“วสันต์” ชี้ปรองดองเกิดยาก หากสื่อไม่หยุดปลุกระดม สร้างความแตกแยก
ประธานศาล รธน. ยันการปรองดองเกิดขึ้นได้ทั้งสองฝ่ายต้องรู้สึก ควรจะดีกัน มีกระบวนการพูดคุย ไกล่เกลี่ย ด้วยความประนีประนอม ไม่ใช่ปากอยากปรองดอง แต่มือไขว้หลังถือมีดถือดาบพร้อมฟาดฟันกันตลอดเวลา
วันที่ 5 เมษายน นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวปาฐกถา เรื่อง “ความปรองดอง ความยุติธรรม และประชาธิปไตย” ในโอกาสครบรอบ 106 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ ห้องประชุมสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
นายวสันต์ กล่าวตอนหนึ่งถึงการปรองดองว่า ต้องไปแก้ที่สมมุติฐานของความแตกแยก รู้เหตุและแก้ที่เหตุ พร้อมกันนี้ได้ทบทวนให้เห็นบ้านเมืองเริ่มแตกแยกมาตั้งแต่ปี 2548 โดยเฉพาะช่วงที่ช่อง 9 มีรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ซึ่งออกมาขุดคุ้ยเรื่องต่างๆ ต่อมาเดือนมกราคม 2549 มีออกพระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคม 2549 เปลี่ยนแปลงให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ต่างด้าวสามารถถือหุ้นได้ 49% จาก 25% ตามกฎหมายเก่า กระทั่งมีการขายหุ้นของบริษัทชินฯ ให้กองทุนเทมาเส็กของสิงค์โปร์ 73,000 ล้านบาท จนนำมาสู่ข้อโต้แย้งเรื่องการเสียภาษี รวมถึงการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
“จากนั้นมีการยุบสภาปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2549 และจัดเลือกตั้งใหม่ 2 เมษายน 2549 ขณะที่ฝ่ายค้านคว่ำบาตรการเลือกตั้ง มีโนโหวต และเมื่อเกิดสุญญากาศ ก็คาราคาซัง ฝ่ายหนึ่งก็ฟ้อง กกต. ซึ่งในที่สุด กกต.ก็ถูกศาลสั่งจำคุก วันนั้นเราเริ่มเห็นความขัดแย้งเกิดขึ้นประปราย มีทั้งคนเชียร์และต่อต้าน จนมาสู่การยึดอำนาจ และความขัดแย้งขยายวงกว้างมาถึงปัจจุบัน”
ประธานศาล รธน. กล่าวถึงการปรองดองว่า จะเกิดขึ้นได้นั้น ทั้งสองฝ่ายจะต้องรู้สึกว่าควรจะดีกัน มีกระบวนการพูดคุย ไกล่เกลี่ย ด้วยความประนีประนอม รู้จัดลดหย่อนข้อเรียกร้อง หยุดการทุบโต๊ะ หยุดการอ้างอำนาจ และอ้างเสียข้างมาก
สำหรับต้นเหตุความแตกแยกที่ทวีความรุนแรงขึ้นนั้น นายวสันต์ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งมาจากสื่อ โดยเฉพาะสื่อดาวเทียม ต่างฝ่ายต่างปลุกระดมมอมเมาคนของตัวเอง ไม่พูดจริง พูดจาหยาบคาย ถือหางจนไม่ลืมหูลืมตา ดังนั้น สื่อต้องลดความรุนแรงลง หากอยากเห็นการปรองดอง
นายวสันต์ กล่าวด้วยว่า การปรองดอง ประนีประนอม สามารถทำได้แม้แต่เรื่องพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน แต่ถามว่า วันนี้จิตใจคิดจะปรองดองกันหรือไม่ ไม่ใช่ปากคิดจะปรองดอง แต่มือไขว้หลังถืออะไร ถือมีด ถือดาบ พร้อมจะฟาดกัน หากยังเป็นเช่นนั้น การปรองดองก็เกิดยาก การปรองดองในเจเนอเรชั่นของเราอาจไม่ได้เห็น
“ตอนนี้บ้านเมืองไทยกำลังอมทุกข์ ประชาชนทั่วไปเป็นทุกข์ เราอยากให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ก็ควรเลิกทะเลาะกัน หันหน้าคุยกันด้วยเหตุผล ลดข้อเรียกร้อง ลดความต้องการลงบ้างเชื่อว่า ท้ายที่สุดก็จะลงเอยได้ แต่หากยังยึดติดกับความต้องการของตนเป็นหลัก ผมว่า ไม่ใช่การปรองดอง”
ติดตามอ่านปาฐกถาฉบับเต็มได้ที่นี่เร็วๆ นี้