ชี้นโยบาย’โซนนิ่ง’ ไม่สอดรับสภาพเพาะปลูกจริง-เกษตรกรแตกตื่นหวั่นเสียประโยชน์
สภาเกษตรกรฯชี้นโยบายโซนนิ่งขัดสภาพเพาะปลูกจริงหลายพื้นที่ เผยเกษตรกรแตกตื่นหวั่นถูกตัดสิทธิได้สินเชื่อ-อุดหนุนราคา แนะกษ.เร่งแก้ดึงสภาฯร่วมปรับเขตโซนนิ่งใหม่
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ (สกช.) เปิดเผยถึงผลกระทบของนโยบายการจัดเขตเกษตรเศรษฐกิจ(โซนนิ่ง)ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) ว่า นโยบายดังกล่าวเป็นที่ดี แต่มีช่องโหว่คือการคิดทำนโยบายขาดการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ดังนั้นเมื่อนำนโยบายลงไปปฏิบัติใช้ โดยขาดการสื่อสารกับประชาชนอย่างรัดกุม จึงทำให้เกษตรกรจำนวนมากเกิดความไม่เข้าใจและ นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับเกษตรกร
กรณีตัวอย่าง จ.บึงกาฬ โดยเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันรวมตัวประท้วงที่ศาลากลางจังหวัด เนื่องเกษตรกรได้ลงทุนปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันไปแล้วหลายแสนไร่ แต่ปรากฏว่าอยู่นอกเขตโซนนิ่งยางและปาล์มที่กษ.เพิ่งมากำหนดในภายหลัง โดยเกรงว่าตนจะไม่ได้รับสิทธิและความช่วยเหลือเพื่อจูงใจให้ปลูกพืชตามเขตโซนนิ่งดังที่รัฐบาลประกาศ เช่น ไม่ได้รับสิทธิการให้สินเชื่อจากธ.ก.ส. หรือ รัฐจะไม่ช่วยอุดหนุนราคา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอีกหลายพื้นที่ซึ่งประสบปัญหาเดียวกัน เช่น ที่จ.พังงา ซึ่งไม่อยู่ในเขตโซนนิ่งปลูกข้าว แต่แท้จริงแล้วมีชาวนาปลูกข้าวอยู่หลายพันไร่
ต่อปัญหาผลกระทบอันเกิดจากนโยบายโซนนิ่งเกษตรดังกล่าว สภาเกษตรกรฯได้ทำบันทึกแจ้งไปยังนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ (รมว.กษ.)แล้ว โดยได้เสนอให้สมาชิกสภาเกษตรกรฯซึ่งมีตัวแทนอยู่ทั้งในระดับจังหวัดและหมู่บ้านลงสำรวจปัญหาการจัดเขตโซนนิ่งในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การปรับเขตโซนนิ่งที่สะท้อนสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินที่แท้จริงของเกษตรกร
“เรื่องนี้น่าเป็นห่วงและต้องทำอย่างละเอียดรอบคอบเพราะมีผลกระทบกับเกษตรกรหลายล้านครอบครัว หากกระทรวงเกษตรฯผลักดันนโยบายไปโดยที่ไม่ฟังเกษตรกร ไม่ทำความเข้าใจกับฐานล่าง จะเกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรงตามมา โดยสภาเกษตรกรฯจะพยายามช่วยกระทรวงเกษตรฯ เพื่อทำให้การใช้นโยบายดีขึ้น ” ประธานสภาเกษตรกรฯกล่าว
นายประพัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภารกิจที่สภาเกษตรกรฯกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือการเร่งซักซ้อมทำความเข้าใจกับสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดในการทำแผนแม่บทด้านการเกษตรของแต่ละจังหวัด เพื่อนำมารวมกันเป็นแผ่นแม่บทด้านการเกษตรของประเทศที่สะท้อนเสียงเกษตรกรขึ้นมาจากล่างสู่บน โดยแผนแม่บทจะล้อตามนโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาลและบางอย่างจะปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยมั่นใจว่าแม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลหรือตัวผู้บริหาร นโยบายดีๆด้านเกษตรที่เกษตรกรยังต้องการจะดำเนินต่อไปได้ โดยอาศัยสภาเกษตรกรฯซึ่งเป็นตัวแทนของเกษตรกรทั้งประเทศในการเรียกร้องผลักดัน ทั้งนี้คาดว่าการจัดทำแผนแม่บททุกจังหวัดจะแล้วเสร็จภายในปี 2557
“การทำแผนแม่บทจะมีการสำรวจความต้องการของเกษตรกรตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน อำเภอ ขึ้นมา เราจะ อาศัยตัวแทนสภาเกษตรกรในการสะท้อนความคิดและปัญหาต่าง ๆ มายังรัฐบาล และต่อจากนี้ไปสภาเกษตรกรฯจะเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการสานต่อนโยบายดีๆต่อภาคเกษตรแม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลหรือตัวผู้บริหารก็ตาม” นายประพัฒน์กล่าว