รายงานความไม่เป็นธรรมสังคม’55 : ต้นตอรัฐเอื้อทุน-แย่งชิงทรัพยากรชุมชน
ส.วิจัยสังคม จุฬาฯ เปิดตัว ‘รายงานสถานการณ์ความไม่เป็นธรรมสังคม’55’ สำนักข่าวอิศราพาไปรู้จักต้นตอความเหลื่อมล้ำบางส่วนที่สะท้อนจากงานวิจัยในชุมชน 51 แห่ง ทั้งมิติเศรษฐกิจสังคมและการเมือง
ความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง : สังคมที่อ่อนแอบนความเข้มแข็งของรัฐและนายทุน
สังคมไทยปัจจุบันเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แม้ปัจจุบันเราจะได้ยินแต่ประเด็นเรื่องการเมืองสองมาตรฐาน ซึ่งคนส่วนหนึ่งในสังคมไร้สิทธิ์ไร้เสียง เข้าไม่ถึงสิทธิทางการเมือง แต่แท้จริงแล้วยังมีลักษณะเศรษฐกิจและสังคมสองมาตรฐานทาง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ อันเป็นความเหลื่อมล้ำที่ยังไม่มีกลไกอะไรเข้าไปแตะต้อง
สองมาตรฐานทางสังคมคือ การเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของเชื้อชาติสีผิว เพศ ศาสนา ชาติกำเนิด อายุ ความพิการ รสนิยมทางเพศ หรือ สิ่งอื่นใด ส่วนสองมาตรฐานทางเศรษฐกิจ คือ โอกาสที่ไม่เท่าเทียมกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทุกด้านความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นด้านการจ้างงาน การเข้าถึงทรัพยากรของรัฐ การเลือกที่รักมักที่ชัง โดยรัฐกำหนดนโยบายที่เอื้อสิทธิประโยชน์ให้แก่เอกชน หรือ บุคคลรายใดรายหนึ่งเป็นพิเศษ
เรากำลังอยู่ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำทั้งที่มองเห็นและซ่อนเร้น วิถีทางของขบวนการภาคประชาสังคมที่สนับสนุนฝ่ายเสื้อแดงมีความแน่วแน่ว่าจะต้องแก้ไขสังคมให้หลุดออกจากความเหลื่อมล้ำทางการเมืองเสียก่อน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่คนบางส่วนยังไม่เชื่อว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจต่างหากที่เป็นต้นเหตุของการลุกขึ้นมาของกลุ่มคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ ทิศทางการแก้ไขปัญหาจึงไม่เบนออกจากลักษณะปัจจุบันของเศรษฐกิจสองมาตรฐาน
ในปี 2545 ประเทศไทยมีสัดส่วนคนจนร้อยละ 15 ปี 2551 มีคนจนลดลงเหลือร้อยละ 9 แม้จำนวนคนยากจนจะลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าความเหลื่อมล้ำพุ่งสูงขึ้นในรอบการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมากว่า 50 ปี โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ที่ติดอันดับต้น ๆ ของโลกและเป็นอันดับแรกของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมของรัฐที่มุ่งเติบโตอย่างรวดเร็วได้ก่อต้นทุนทางสังคมสูงเกินกว่าที่มนุษย์และสิ่งแวดล้อมจะทนทานได้ ประชาชนในภาคตะวันออก คือ กลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงต่อโรคภัยหลายชนิดสูงกว่าประชาชนในพื้นที่อื่น ๆ มีปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรมหนักและสารเคมีปนเปื้อนทั้งทางน้ำและอากาศ ขณะที่กลไกทางสิ่งแวดล้อมก็ถูกนำไปใช้บิดเบือน เช่น หลักกฎหมายที่ยืมต่างประเทศมาใช้อย่างหลัก PPP (polluter pay principle) ซึ่งผู้ปล่อยมลพิษต้องทำหน้าที่เป็นผู้จ่ายเพื่อชำระล้างความสกปรกที่ทำลงไปและฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับคืนมา แต่ในสังคมไทยเป็นการจ่ายค่าเสียหายให้กับชาวบ้านเท่านั้น
ปัญหาเหล่านี้ เกิดจากความไม่เท่าเทียมในอำนาจซึ่งชนชั้นนายทุนและรัฐเข้มแข็ง ชนชั้นชาวนาอ่อนแอ รัฐและนายทุนร่วมกันครอบงำผู้คนส่วนใหญ่ ปล่อยให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรในสังคมที่เอนเอียงเข้าข้างนายทุน และปิดกั้นไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอำนาจ จนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างทางอำนาจและคงอยู่สืบมา
อนาคตเกษตรกรไทย ‘ยิ่งจนยิ่งป่วย’ เหตุประชานิยม-พึ่งพานายทุน
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานเมื่อปี 2543 ว่า ไทยซึ่งมีเนื้อที่การเกษตรมากเป็นอันดับที่ 48 ของโลก แต่กลับใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชสูงเป็นอันดับที่ 4 ของโลก โดยนำเข้าสารเคมีเฉลี่ยเกิน 1 แสนตันทุกปี เป็นผลให้ในปี 2551 ผลการตรวจเลือกเกษตรกร กว่า 8.9 หมื่นราย พบผู้อยุ่ในภาวะเสี่ยงและไม่ปลอดภัยถึง 3.4 หมื่นราย คิดเป็นร้อยละ 38.5 โดยเกษตรกรใน 10 จังหวัดภาคกลางที่ทำการเกษตรแบบเข้มข้นมีการเจ็บป่วยด้วยโรคจากสารกำจัดศัตรูพืชสูงสุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น
ปัญหาการใช้สารเคมีในภาคเกษตรเป็นอีกหนึ่งปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีความซับซ้อน กล่าวโดยรวมเศรษฐกิจการเกษตรของไทยถูกผูกขาดโดยกลุ่มทุนการเกษตรขนาดใหญ่ที่สามารถควบคุมปัจจัยการผลิต และราคาได้ตลอดกระบวนการ โดยเฉพาะการทำเกษตรในระบบเกษตรพันธะสัญญา ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรราว 1.6 – 3 แสนรายที่อยู่ในระบบดังกล่าวเนื่องจากความยากจนขาดปัจจัยการผลิต ทำให้ต้องใช้สารเคมีตามสัญญาผูกมัด เป็นเหตุให้สุขภาพเสื่อมโทรม และยังต้องถูกเอารัดเอาเปรียบจากบรรษัทเมื่อต้องพบเจอกับภาวะสูญเสียจากความเสี่ยงทั้งจากธรรมชาติและระบบตลาด เช่น น้ำท่วม พืชเน่า สัตว์ตาย ขาดทุน บรรษัทซึ่งอ้างว่าจะร่วมแบกรับความเสี่ยงก็ผลักความรับผิดชอบไป ขณะที่รัฐและประชาชนผู้เสียภาษีเป็นฝ่ายยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรแทนบรรษัท ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงภาวะความไม่เป็นธรรมที่เกษตรกรเผชิญ ทำให้อนาคตของเกษตรกรไทย “ยิ่งจน ยิ่งป่วย”
นอกจากเกษตรกรจะถูกเอาเปรียบจากกลุ่มทุนอันเนื่องมาจากความละเลยในการกระจายฐานทรัพยากรของรัฐแล้ว เกษตรกรยังต้องถูกคุกคามจากนโยบายและโครงการพัฒนา ของรัฐเองด้วย ตัวอย่างกรณีศึกษาชุมชนแก่งละว้า อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐที่เข้ามาพัฒนาพื้นที่เพื่อผลิตน้ำประปาให้กับคนเมืองและภาคอุตสาหกรรม ทำให้น้ำท่วมที่ทำกินของชาวบ้าน และถูกรื้อไล่ไม่สามารถลงไปทำนาปรังในแก่งละว้าได้อีกต่อไป
เกษตรกรจึงนับเป็นกลุ่มแรก ๆ และอาจจะเป็นกลุ่มเดียวเท่านั้นที่ถูกรัฐจำกัดเรื่องการใช้น้ำ กลุ่มครัวเรือนซึ่งมักเป็นชนชั้นกลางในเมืองกลับมีเสียงดังกว่าและโวยวายได้มากกว่าหากไม่มีน้ำอาบก่อนไปทำงาน และยังไม่เคยได้ยินว่าภาคอุตสาหกรรมต้องจำกัดการใช้น้ำเลย
ขณะนี้จึงดูเหมือนว่าทิศทางนโยบายรัฐกำลังมุ่งไปที่การส่งเสริมภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อส่งออกเป็นหลัก โดยไม่มีความมุ่งมั่นที่จะปรับโครงสร้างฐานทรัพยากรให้กระจายสู่เกษตรกรรายย่อยอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน จึงเป็นเหตุให้แม้ไทยจะเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก แต่เกษตรกรรายย่อยผู้ผลิตอาหารกำลังล้มหายตายจากไป สังคมชนบทไม่สามารถสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงจากการผลิตอาหารได้ จึงต้องหันไปพึ่งรายได้นอกภาคเกษตร และรอรับการสนับสนุนจากนโยบายประชานิยมของรัฐที่เน้นการสงเคราะห์แบบให้เปล่าแทนการสร้างศักยภาพพึ่งตนเอง ซึ่งยิ่งทำให้เกิดปัญหามากขึ้น
ชุมชนท้องถิ่นกับปัญหาความไม่เป็นธรรม : โครงการพัฒนารัฐแย่งชิงทรัพยากร
“ปัญหาความไม่เป็นธรรมส่วนใหญ่มักเกิดจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ ผ่านโครงการต่างๆ ที่ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน ไม่มีการปรึกษาหารือกับชุมชนท้องถิ่น ในที่สุดการพัฒนาถึงแม้ว่าจะมีเจตนาดีก็กลายเป็นผลร้ายซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ถึงชุมชนในมิติต่าง ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
กรณีศึกษาชุมชนบ้านอีโก่ม อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งได้รับผลกะทบจากโครงการการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำชี ทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง นอกจากน้ำท่วมนานหลายเดือน ยังมีหอยเชอร์รี่ระบาด ปลาขึ้นมาวางไข่ไม่ได้ พันธุ์ปลาลดจำนวนลง ชาวบ้านขาดโอกาสประกอบอาชีพ เสียรายได้ เกิดปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว หรือ กรณีศึกษาชุมชนริมน้ำโขง บ้านตามุย อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี พบว่า ชุมชนตามุย ได้ถูกเบียดขับจากรัฐโดยการประกาศเขตอุทยานผาแต้ม ต้องกลายเป็นผู้ไร้ที่ทำกิน ไม่สามารถเข้าไปในที่ดินทำกินเดิมได้ แม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่มานานตั้งแต่บรรพบุรุษตั้งรกราก
ผลการศึกษาในโครงการต่างๆ พบว่า ต้นเหตุความไม่เป็นธรรมที่ระบุสอดคล้องกัน คือ รัฐเป็นผู้กระทำแย่งชิงหรือปิดกั้นการเข้าถึงทรัพยากรของชุมชน งานศึกษาความไม่เป็นธรรมในเรื่องที่ดินของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ได้ระบุถึงลักษณะความไม่เป็นธรรมด้านที่ดินที่ชุมชนกำลังเผชิญอยู่ ได้แก่ ชุมชนถูกแย่งที่ดินทำกินและทรัพยากรไปโดยรัฐและกฎหมายรวมศูนย์อำนาจ การประกาศเขตป่าอนุรักษ์ ที่ของรัฐ ซึ่งไม่เพียงทำให้ชุมชนดำรงอยู่อย่างผิดกฎหมายแล้ว ยังถูกคุกคาม จับกุมดำเนินคดี บ้านเรือน พืชผลถูกทำลาย และถูกปิดกั้นการพัฒนา ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภค หรือ ถูกกดดันด้วยการขึ้นค่าเช่าที่สูงเกินกว่าชาวบ้านจะจ่ายได้ เมื่อพวกเขาถูกรัฐและสังคมมองว่าทำผิดกฎหมาย ทำให้ขาดกลไกของรัฐและสังคมที่จะปกป้องสิทธิและความเป็นธรรมให้พวกเขา
นอกจากนี้จากงานศึกษาการสร้างสุขภาวะสังคมอีสานที่เป็นธรรมสะท้อนให้เห็นว่า สังคมอีสานเผชิญกับนโยบายการพัฒนาที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนคนอีสาน เมื่อรัฐกำหนดให้พื้นที่อีสานเป็นพื้นที่ผลิตวัตถุดิบพื้นฐานเพื่อการค้าและอุตสาหกรรม ได้แก่ การทำไม้ การทำพืชไร่ โดยเปิดเสรีให้เกิดการตักตวงทรัพยากรธรรมชาติจากพื้นที่โดยไม่มีกระบวนการควบคุมและป้องกันและไม่สนใจสิทธิชุมชนท้องถิ่น คนอีสานกลับกลายเป็นกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดเพราะสูญเสียฐานทรัพยากร
อย่างไรก็ดีแม้ไม่ใช่ความขัดแย้งที่ดินระหว่างรัฐกับชุมชน แต่เป็นรัฐกับกลุ่มทุน ชุมชนก็ยังถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เช่น กรณีชุมชนสันติพัฒนา และไทรงามพัฒนา จ.สุราษฎร์ธานีที่รัฐปล่อยให้เอกชนใช้ที่ดินป่าสงวนฯปลูกปาล์มต่อไปทั้ง ๆ ที่หมดสัญญาสัมปทานแล้ว แต่กลับดำเนินคดีอย่างจริงจังกับชาวบ้านที่บุกรกุพื้นที่ ไม่ต่างกับชุมชนหลัง สน.ทองหล่อที่ชุมชนกับนายทุนต่างต่างก็บุกรุกลำรางสาธารณะ แต่ชุมชนสลัมกลับถูกไล่รื้อ
ต่อสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวคณะผู้วิจัยจึงมี ข้อเสนอด้านฐานทรัพยากรธรรมชาติ ดังต่อไปนี้ 1. รัฐต้องรับรองและสนับสนุนสิทธิชุมชนต่อฐานทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิต วัฒนธรรม อย่างรอบด้าน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 66 2. พัฒนาระบบภาษีอัตราก้าวหน้าเพื่อให้ผู้ถือครองที่ดินกระจายทรัพยากรสู่สาธารณะมากขึ้น 3. พัฒนาการใส่วนร่วมของชุมชนต่อการกำหนดนโยบาย โครงการและประเมินผลที่เกิดจากโครงการอย่างรอบด้าน
4. พัฒนานโยบาย สร้างกลไกป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากโครงการต่างๆ ต่อพื้นที่ชุมชน โดยดำเนินการตามหลักผู้ก่อผลกระทบต้องรับผิดชอบฟื้นฟูเยียวยาไม่ให้กระทบระบบนิเวศและการดำรงชีวิตชุมชน 5. ส่งเสริมการรวมกลุ่มของชุมชน และ6.เสริมสร้างประชาธิปไตยด้วยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อให้ชุมชนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้
...........
‘สู่ชีวิตที่ดีกว่าเดิม : รายงานสถานการณ์ความไม่เป็นธรรมทางสังคม พ.ศ. 2554-2555’ สะท้อนให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยปัจจุบันไม่ได้มีเฉพาะมิติทางการเมือง แต่มิติทางเศรษฐกิจและสังคมยังเป็นปัญหาที่นำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น เมื่อคนจำนวนมากถูกผลักไสให้กลายเป็นคนชายขอบ โดยมีจุดเริ่มมาจากการดำเนินนโยบายที่ไม่เป็นธรรมและเลือกปฏิบัติโดยรัฐมาช้านาน
ถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้ปัญหาเชิงรุกตั้งแต่โครงสร้าง ไม่ใช่การแก้ไขแบบตั้งรับไปวัน ๆ !
ขอบคุณข้อมูลจาก :
หนังสือชุดถมช่องว่างสังคม ลำดับ 7 ‘สู่ชีวิตที่ดีกว่า : รายรายงานสถานการณ์ความไม่เป็นธรรมทางสังคม พ.ศ. 2554-2555’ โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (นพนันท์ วรรณเทพสกุล, นฤมล อรุโณทัย, กฤษฎา บุญชัย, สุปรีดา อดุลยานนท์, บุญเพิ่ม ทัยกริ่ม)
ที่มาภาพ ::
http://mekong.human.ubru.ac.th/content/pictures/1686079-low.jpg
http://images.voicecdn.net/contents/640/330/horizontal/37235.jpg