เลื่อนคุยบีอาร์เอ็น 29 เม.ย. กับความเปราะบางของกระบวนการสันติภาพใต้
แม้ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ จะยังยืนยันไม่ชัดนักว่านัดหมายพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งที่ 2 กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ ที่อ้างตัวว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น จะเลื่อนออกไปจากวันที่ 29 เม.ย.หรือไม่ แต่ความเป็นไปได้ของการพูดคุยในวันดังกล่าวน่าจะไม่เกิดขึ้นแน่นอนแล้ว
เหตุผลที่ พล.ท.ภราดร นำมาอธิบายถึงความไม่แน่นอนก็คือ มาเลเซียกำลังมีการเลือกตั้งใหญ่ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 13 ของประเทศ
นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา และมีการคาดหมายกันว่าการเลือกตั้งใหม่น่าจะมีขึ้นในราวปลายเดือน เม.ย.หรือต้นเดือน พ.ค.
ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 10 เม.ย.คณะกรรมการการเลือกตั้งของมาเลเซียได้ประกาศวันเลือกตั้งทั่วไป เป็นวันที่ 5 พ.ค.
ในขณะที่ประเทศกำลังมีการเลือกตั้งใหญ่ และอนาคตของนายนาจิบบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีก็กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ความสำคัญกับปัญหาของประเทศอื่นอย่างไทยเพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้มาเลเซียจะรับเป็น "ผู้อำนวยความสะดวก" ในกระบวนการพูดคุยสันติภาพก็ตาม
ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้ข้อมูลว่าได้ส่งหนังสือไปขอเลื่อนการพูดคุยสันติภาพออกไปก่อน เพราะไม่อยากให้กระบวนการนี้ถูกมองว่าจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดบริบทการเมืองมาเลเซีย
ขณะที่ พล.ท.ภราดร บอกว่าได้สัญญาณเลาๆ มาแล้วว่ามาเลเซียไม่พร้อมจัดพูดคุยสันติภาพตามที่กำหนดวันไว้เดิม ขณะนี้กำลังรอสัญญาณอย่างเป็นทางการ
นี่คือความเปราะบางอย่างยิ่งของกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ที่รัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นำไปผูกติดไว้กับมาเลเซีย ทั้งๆ ที่มาเลเซียคือผู้มีส่วนได้เสียอย่างสำคัญกับการดำรงอยู่หรือการคลี่คลายของปัญหา
การที่วันนัดพูดคุยถูกเลื่อนออกไป ย่อมส่งต่อความเชื่อมั่นของกระบวนการสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของประชาชนที่เฝ้ามองอยู่ และน่าจะมีคำถามในใจว่า ในเมื่อรู้ว่าเพื่อนบ้านใกล้เคียงของเรากำลังจะมีการเลือกตั้ง เหตุใดจึงต้องรีบ "เปิดตัว-เปิดหน้า" กระบวนการพูดคุยสันติภาพถึงขั้นลงนามในข้อตกลงกันอย่างเอิกเกริกครึกโครมเมื่อวันที่ 28 ก.พ. หรือเพียง 1 เดือนก่อนยุบสภา และ 2 เดือนเศษก่อนเลือกตั้ง
เพราะใครๆ ก็รู้ว่าการเลือกตั้งไม่ว่าจะที่ใดๆ ในโลก ล้วนไม่มีความแน่นอน ทำไมจึงไม่รอให้มาเลเซียเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยไปก่อน ได้นายกรัฐมนตรี ได้คณะรัฐมนตรีใหม่พร้อม แล้วค่อยเริ่มกระบวนการที่รู้ๆ กันอยู่ว่าต้องใช้เวลายาวนาน และความต่อเนื่องคือปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ
ที่สำคัญการเลือกตั้งหนนี้มีการวิเคราะห์กันอย่างกว้างขวางว่า อาจจะเกิดการพลิกล็อคอย่างมโหฬารขึ้นก็ได้ เพราะฝ่ายพรรคอัมโนที่ครองเสียงข้างมากและเป็นรัฐบาลมาเนิ่นนาน อาจจะต้องลิ้มรสชาติของความพ่ายแพ้
สุทธิชัย หยุ่น นักหนังสือพิมพ์อาวุโส เขียนไว้ในคอลัมน์ "กาแฟดำ" ของเขาในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่า อาจจะเกิดสึนามิการเมืองที่มาเลเซีย
"นับตั้งแต่มาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ.1957 หรือ 56 ปีก่อน ไม่มีการเลือกตั้งครั้งใดจะมีความไม่แน่นอนเท่าครั้งนี้ แปลว่ามีความเป็นไปได้ว่าพรรค UNMO ที่ครองอำนาจเกือบจะเบ็ดเสร็จมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองนั้น อาจจะหลุดจากแกนอำนาจให้กับฝ่ายค้านที่ทำท่าว่าจะมีแรงสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้น" (กาแฟดำ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 8 เม.ย. http://bit.ly/ZM1olU)
หากมาเลเซียเกิดสึนามิการเมืองจริง กระบวนการสันติภาพที่ไทยให้น้ำหนักมาเลเซียอย่างมากย่อมเสี่ยงต่อภาวะ "ไร้อนาคต" เพราะที่ผ่านมาไทยพึ่งพามาเลเซียทั้งขั้นตอนอำนวยความสะดวกในการพูดคุย การประสานงานต่างๆ และกำหนดตัวผู้เข้าร่วมวงพูดคุยในฝั่งผู้เห็นต่างจากรัฐ (ที่อ้างตัวว่าเป็นขบวนการบีอาร์เอ็น) ด้วย
ทว่ามีหลักฐานชิ้นสำคัญ คือ คำสั่งแต่งตั้ง ดาโต๊ะ สรี อาหมัด ซัมซามีน ที่ทางการไทยระบุว่าเป็นอดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองของมาเลเซีย เป็นผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มนายฮัสซัน ซึ่งมาเลเซียเรียกชื่อเป็น "คณะทำงานร่วม" ว่า JOINT WORKING GROUP SOUTHERN THAI PEACE PROCESS; JWG-STPP ปรากฏว่าออกโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก เท่านั้น หาได้เป็นมติคณะรัฐมนตรีไม่ (ดูคำสั่งได้ใน http://www.pmo.gov.my/?menu=news&news_id=11153&page=1731&news_cat=4)
ฉะนั้นหากนายกฯคนใหม่ไม่ใช่นายนาจิบ กระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ทำมาก็มีอันต้องสูญเปล่าใช่หรือไม่ (โดยที่มีประชาชนและเจ้าหน้าที่ต้องสังเวยชีวิตและได้รับบาดเจ็บไปจำนวนไม่น้อยระหว่างรอยต่อการพูดคุยสันติภาพตามที่คนในรัฐบาลชอบอ้าง) เหมือนกับการตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ในบ้านเราโดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดหนึ่ง เมื่อถึงคราวเปลี่ยนรัฐบาล คณะกรรมการเหล่านั้นมักสิ้นสภาพไปโดยปริยาย หากจะทำงานต่อก็ต้องรอสัญญาณจากรัฐบาลชุดใหม่หรือนายกรัฐมนตรีคนใหม่
โอกาสที่รัฐบาลไทยต้องนับหนึ่งกระบวนการสันติภาพอีกครั้งจึงมีไม่น้อยทีเดียว!
----------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต http://hornbillunleashed.wordpress.com/2012/03/page/2/