เดินหน้าแก้กม.เช่าที่ดินเกษตร จูงใจเจ้าของที่ปล่อยเช่าช่วยชาวนาไร้ที่ทำกิน
กษ.เดินหน้าแก้กม.เช่าที่ดินเกษตร ชี้เงื่อนไขยุ่งทำเจ้าของที่เมินให้เช่า-ชาวนาขาดที่ทำกิน-ดึงค่าเช่าสูงปีละ 3 พัน/ไร่ ดันท้องถิ่นร่วมเป็นคชก.ตำบล กำหนดอัตราเช่าเป็นธรรม
เร็วๆนี้ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ปลัด กษ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะทำงานปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ. เช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อปี 2554 ให้กษ.และกระทรวงมหาดไทย (มท.) หาทางแก้ปัญหาการเช่าที่นาอันเนื่องมาจากผลกระทบของโครงการประกันรายได้ผลผลิตของรัฐบาลชุดก่อนและโครงการรับจำนำข้าวที่ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิต ทำให้เจ้าของที่เรียกคืนที่ดินหรือขึ้นค่าเช่าจากเกษตรกรเพิ่ม
ประกอบกับหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.เช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ที่ใช้มานานได้สร้างความยุ่งยากให้เจ้าของที่ดินจนไม่ยอมให้เช่า เกิดปัญหาที่ดินว่างเปล่าไม่ถูกใช้ประโยชน์ เป็นเหตุให้ชาวนาเข้าไม่ถึงที่ทำกิน คณะกรรมการฯจึงเห็นควรให้ศึกษาเพิ่มเติม โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราชตั้งคณะทำงานศึกษาเป็นเวลากว่า 1 ปี โดยได้ข้อค้นพบอุปสรรคของพ.ร.บ.เช่าที่ดินฯซึ่งไม่จูงใจให้เจ้าของที่ดินยินยอมให้เกษตรกรเช่าที่ทำกิน ดังต่อไปนี้
ประการแรก กฎหมายระบุให้ต้องมีระยะเวลาเช่าที่นาถึง 6 ปีแม้จะทำสัญญาหรือไม่ทำก็ตาม ประการที่สองการกำหนดเงื่อนไขให้เจ้าของที่ต้องการบอกเลิกสัญญาเช่าต้องนำที่ดินมาใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรเอง ซึ่งยากต่อการนำที่ดินไปขายต่อ และอาจต้องเสียค่าชดเชยให้แก่เกษตรกรผู้เช่าด้วย ประการที่สาม การกำหนดให้การขายที่ดินต้องให้สิทธิ์เกษตรกรผู้เช่าได้ซื้อก่อน ซึ่งหลายกรณีผู้เช่าไม่มีเงิน ทำให้การซื้อขายต้องถ่วงเวลาออกไป นอกจากนี้ยังมีปัญหาอัตราค่าเช่าซึ่งคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(คชก.)กำหนดซึ่งยังไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน โดยผู้ศึกษาเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวแทนที่จะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรผู้เช่าที่ดินกลับทำให้เจ้าของที่ดินตัดสินใจไม่ให้เช่า
“สุดท้ายเมื่อผู้เช่ามีจำนวนมาก และเจ้าของที่มีจำนวนน้อยก็ต่อรองกันด้วยการเสนอเงื่อนไขอื่นที่ไม่ใช่กฎหมาย เป็นปัญหาใหญ่ เดิมค่าเช่าที่ตกปีละ 600 – 1,000 บาทต่อไร่ ปัจจุบันมีการเสนอราคาเช่าแข่งขันกัน หลายแห่งเสนอราคาเช่าคิดเป็นรอบการปลูกพืช เช่น ปีหนึ่งปลูกพืชได้ 3 รอบ ก็เสียค่าเช่า 3 ครั้ง 3,000 บาทต่อไร่ต่อปี ทำให้ต้นทุนการผลิตยิ่งสูงขึ้น และอาจกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของราคาเช่าที่นาที่จะเป็นปัญหาต่อเกษตรกรในระยะยาว” นายชวลิต กล่าว
ปลัดกษ. กล่าวต่อว่า โดยคณะผู้วิจัยได้เสนอทางแก้ไขกฎหมายดังนี้ ประเด็นระยะเวลาเช่าที่นา เสนอให้เพิ่มทางเลือกแก่ผู้ให้เช่าและผู้เช่า โดยจะยึดตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด 6 ปี หรือ อาจตกลงระยะเวลาเช่ากันเอง แต่ต้องไม่น้อยกว่าระยะเวลาที่กรรมการที่จะตั้งในภายหลังกำหนด สำหรับอัตราค่าเช่าที่นาควรกำหนดให้ตกลงกันได้ในเงื่อนไขที่เป็นธรรมมากขึ้น และควรกำหนดให้คชก.ระดับตำบล(ซึ่งกำหนดอัตราค่าเช่าที่ดินแต่ละพื้นที่)มีตัวแทนจากส่วนท้องถิ่นเช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เข้าร่วมด้วย นอกจากนี้ควรบังคับใช้กฎหมายอื่น เช่น พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม กฎหมายภาษี ร่วมอย่างเคร่งครัด
โดยคณะกรรมการฯได้พิจารณาผลการวิจัย และเห็นว่ายังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นการเช่าที่ดินในชนบท ซึ่งหากได้ข้อยุติจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายกระทรวงฯแก้ไขกฎหมายเสนอรัฐมนตรี เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ทั้งนี้กรณีที่มีความกังวลว่านายทุนต่างชาติเข้ามาเช่าที่ดินในประเทศไทยนั้น ในส่วนของภาคเกษตรยังมีจำนวนน้อย เพราะกำไรหรือผลตอบแทนยังไม่จูงใจมาก โดยส่วนใหญ่ต่างชาติจะเช่าที่ดินและทำประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมและพาณิชย์ ซึ่งเป็นภารกิจของกระทรวงมหาดไทยในการตรวจสอบ