยของเขาว่า เป็นบุคคลประเภท “บุญคุณต้องทดแทน” นอกจากนี้เขายังเป็นบุคคลที่ชอบสร้างเครือข่าย ในนิตยสารดอกเบี้ย ฉบับวันที่ 3-9 ธันวาคม 2544 มีความตอนหนึ่งว่า
“ในสถานที่ทำงานของเขาในแต่ละวัน โดยเฉพาะที่โรงแรมพลาซ่าแอทธินีจะมีผู้มารอคอยพบเขานับเป็นสิบๆ คนในแต่ละวัน และที่น่าสนใจก็คือ คนที่มารอคอยพบเขาเหล่านี้ไม่ใช่คนเดินดินธรรมดาสามัญเสียด้วย แต่ละคนล้วนเป็นใหญ่เป็นโตที่มีชื่อเสียงในแวดวงสังคมทั้งสิ้น”
และอีกตอนหนึ่งว่า
“กล่าวคือเขาพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือกับทุกๆ คนที่เข้ามาขอความช่วยเหลือ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นบุคคลธรรมดาสามัญหรือนักการเมืองระดับใด ซึ่งมันเหมือนกับว่าเป็นความคิดที่อยู่ในจิตสำนึกว่า หากโปรยเงินให้คนเหล่านี้ไปแล้ว เงินเหล่านี้จะกลับมาตอบแทนเขาไม่ในชาตินี้ก็ชาติหน้า”
จากลักษณะเช่นนี้จึงมีผลให้นายเจริญ สิริวัฒนภักดี มีเพื่อนฝูงในแวดวงต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เขาจะต้องจ่ายเพื่อคงไว้ซึ่งเครือข่ายเชิงอุปถัมภ์ที่มีต่อกัน ดังนั้น ถึงแม้ว่านายเจริญจะมีรายได้มหาศาล แต่ก็มีค่าใช้จ่ายไม่น้อยทีเดียว
แม้งานวิจัยชิ้นนี้ มิได้อธิบายถึง “ค่าใช้จ่าย”ในเชิงอุปถัมภ์ของนายเจริญ กระนั้นในหนังสือ “ทักษิณกับพวก” เขียนโดย ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธ์ อธิบายไว้อย่างชัดเจน
หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงเรื่อง เช็คของขวัญ กับนักการเมือง (หน้า 128) ว่า....
แม้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือ รสช. จะใช้อำนาจเถื่อนโค่นล่มรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534
แต่การรัฐประหารดังกล่าวทำให้สาธารณชนเห็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์บางประการ (เดิมเป็นเพียงการพูดและเล่ากันในแวดวงการเมือง) ว่า ผลประโยชน์ “ต่างตอบแทน” ระหว่างนักธุรกิจและการเมือง ทำกันจนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา โดยไม่เกรงกลัวว่าใครจะมาตรวจสอบ
ดังนั้น ผลประโยชน์ที่ให้กันจึงทำกันในรูป “เช็คของขวัญ” รวมกันมีมูลค่าหลายร้อยพันล้านบาทและกลายมาเป็นหลักฐานที่ทำให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) ที่มี พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ เป็นประธาน ใช้เป็นข้ออ้างในการประกาศยึดทรัพย์นักการเมืองใหญ่ 10 คนจาก 25 คน ที่ รสช. ประกาศอายัดทรัพย์ไว้ในข้อหาร่ำรวยผิดปกติ
แม้ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ประกาศของ รสช. ในการแต่งตั้ง คตส. ไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญและธรรมเนียมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
แต่ข้อเท็จจริงในเรื่องเช็คของขวัญที่นักธุรกิจมอบให้แก่นักการเมืองมูลค่าหลายร้อยล้านบาทเป็นเรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธได้
ผู้ที่ได้รับเช็คของขวัญอันดับต้นๆ หนีไม่พ้น พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน หัวหน้าพรรคชาติไทยและนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้รับเช็คของขวัญจากหลายบริษัท รวมเป็นเงินกว่า 284 ล้านบาท ซึ่ง พล.อ.ชาติชายอ้างต่อศาลว่า ผู้นำเช็คของขวัญมาให้มีเหตุผลต่างๆ กัน เช่น สนิทสนมคุ้นเคยกันเป็นส่วนตัวศรัทธาต่อการดำเนินการทางการเมือง
ในจำนวน 284 ล้านบาท ปรากฏว่าเป็นเช็คของขวัญที่ คตส. อ้างว่าเป็นของกลุ่มบริษัท สุราทิพย์ 62 ล้านบาท ซึ่งเกี่ยวพันกับการต่ออายุสัญญาโรงงานสุราบางยี่ขันเมื่อปี 2532
แต่ พล.อ.ชาติชายปฏิเสธ อ้างว่าเป็นผู้เช่าโรงเหล้าคือบริษัท สุรามหาราษฎร ไม่ใช่สุราทิพย์ และเช็คเหล่านั้นซื้อโดยเงินส่วนตัวของบุคคลผู้ให้ ไม่ใช่เงินของบริษัท สุราทิพย์
คนต่อมาคือ ประมวล สภาวสุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น คตส. อ้างว่า กลุ่มบริษัทสุราทิพย์และสุรามหาราษฎรมอบให้ผ่านที่ปรึกษาจำนวน 84 ฉบับ ฉบับละ 1 ล้านบาท ประมวลอ้างว่าเป็นเงินที่ วิรัตน์ คลศรีชัย ยืมไปแล้วนำมาคืน
แต่ในแวดวงการค้าสุรารู้ว่า วิรัตน์เป็นกรรมการบริษัทในเครือของตระกูลภัทรประสิทธิ์ หุ้นส่วนสำคัญของ เจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าพ่อน้ำเมาตัวจริง
สำหรับ พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร ที่ศาลฎีกาพิพากษาให้จ่ายภาษีย้อนหลังให้กรมสรรพากร 93 ล้านบาท คตส. อ้างว่ามีตั๋วใช้เงินของบริษัทสุรามหาราษฎรและบริษัทค้าสุรารวม 10 บริษัท จำนวน 14 ฉบับ เป็นเงิน 81.3 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาศาลฎีกา(10135-2539) ที่ พล.ต.อ.ประมาณฟ้องกรมสรรพากรระบุว่า เช็คของขวัญที่ พล.ต.อ.ประมาณได้รับในปี 2533 จำนวน 46 ฉบับ รวมเป็นเงิน 83,102,500 บาท พล.ต.อ.ประมาณนำสืบว่า บริษัท สหมิตรการบริหาร จำกัด มอบให้เป็นค่าซื้อที่ดิน โดยบริษัทรับเช็คของขวัญดังกล่าวมาจากลูกค้าบริษัทอีกต่อหนึ่ง
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้บริษัทจะซื้อที่ดินจาก พล.ต.อ.ประมาณเป็นเงินถึง 85 ล้านบาทเศษดังที่นำสืบจริง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่บริษัทจะต้องชำระค่าที่ดินโดยใช้เช็คแบ่งย่อยออกเป็นหลายฉบับ โดยเฉพาะเป็นเช็คของขวัญที่มิใช่เช็คของบริษัทเองหรือแคชเชียร์เช็ค ซึ่งน่าจะใช้เป็นหลักฐานในการชำระเงินได้ดีกว่า
พยานหลักฐานจึงมีพิรุธ ไร้น้ำหนักน่าเชื่อถือ
การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกรมสรรพากรถือว่าเป็นเงินตามเช็คของขวัญดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมิน ต้องเสียภาษีอากร จึงชอบแล้ว
เมื่อพิจารณาแล้ว ลักษณะการให้และรับเช็คของขวัญทั้งของ พล.ต.อ.ประมาณและประมวลนั้นใกล้เคียงกันอย่างยิ่ง
อดีตผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการของ คตส. บอกว่า จากการตรวจสอบในช่วงปี 2532-2533 ซึ่งเป็นช่วงต่ออายุสัมปทานโรงเหล้า ปรากฏว่ามีเช็คของขวัญของบริษัทเหล้าและบริษัทในเครือปลิวว่อนแจกจ่ายไปยังรัฐมนตรีข้าราชการระดับสูงทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร ประมาณ 2,000 ล้านบาท
อานิสงส์กรณี“เช็คของขวัญ” นำมาสู่บทบัญญัติในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 103 ว่าด้วยห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่นนอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือ กฎ ข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด
ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ออกประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ. 2543 ห้ามรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ อื่นใดจากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ญาติมีราคาหรือมูลค่าในการรับแต่ละบุคคล แต่ละโอกาสไม่เกิน 3,000 บาท
หากฝ่าฝืนให้ถือว่าเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย (มาตรา 103/1)
นี่คือคุณูปการโดยอ้อม ผู้ปิดทองหลังพระ?
-----------
(อ่านประกอบ :บ.เสี่ยเจริญหวนคู่สัญญารัฐ ขายแอลกอฮอล์ให้องค์การสุรากว่า 200 ล้าน http://www.isranews.org/site_content/329-investigative-06/20568-บ-เสี่ยเจริญหวนคู่สัญญารัฐ-ขายแอลกอฮอล์ให้องค์การสุรากว่า-200-ล้าน.html)
…
หมายเหตุ:บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิใช่ความเห็นของสำนักงาน ป.ป.ช.