"ไทม์" ยก ม.เทคโนฯพระจอมเกล้าธนบุรี ติดอันดับ 55 ของโลก-ดีสุดในเอเชีย
อธิการบดี มจธ. ตั้งเป้า เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่มีคุณภาพ สร้างงานวิชาการ-งานวิจัยที่ส่งผลกระทบต่อแวดวงวิชาการ ผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศ เศรษฐกิจและสังคม
การจัดอันดับ 100 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชียของ The Asia University Rankings 2013 Top 100 หรือการจัดอันดับสุดยอดมหาวิทยาลัยแห่งเอเชีย ประจำปี 2012-2013 ซึ่งเป็นการจัดขึ้นครั้งแรกของนิตยสาร Times Higher Education ประเทศอังกฤษ
ในปีนี้ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หรือ King Mongkut’s University of Technology Thonburi เป็นมหาวิทยาลัยของไทยที่ติดอันดับดีที่สุด คืออันดับที่ 55 ตามมาด้วยมหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งติดโผอยู่ในลำดับที่ 61และ 82 ตามลำดับ ทำให้ มจธ. ขึ้นแท่นเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของไทยในขณะนี้
สำหรับมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับ 1-5 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชียได้แก่ อันดับที่ 1 University of Tokyo ประเทศญี่ปุ่น อันดับที่ 2 National University of Singapore ประเทศสิงคโปร์ อันดับที่ 3 The University of Hong Kong ประเทศฮ่องกง อันดับที่ 4 Peking University ประเทศจีน และอันดับที่ 5 Pohang University of Science and Technology ประเทศเกาหลีใต้
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวถึงผลการจัดอันดับดังกล่าว ถือเป็นการยืนยันความถูกต้องและสร้างความน่าเชื่อถือแก่ มจธ.อีกครั้งว่า เป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในประเทศ เนื่องจากในช่วงปลายปี 2555 ที่ผ่านมา Times Higher Education World University Rankings ก็เพิ่งจัดอันดับให้ มจธ.ติดโผเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกในกลุ่มอันดับที่ 351- 400 และในครั้งนี้ มจธ. อยู่ในอันดับที่ 55 จาก100 อันดับ จากการประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชีย Times Higher Education Asia University Rankings ปี 2012-2013 ซึ่งรวมถึงประเทศตุรกี และประเทศในตะวันออกกลาง ก็สร้างความยินดีและความภาคภูมิใจอีกครั้งแก่บุคลากรของ มจธ. ที่ทำงานด้วยความทุ่มเทมาตลอด
"เป้าหมายของ มจธ. ไม่ได้มีวัตถุประสงค์การดำเนินงานเพื่อให้ได้มาซึ่งการจัดอันดับที่ดี แต่สิ่งที่ มจธ.เน้นและมีนโยบายอย่างชัดเจนนั่นคือการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่มีคุณภาพ แม้ว่าเราจะเป็นมหาวิทยาลัยขนาดกลาง แต่เมื่อเปรียบเทียบจำนวนบุคลากรที่เรามี จะเห็นว่าเรามีความสามารถในการแข่งขันได้กับมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ ทั้งนี้ เป้าหมายงานสอนและงานวิจัยงานวิชาการของ มจธ.ไม่ได้มีขีดจำกัดอยู่แค่เพียงในระดับเอเชีย หรืออาเซียนเท่านั้น แต่เราต้องการเป็นมหาวิทยาลัยที่มีมาตรฐานระดับสากล ซึ่งที่ผ่านมา มีนโยบายในการพัฒนาบัณฑิตให้พร้อมใช้ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า เน้นการเรียนรู้ของนักศึกษา เน้นความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เน้นความเข้าใจเรื่องวิศวกรรมศาสตร์ที่ต่างไปจากเดิม คือ ต้องไม่สร้างงานที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ในทางกลับกันหากแต่ต้องช่วยกันสร้างสังคมไทยให้เข้มแข็งขึ้นด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" อธิการบดี มจธ.กล่าว
ทั้งนี้เกณฑ์ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชีย ของ Times Higher Education Asia University Rankings ใช้เกณฑ์เดียวกันกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก คือ การวัดจากคุณภาพการสอน 30 เปอร์เซ็นต์ คุณภาพงานวิจัย 30 เปอร์เซ็นต์ งานวิจัยที่ถูกนำไปอ้างอิง 30 เปอร์เซ็นต์ International Outlook หรือ ความเป็นสากล 7.5 เปอร์เซ็นต์ และรายได้จากภาคอุตสาหกรรม 2.5 เปอร์เซ็นต์ โดยถือเป็นปีแรกที่ มจธ.ได้รับเชิญจาก Times Higher Education ให้เข้าร่วมในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกและเอเชีย และสามารถคว้าอันดับที่ดีที่สุดในกลุ่มของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของไทย