หาญณรงค์ ชี้แผนสร้าง 3 อ่าง ลุ่มน้ำยม มูลนิธิอุทกพัฒน์-สสนก.แถลงฝ่ายเดียว
'หาญณรงค์' เผยชาวสะเอียบ-แม่เต้น ไม่รู้เห็นแนวคิดสร้างอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง แก้ปัญหาลุ่มน้ำยม ชี้ยังไม่มีรายละเอียด ไม่ได้ศึกษาอีไอเอ ยันหากกระทบป่า-อุทยานชาวบ้านไม่เห็นด้วยแน่
ภายหลังจาก รายการข่าว 3 มิติ นำเสนอข่าวเมื่อคืนวันที่ 8 เมษายน ว่า เครือข่ายลุ่มน้ำยม 8 จังหวัด ได้เปิดเวทีหาแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในลุ่มน้ำยม ที่จังหวัดนครสวรรค์ ครั้งที่ 8 โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมป์ เป็นประธานรับฟังความเห็นจากภาคประชาชน ในพื้นที่ ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) สรุปแนวทางพัฒนาลุ่มน้ำยมเตรียมผลักดันโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง ซึ่งเป็นคนละจุดกับการสร้างแก่งเสือเต้น และไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและผืนป่าสัก และพร้อมนำข้อสรุปดังกล่าวเสนอนายกรัฐมนตรี
โดยสรุปแนวทางที่จะเสนอโครงการอ่างเก็บน้ำยมบน อ่างเก็บน้ำยมล่าง อ่างเก็บน้ำงาว และพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก ในลุ่มน้ำสาขา อีก 17 โครงการ
ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า ตัวแทนเครือข่ายลุ่มน้ำยม ระบุว่าจุดที่เห็นร่วมกันถึงความเหมาะสมในการสร้างอ่างเก็บน้ำยมล่าง จะอยู่บริเวณสวนป่าแม่แฮด บ้านเตาปูน อำเภอสอง จังหวัดแพร่ จุดสร้างอ่างเก็บน้ำยมบนจะอยู่บริเวณบ้านแม่เต้น ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ซึ่งจะไม่เกิดผลกระทบกับชาวบ้าน หรือชุมชน ให้ต้องย้ายออกนอกพื้นที่ และเป็นคนละจุดกับกรมชลประทานเสนอมา และเป็นแผนโครงการที่มาจากความคิดริเริ่มของชาวบ้านในพื้นที่อย่างแท้จริง
จากกรณีดังกล่าว นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ให้ความเห็นในเบื้องต้นผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวที่ใช้ชื่อว่า Hannarong Yaowalers ว่า
"หลังจากดูข่าวสามมิติ เรื่องเขื่อนสามเขื่อน ที่สนนก.เสนอกับมูลนิธิฯหนึ่ง พบว่าข้อมูลบิดเบือนข้อเท็จจริงคือ การทำแผนคนสะเอียบไม่ได้มีส่วนร่วมเลย พูดเอาเองทั้งนั้น คนพูดเคยเดินดูภาคพื้นดิน หรือศึกษารายละเอียดแบบการศึกษาผลกระทบหรือยัง และการสร้างเขื่อนยมบน ยมล่างที่เสนอ ยังขาดรายละเอียด ถ้าปิดบริเวณป่าแม่แฮด จะทำให้การเดินทางไปอุทยานทางเดิมจะถูกปิดกั้น ยากต่อการปราบปรามการตัดไม้เป็นอย่างยิ่ง"
นายหาญณรงค์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราเพิ่มเติมด้วยว่า โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ 3 แห่งที่นำเสนอดังกล่าวนั้น มาจากแนวคิดของมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมป์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร พยายามที่จะพยายามเข้าไปเคลมการจัดการลุ่มน้ำยม เมื่อช่วงกลางปีที่แล้วมีความสนใจเขื่อนยมบน – ยมล่าง ก็พยายามให้ชาวบ้านยินยอม แต่ชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้านในพื้นที่เห็นว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่ทำลายพื้นที่ป่าจึงไม่ยินยอม
"ส่วนโครงการอ่างเก็บน้ำ 3 แห่งล่าสุดนี้ ที่ว่ารับฟังความคิดเห็นชาวบ้านในพื้นที่ ก็ยังไม่มีความละเอียดถึงขั้นศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม คล้ายกับว่าเป็นการตั้งเป้าว่าถ้าจะทำเขื่อนยมบน - ยมล่างมีใครเห็นด้วยบ้าง ซึ่งพื้นที่ที่สำรวจความคิดเห็นล้วนเป็นนอกพื้นที่ที่เป็นจุดสร้างเขื่อน ชาวแม่เต้น และชาวสะเอียบไม่ได้ร่วมแสดงความเห็นหรือตัดสินใจ ฉะนั้น การที่ออกมาพูดว่าิการเปิดเวทีครั้งนี้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมมากที่สุดคงไม่ใช่" นายหาญณรงค์ กล่าว และว่า แม้จะเป็นวิธีการที่ดีที่รับฟังความเห็นชาวบ้าน แต่ก็ยังไม่ครอบคลุม ยังไม่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และข้อมูลที่นำมาแถลงก็เป็นการคำนวณจากภาพถ่ายทางอากาศและแผนที่ทางคณิตศาสตร์ ยังไม่ได้ลงลึกในรายละเอียด แต่ด่วนตัดสินใจแล้วว่าชาวบ้านมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือก หากเป็นอย่างนี้ผมคิดว่าแผนดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์
"ชาวบ้านยืนยันว่า ไม่ว่าจะสร้างยมบนหรือยมล่าง แต่หากกระทบต่อพื้นที่ป่าหรืออุทยานแห่งชาติก็ไม่เห็นด้วย เนื่องจากต้องเสียพื้นที่ 1 ใน 3 ของพื้นที่ที่ใช้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น หรือประมาณ 20,000 กว่าไร่ ทุกวันนี้แม้แต่โครงการขนาดเล็กที่มีประโยชน์ชาวบ้านก็ไม่ยอมรับแล้ว เพราะกังวลเกี่ยวกับการดำเนินการ วิธีทำงานร่วมกับชุมชนยังเป็นปัญหาเสมอ เรื่องพัฒนาระบบฝายที่ชาวบ้านสนับสนุนไม่มีใครสนใจศึกษา การแถลงข่าวดังกล่าวนี้จึงเหมือนเป็นการแถลงฝ่ายเดียวของผู้ที่ต้องการผลักดันโครงการ คิดอยู่บนข้อมูลตัวเลข แผนที่เชิงคณิตศาสตร์ ไม่ใช่ฐานความคิดแบบมีส่วนร่วม และใช้ภูมิปัญญา ซึ่งประเด็นเช่นนี้จะสร้างความเข้าใจผิดในพื้นที่และทำให้ชาวบ้านขัดแย้งกันเอง"