‘วสันต์’ เตือนผู้ชนะเลือกตั้ง-เสียงข้างมาก ไม่ได้มีใบอนุญาตยึดสัมปทานปท.
วันที่ 5 เมษายน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานในโอกาสครบรอบ 106 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ณ ห้องประชุมสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีการปาฐกถา เรื่อง "ความปรองดอง ความยุติธรรม และประชาธิปไตย" โดย นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
นายวสันต์ เริ่มต้นกล่าวถึงเรื่องประชาธิปไตยว่า เป็นการปกครองโดยประชาชน เพื่อประชาชนตามที่เคยร่ำเรียนกันมาในสมัยโบราณ และประชาธิปไตย คือการเลือกตั้ง ไม่มีการเลือกตั้งก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย เพราะอย่างน้อยๆ ประชาชนได้มีส่วนในการตัดสินใจว่าจะเอาใครไปเป็นผู้แทนในการออกกฎหมายเพื่อดูแลประเทศ
แต่แค่นั้น เป็นความเข้าใจถึงประชาธิปไตยเพียงพอหรือไม่
ที่ผ่านมานักการเมืองชอบพูดกันมากว่า "คืนอำนาจให้ประชาชน" หากพูดอย่างนั้นแปลว่า...
"แกเอาอำนาจฉันไปใช้ ตั้งนาน มาคืนอำนาจให้ฉันตัดสินใจแป็ปเดียว แต่ความจริงแล้วประชาชนเขามอบหมายให้ไปทำหน้าที่ ไม่ต้องเอามาคืนเขา เพราะอำนาจเป็นของเขาอยู่แล้ว เพียงแต่รับในกติกากันว่าผู้ที่ได้รับเสียงข้างมากเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลประเทศ และดูแลภายใต้กฎกติกา ไม่ใช่ดูแลตามอำเภอใจ"
บริหารประเทศต่างจากบริหารธุรกิจ
การชนะเลือกตั้ง ถือว่าได้รับมอบหมายจากประชาชนส่วนใหญ่ให้ดูแลประเทศ ไม่ใช่ได้รับใบอนุญาตให้ "ยึดสัมปทานของประเทศ" เพราะการบริหารประเทศไม่ใช่การบริหารธุรกิจเอกชน ที่หากบริษัทนั้นจำเป็นต้องแก้ไขข้อบังคับ ต้องแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิ หรือจำเป็นต้องแก้ไขวัตถุประสงค์ให้ดำเนินกิจการอย่างที่ต้องการได้ไม่ยาก แค่ประชุมบริษัท มีมติธรรมดา หรือมติพิเศษ ให้ทนายความจัดการให้และทำรายงานการประชุมลงวันที่ แล้วนำเอกสารเวียนให้เซ็นชื่อวันเดียวจบ คนประชุมแทบไม่เคยพบหน้ากันเลย
แต่กระบวนการบริหารประเทศในระบอบประชาธิปไตย เมื่อมีนโยบายฝ่ายบริหารต้องนำเข้าเป็นร่างกฎหมายต่อสภาเป็นอำนาจนิติบัญญัติ ที่ไม่สามารถทำวันเดียวจบ อีกทั้ง ต้องนำมาเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบว่า กฎหมายนี้จะมีผลดีผลเสียอย่างไรบ้าง
"ผมได้ใช้เวลาเมื่อปีที่แล้วทั้งปี เมื่อว่างจากงานที่มีแรงกดดันสูงทั้งหลาย ทำโครงการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนในหลายพื้นที่ แม้กระทั่งดินแดนที่ดูเหมือนจะเป็นอันตราย คือ จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดมุกดาหาร แต่มีคนที่มาฟังเกินเป้าหมายที่คาดคิดไว้ แม้แรกเริ่มจะมีแววตาไม่ค่อยเป็นมิตร แต่หลังจากได้พูดคุย ตอบคำถามกัน หน้าตาก็ยิ้มแย้มแจ่มใสขึ้น แปลว่า ความเป็นมิตรเกิดจากการได้เสวนา ได้สัมผัส พูดจา ซักถามกัน"
ผมได้ตั้งคำถามว่า... เสียงข้างมากทำผิดกฎหมายได้หรือไม่ คำตอบแรกคือ ได้
ผมถามต่อว่า ถ้าชนะและได้เสียงข้างมากแล้ว ฆ่าคน ผิดไหม ผู้ฟังเริ่มงง และตอบว่า น่าจะผิด
ผมจึงถามต่ออีกว่า แล้วถ้าชนะได้เสียงข้างมาก แล้วออกกฎหมายเก็บภาษีเฉพาะเสียงข้างน้อย โดยที่ตนไม่ต้องเสียภาษีได้ไหม ผู้ฟังตอบว่า งั้นไม่ได้แน่นอน!!
หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์เยอรมัน อย่างฮิตเลอร์ได้เป็นผู้นำประเทศเยอรมัน ไม่ได้มาจากการยึดอำนาจ แต่มาจากการเลือกตั้ง แล้วสมัครพรรคพวกมาได้เสียงข้างมากในสภา จากนั้นก็แก้ไขกฎกติกา แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง ในที่สุด แล้วผู้นำและเสียงข้างมากเหล่านั้น ก็นำพาประเทศเยอรมันไปสู่หายนะ
นั่นคือตัวอย่างของผู้นำที่มาจากเสียงข้างมาก
เยอรมันมีบทเรียนราคาสูง จึงมีศาลรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจมาก ไม่ต้องมีใครยื่นคำร้อง ไม่ต้องเถียงว่ารับคำร้องได้หรือไม่ แต่ถ้าเห็นว่า ฝ่ายบริหารกำลังจะละเมิดรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันสามารถตั้งเรื่องเอง แล้วเรียกฝ่ายบริหารมาไต่สวนได้ และถ้าเห็นไม่ชอบมาพากลก็ออกคำสั่งห้ามได้ อีกทั้ง มีบทบัญญัติว่าด้วยการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ให้สิทธิแก้ประชาชนในการที่จะช่วยดูแลเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญให้อยู่ในร่องในรอย ซึ่งรัฐธรรมนูญของไทยลอกมา ในมาตรา 63 ในปี 2540 แล้วพัฒนามาเป็นมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เป็นปัญหาไม่ถูกใจในขณะนี้
"ของเยอรมันเขาให้เป็นสิทธิของประชาชนที่จะดูแลกฎหมายรัฐธรรมนูญของเขา เราไปเอาของเขามาแต่เอามาไม่หมด"
ตอบเรื่องมาตรา 68
ผมอยากตอบคำถามที่เป็นข้อข้องใจที่ว่า ช่วงที่มีการยื่นในมาตรา 68 เมื่อวันอังคาร ทำไมจึงต้องรีบประชุมในวันต่อมา เนื่องจากคำร้องนี้มีคำขอให้ "คุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉิน" เข้ามาด้วย เมื่อมีคำขอในกรณีฉุกเฉินก็ต้องรีบทำ ก่อนจะพิจารณาถึงคำร้อง คำขอในคดีฉุกเฉิน ต้องพิจารณาก่อนว่าจะรับคำร้องไว้หรือไม่ ถ้าไม่รับ เหตุฉุกเฉินก็ตกไป ถ้ารับก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าจะอนุญาต จะคุ้มครองตามเหตุฉุกเฉินที่เขาขอมาหรือไม่
แน่นอนว่าความถูกต้อง กับความถูกใจอาจจะเดินกันคนละทาง ผมเองก็เป็นเสียงข้างน้อย เพราะผมเห็นควรที่จะไม่รับคำร้องในคดีนี้ แต่ในเบื้องต้นเมื่ออยู่ในคณะเดียวกัน ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามความเห็นของเสียงข้างมาก ไม่ว่าศาลไหน เราก็เป็นประชาธิปไตย ให้ความเคารพในเสียงข้างมาก และฟังความเห็นของเสียงข้างน้อย
ฉะนั้น คำวิจารณ์ที่ว่า โอ้ย! ลุกลี้ลุกลนรีบสั่งเหลือเกิน... น่าจะเป็นคำวิจารณ์ของคนที่ไม่รู้ หรือรู้ไม่จริง แต่สู่รู้ หรืออวดรู้มากกว่า
ทั้งนี้ ในทางกฎหมาย ความเห็นไม่ตรงกันเขาไม่ว่ากัน แต่ข้อเท็จจริงต้องตรงกัน บางคนออกมาอ้างว่าจบปริญญาเอกทางกฎหมาย แต่ที่พูดออกมาแปลว่าอะไรก็ไม่รู้
ปชต.ไม่ใช่เอาเสียงข้างมากมาเป็นเกณฑ์
"ประชาธิปไตย" ต้องยอมรับในเสียงข้างมาก ให้เกียรติเสียงข้างน้อย ฟังเหตุผล บางครั้งจำเป็นต้องเอาเหตุผลของเสียงข้างน้อยมาบรรจุไว้ในบางประเด็น ฉะนั้น ประชาธิปไตยไม่ใช่เอาเสียงข้างมากมาเป็นเกณฑ์ ต้องดูด้วยว่าเป็นไปตามกฎ กติกา มารยาทเพียงใด ผู้คุมกฎ กติกา จึงไม่ใช่คู่กรณี แต่ต้องมาจากองค์กรอื่น เพราะถ้าทำเอง ตัดสินเองท่านก็ถูกอย่างเดียว ไม่มีอะไรผิดพลาด
ส่วนผู้ทำหน้าที่ตัดสิน คือคนที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียอะไร ซึ่งองค์กรที่ทำหน้าที่ตัดสินคือองค์กรตุลาการ ที่ขณะนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า องค์กรตุลาการไม่ได้มีจุดยึดโยงกับประชาชน ทั้งๆ ที่เป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการอันเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย
ถามตรงๆ ว่า.. ให้เลือกตั้งผู้พิพากษาเลยไหม ? ก็ไม่ได้ เพราะหัวคะแนนจะชนะคดีหมดทุกเรื่อง ตีกบาลใครก็ไม่ติดคุก และเห็นว่า มีไอเดียให้ประธานศาลฎีกา ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภา อย่างนั้นหากมีการแต่งตั้งประธานศาลฎีกาไปให้ไม่ถูกใจนักการเมืองก็ไม่เห็นชอบ ฉะนั้น ใครอยากเป็นประธานศาลฎีกาก็โปรดทำตัวเป็นสมุนนักการเมือง แล้วจะได้ดี
ถามว่า ต้องการอย่างนั้นหรือไม่ ?
เมื่อจะเป็นประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายเล่มเดียวกัน จะใช้สิทธิ ใช้เสรีภาพต้องคำนึงด้วยว่าไม่ได้ไปละเมิดสิทธิของคนอื่น ไม่ไปละเมิด สร้างความเสียหายแก่คนอื่น ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม โดยอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 63
แต่แทนที่ฝ่ายการเมืองจะออกกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมให้เป็นกิจจะลักษณะ ก็ปล่อยให้คาราคาซังอยู่อย่างนั้นแล้วอ้างสิทธิ แต่ไปละเมิดผู้อื่นให้ต้องปิดร้านค้า ปิดหนทางจราจร เกิดความเดือดร้อน
"อ้างว่าทุกคนต้องเคารพของผม ผมเป็นนักประชาธิปไตย แต่คุณไม่เคยเคารพสิทธิของชาวบ้านชาวเมืองเขาเลย การให้ความเคารพซึ่งกันและกันในเมืองไทยมีน้อยมาก ดูจากการปฏิบัติตามกฎจราจร ทำตามใจคือไทยแท้ นี่คือนิสัยของคนไทยที่ชื่นชมกับการทำผิดแล้วไม่ถูกจับ ไม่ถูกลงโทษ ความรู้สึกเช่นนี้ แก้ไขยากมาก ยิ่งปฏิรูปการศึกษา จริยธรรมของนักเรียนยิ่งลดฮวบลง
"ไม่มีวันนี้ เพราะพี่ให้"
ผมอยากจะพูดถึง "ระบบของความยุติธรรม" ว่า มันเกี่ยวโยงกันในระบบอุปถัมภ์หรือไม่?
องค์กรตุลาการ ยึดโยงกับประชาชนตามกฎหมายที่ผู้แทนราษฎรวางโครงสร้างให้ศาล ผู้พิพากษา และตุลาการจึงอยู่อย่างนี้ตามกฎหมาย เช่น ระเบียบราชการฝ่ายศาลยุติธรรมก็เป็นไปตามกฎหมายที่สภาเป็นผู้ออก สำหรับสังคมไทยในระบบอุปถัมภ์มีทั้งข้อดีข้อเสีย การรู้ถึงและตอบแทนบุญคุณคนเป็นเรื่องดี แต่ถ้าตอบแทนกันหมด ใครแต่งตั้งให้ตำแหน่งก็ตอบตอบแทนคนนั้น สิ่งนี้ต้องแยกกันให้ออก
ผมเคยโต้เถียงกับอดีตผู้บังคับบัญชา ที่เป็นที่เคารพนับถือถึงกรณีนี้ โดยผมเห็นว่า การที่ท่านสนับสนุนผู้ใต้บังคับบัญชาถือเป็นหน้าที่ที่ท่านต้องสนับสนุนผู้ที่มีความรู้ความสามารถให้เข้าสู่ตำแหน่งหน้าที่ ไม่ได้ก่อให้เกิดบุญคุณ และผมก็ไม่ถือเป็นบุญคุณ แต่ท่านมีบุญคุณกับผมข้อเดียว คือ ให้ผมได้ทำงาน และมีโอกาสแสดงความรู้ความสามารถในตำแหน่งหน้าที่เหล่านี้ได้ ซึ่งผมไม่เคยลืม
ฉะนั้น จึง "ไม่มีวันนี้ เพราะพี่ให้" เพราะถ้ามีวันนี้เพราะพี่ให้ แปลว่า ถ้าพี่ไม่ให้ คุณก็ไม่ได้เป็น คุณไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะได้รับตำแหน่งนี้ ถ้าพี่ไม่ให้!!
ระบบอุปถัมภ์ที่มีมากจนสามารถไว้ใจได้หรือ ที่จะให้องค์กรกลางที่ทำหน้าที่ตัดสิน มาจากระบบที่เกี่ยวข้องกับการเมือง การเลือกตั้ง
"ผมเองก็มาจากกรรมการสรรหา ได้รับการเห็นชอบจากวุฒิสภา ก่อนจะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีคนโต้แย้งว่า วุฒิสภาก็มีสรรหา 74 คน มีเลือกตั้ง 76 คน ผมยังจำได้ว่า วันที่ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบให้ผมรับหน้าที่ มีองค์ประชุม 132 คน ผมได้คะแนนเสียงเห็นชอบ 106 คะแนน ถ้าหักลบจาก ส.ว.สรรหา 74 คน ก็เหลือ 32 คะแนน จากองค์ประชุมที่หักลบแล้วเหลือ 58 คน ก็นับว่าผมได้คะแนนเกินครึ่ง แล้วจะมาว่าอะไรผม"
สำหรับศาลปกครองสูงสุด ต้องเป็นอิสระจากการแทรกแซงของอำนาจภายนอก แต่ตรวจสอบกันเองภายในองค์อำนาจนั้น ส่วนองค์กรภายนอกมีอำนาจตรวจสอบ แต่ไม่มีอำนาจแทรกแซง จึงมีเสียงครหา นินทาอยู่เสมอว่า ตัดสินตามใบสั่ง!!
"ชีวิตผมเคยได้รับใบสั่งแค่จากจราจร เจอใบสั่งทีไรเสียเงินทุกที ใบสั่งอื่นไม่เคยเห็น ไม่เคยมีใครก้าวเข้ามาสั่ง เราจึงอยู่กันอย่างนี้ได้ ในระบบของตุลาการจะไม่ใส่ใจ ไม่รับรู้กับเสียงที่ลอยไปลอยมาที่ว่าอย่างโน้นอย่างนี้ ต้องนิ่งและหนักแน่น"
แจงคำว่า 2 มาตรฐาน
เมื่อเป็นองค์กรตุลาการ เป็นศาล สิ่งสำคัญต้องมีหลักปฏิบัติ ต้องเคารพเสียงข้างมาก ต้องยึดถือแนวปฏิบัติ เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะถูกกล่าวหาว่า 2 มาตรฐาน ซึ่งเป็นคำที่พูดกันเกร่อมาก ทั้งที่คนพูดยังไม่เข้าใจว่าหมายความว่าอย่างไร
ซึ่งหากตีความอย่างนั้น ศาลอาญาก็ 2 มาตรฐาน เพราะมีคดีฆ่าคนเต็มไปหมด ที่บางเรื่องก็ยกฟ้อง บางเรื่องก็ลงโทษ บางเรื่องประหารชีวิต บางเรื่องจำคุกตลอดชีวิต บางเรื่องจำคุก 15 ปี เพราะแต่ละเรื่องข้อเท็จจริงในแต่ละคดีไม่เหมือนกัน
คำว่า 2 มาตรฐาน จึงหมายความว่า เรื่องเหมือนกันทุกอย่าง แต่ปฏิบัติหรือตัดสินไม่ตรงกัน
วันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องพ้นสภาพ ส.ส. ของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ คนเสื้อแดงก็ไปล้อมศาลว่า 2 มาตรฐาน ทั้งที่ตั้งแต่เปิดศาลรัฐธรรมนูญมาเพิ่งเคยตัดสินคดีนี้เรื่องแรก หากเป็นคนละข้อหา คนละกฎหมายจะใช้ 2 มาตรฐานไมได้
นี่คือความไม่รู้เรื่อง
แต่เห็นว่าพูดแล้วโก้ดี ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ศาล จะมี 2 มาตรฐาน ซึ่งก็เป็นไปได้ที่มีการเผลอ ศาลฎีกาจึงต้องมีการสังคายนากันเป็นครั้งคราว เมื่อเกิดปัญหาในการตัดสินคดี
ก่อนปรองดอง ต้องรู้เหตุแห่งปัญหา
สำหรับเรื่องปรองดอง ก่อนจะปรองดอง หมายความว่า ต้องเกิดการแตกแยกมาแล้ว ที่ผ่านมาเราเห็นความแตกต่างทางอุดมคติในลัทธิการปกครอง ถึงขนาดทำเป็นกองทัพ กองโจรเข่นฆ่ากันเองมาแล้ว อย่างไรก็ตาม จะเกิดการปรองดองได้ ต้องรู้สมมติฐานของความแตกแยกก่อน ต้องแก้ที่สมมติฐานของความแตกแยก ซึ่งเป็นเหตุของปัญหา
ถามว่า บ้านเมืองเราแตกแยกตั้งแต่เมื่อไหร่ หลายคนบอกว่าตั้งแต่ยึดอำนาจ 2549 แต่ผมว่าเริ่มมาก่อนนั้น เท่าที่ผมทบทวนดู ตั้งแต่ปี 2548 มีรายการช่อง 9 คือ รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ที่ตอนหลังกลายเป็นเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ไปตามที่ต่างๆ พอเดือนมกราคม 2549 มีการออก พ.ร.บ.กิจการโทรคมนาคม 2549 ที่เปลี่ยนแปลงให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมต่างด้าวถือหุ้นได้เป็น 49% จากเดิม 25% ตามกฎหมายเก่า
กระทั่งมีการขายหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้บริษัทเทมาเส็กของสิงคโปร์ 73,000 ล้านบาท จึงมีข้อโต้แย้งว่าต้องเสียภาษีเพียงใดหรือไม่ แต่ข้อเท็จจริงเสียเพียงภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เท่านั้น ในช่วงนั้นคนเริ่มแสดงความไม่พอใจและมีการโต้เถียง โจมมากขึ้น รวมถึงการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เป็นความไม่พอใจหนึ่ง กระทั่งมีการยุบสภา ปลายเดือน กุมภาพันธ์ 2549
เมื่อจัดการเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลพรรคเดียว ฝ่ายค้านก็คว่ำบาตรการเลือกตั้ง บางพื้นที่แข่งขัน เป็นของฝ่ายตรงข้าม จึงมีการดึงผู้สมัครมาลงหลายจุด และ กกต.ก็ตีความให้สมัครได้ จนมีปัญหาและเกิดช่องว่าง เกิดสุญญากาศขึ้น มีการฟ้องร้อง กกต.จนถูกศาลสั่งให้จำคุก เริ่มเห็นความขัดแย้งประปราย มีทั้งคนเชียร์และต่อต้าน ในที่สุดตำแหน่ง กกต.ก็ว่าง จนได้ กกต.ชุดใหม่จนถึงปัจจุบัน ในปี 2550 เริ่มมีการชุมนุมของกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า นปก.และเริ่มมีความขัดแย้งเต็มที่
นั่นคืออดีตที่มาของความขัดแย้ง
ทีนี้จะปรองดองกันอย่างไร ต้องถามว่าทั้ง 2 ฝ่าย คิดจะปรองดองกันจริงหรือเปล่า ที่ว่าอำมาตย์ ว่าไพร่ หรือแค่การอ้างเหตุมาเพื่อโยงใยถึงคนอื่น จนสร้างความแตกแยกมากขึ้น ถามว่าจริงจังจะปรองดองกันไหม
"สมัยเด็กๆ ผมเคยทะเลาะกับเพื่อน นานมาที่ไม่คุยกันจนลืมไปแล้วว่าผิดผิดใจกันด้วยเรื่องอะไร สุดท้ายก็จับมือกัน ต้องมีคนกลาง หรือทั้ง 2 ฝ่ายต้องรู้สึกว่าควรจะดีกัน จึงมานั่งคุยกัน ไม่อย่างนั้นไม่มีทางที่จะดีกันได้ ต้องรู้จักประนีประนอม ลดหย่อนข้อเรียกร้อง หยุดการทุบโต๊ะ หยุดการอ้างอำนาจ การอ้างเสียงข้างมาก เพราะถ้าฝ่ายหนึ่งบอกว่าปรองดองก็ได้ แต่หันหน้าพูดเข้าข้างฝาว่าอยากให้เป็นอย่างนี้ๆ อีกฝ่ายก็บอกว่าปรองดองก็ได้ แต่ต้องเงื่อนไขของฉัน ของคนอื่นฉันไม่เอา อย่างนี้จะคุยกันรู้เรื่องได้อย่างไร"
อีกต้นเหตุของความแตกแยกที่ทวีความรุนแรงขึ้นคือ "สื่อ" ที่ตอนนี้ต่างฝ่ายต่างมี "สื่อดาวเทียม" ต่างปลุกระดม มอมเมาคนของตัวเอง ไม่ได้พูดความจริงกันเต็ม 100% และมีการส่งข้อความเข้ามาด่า พิธีกรในรายการก็พูดจาหยาบคาย ค่อนข้างน่าสมเพช สื่อนี่แหละที่เป็นส่วนหนึ่งของความแตกแยก ถือหางกันจนไม่ลืมหูลืมตา ถ้าสื่อต้องการเห็นความปรองดอง ต้องลดความรุนแรงลด
"ต้องบอกคู่กรณีที่คิดจะปรองดองกันว่า ยิ้มเข้าหากัน คุยกันหน่อย ที่จริงเป็นภาพที่ดี ที่ รมว.คมนาคม จัดนิทรรศการ เรื่องกู้เงิน 2 ล้านล้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ศูนย์ราชการแล้วเชิญพรรคฝ่ายค้านไปชม ฝ่ายค้านก็เห็นด้วยทุกโครงการ แต่ขอว่าอย่ากู้ อีกฝ่ายก็ไม่เอา แต่ถ้าเป็นผม คงจะให้เกียรติ เอาใส่งบประมาณเป็นส่วนๆ ขอกู้บางส่วนเพื่อสำรวจความเป็นไปได้ อย่างนี้อาจจะยุติได้"
นี่เป็นตัวอย่างง่ายๆ ของการประนีประนอม ต้องถามว่าจิตใจคิดจะปรองดองกันมั้ย ไม่ใช่แค่ปากพูดว่าจะต้องปรองดอง แต่ที่เอามือไขว้หลังถือมีด ถือดาบ พร้อมฟาดฟันกันตลอด อย่างนี้ปรองดองกันยาก ในเจเนอเรชั่นของเราคงจะไม่ได้เห็น
ผมอยากให้บ้านเมืองปรองดอง จะนิรโทษกรรม หรืออย่างไรทำได้ทั้งนั้น ขอเพียงอย่างเดียว ปรึกษาหารือผู้รู้หน่อย อย่าให้เรื่องมาตกหนักที่ผม พวกท่านคอยดู เมื่อมีปัญหาก็ชี้หน้าศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นขวากหนามของการปรองดอง การเขียนกฎหมายต่างๆ กรุณาดูรัฐธรรมนูญด้วย อย่าคิดว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นฉบับที่ใช้ไมได้ เพราะกฎหมายจะต้องออกมาต้องใช้บังคับทั่วไป จะเฉพาะกลุ่มคนไม่ได้ ต้องไม่เลือกปฏิบัติ
ผมภาวนาให้คู่ขัดแย้งหันหน้ามาพูดคุยกัน โดยผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ แต่ไม่แน่ใจว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจจะปรองดองกันได้จริงๆ มั้ย ผมอยากให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย เลิกทะเลาะกันเถิดครับ มาคุยกันด้วยเหตุผล ย่อหย่อน ประนีประนอม ลดข้อเรียกร้อง ลดความต้องการลงบ้างจึงจะลงเอยกันได้
"จะอายุมาก หรือน้อยก็หนีความตายไม่พ้น โอกาสเดียวคือทำสิ่งที่เป็นคุณความดีแก่ชาติบ้านเมือง อย่าไปแคร์คำติฉินนินทา ของคนที่ไม่พอใจ ผมหวังว่าท่านทั้งหลายคงประสงค์เช่นเดียวกับผม คืออยากให้มีการปรองดองเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด เราฝากความหวังไว้กับผู้มีอำนาจในบ้านเมืองด้วยแล้วกัน"