ถกอวสานสื่อสิ่งพิมพ์ แนะสื่อท้องถิ่นเน้นจุดแข็ง ‘เข้าถึงชุมชน’
สื่อสร้างสุขอุบลฯ ถกอนาคตสื่อท้องถิ่น เวทีฟันธงทุนน้อย-ต้นทุนสูง-รอดยาก ต้องรีบปรับตัวก้าวทันผู้บริโภคยุคดิจิตอล-อวสานสื่อสิ่งพิมพ์ แนะดึงจุดแข็งนำเสนอเรื่องราวใกล้ตัวชุมชน
เร็วๆนี้ สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี โดยโครงการสะพาน จากการสนับสนุนของ USAID จัดเวทีวิเคราะห์อนาคตสื่อท้องถิ่นในยุคดิจิตอล มีตัวแทนจากสมาคมสื่อมวลชนอุบลราชธานี
นายชลธิษ จันทร์สิงห์ นายกสมาคมสื่อมวลชนอุบลราชธานี กล่าวว่าจังหวัดอุบลราชธานีไม่มีเจ้าของหนังสือพิมพ์ฉบับใดเป็นเจ้าของโรงพิมพ์อย่างแท้จริง ต้องไปจ้างพิมพ์กับโรงพิมพ์ทั่วไป และหลายโรงพิมพ์ก็ไม่อยากรับงานเพราะขั้นตอนการพิมพ์ยุ่งยากกว่างานพิมพ์อื่น รวมทั้งได้รับค่าจ้างช้ากว่างานทั่วไป สำหรับการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคข่าวสารรวดเร็ว ต้องเริ่มต้นจากการจัดทำรูปแบบให้น่าสนใจ เนื้อหาข่าวต้องโดดเด่น จัดอาร์ต ทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการจัดพิมพ์เป็น จึงอยู่รอดได้ในยุคนี้
"เจ้าของหนังสื่อพิมพ์ท้องถิ่น จึงทำด้วยใจรักจริงๆ บางฉบับเป็นทั้งบรรณาธิการไปถึงคนส่งหนังสือพิมพ์ และถ้าหวังจะมีรายได้หรือร่ำรวยจากอาชีพนี้คงไม่ได้"
นายนายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวว่าสื่อส่วนกลางมีต้นทุนมากกว่าสื่อท้องถิ่น แต่ในยุคดิจิตอลสื่อส่วนกลางก็ต้องปรับตัวมากขึ้นเพื่อให้อยู่รอดเช่นกัน ขณะที่ต้นทุนการผลิตสื่อส่วนกลางกับสื่อท้องถิ่นไม่แตกต่างกันคือต้นทุนมากกว่าราคาขาย สื่อต่างๆจึงอยู่ไม่ได้จากยอดขาย ต้องอาศัยสปอนเซอร์ทำให้สื่อเป็นอิสระยาก บางครั้งสินค้าบางอย่างมีปัญหา ก็ต้องบอกว่าดี เพื่อให้ได้โฆษณา
“อำนาจที่แท้จริงไม่ได้อยู่กับคนทำสื่อ แต่อยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นไม่มีอนาคต เพราะคนไม่เสพข่าวจากการอ่านหนังสือพิมพ์เพียงฉบับเดียว เสพจากหลายสื่อ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่นิยมสื่อออนไลน์ คลิป ฟังหรืออ่านผ่านอุปกรณ์สื่อสารซึ่งเข้าถึงรวดเร็วกว่า”
น.ส.อังคณา พรมรักษา อาจารย์ประจำสาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่าสื่อท้องถิ่นอุบลราชธานีมีความเข้มแข็ง เพราะทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายและทำด้วยความรัก เห็นได้จากคนทำสื่อในอดีตไม่ได้เรียนจบนิเทศศาสตร์ เพราะมีคนทำสื่อก่อนที่จะมีหลักสูตรนี้
สำหรับสื่อท้องถิ่นปัจจุบันอยู่ด้วยใจไม่ได้คิดถึงขาดทุนหรือกำไร เพราะหัวใจต้องการให้คนดูคนอ่านคนฟัง อนาคตของสื่อท้องถิ่นที่เป็นหนังสือพิมพ์ต้องปรับตัว เช่นจะไปรวมกับการทำสื่ออื่นอย่างไร เพราะสื่อสิ่งพิมพ์มีต้นทุนสูง และคนรุ่นใหม่นิยมรับสื่อที่รวดเร็วสะดวกในการติดตามได้ทุกที่ ดังนั้นสื่อท้องถิ่นต้องพูดคุยว่าจะร่วมกันอย่างไรให้อยู่รอดในยุคที่โลกการสื่อสารเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
"แต่สื่อท้องถิ่นยังมีจุดแข็งคือเป็นสื่อที่เข้าถึงคนในชุมชนที่ตนอยู่ บางเรื่องบางประเด็นสื่อส่วนกลางไม่ให้ความสนใจ แต่สื่อท้องถิ่นนำมาเป็นประเด็นนำเสนอได้ จึงเป็นจุดแข็งเป็นจุดขายที่ต่างกับสื่อส่วนกลาง”
นายสมศักดิ์ รัฐเสรี บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ปทุมมาลัย กล่าวว่าสื่อสิ่งพิมพ์ในจังหวัดมีมากเชิงปริมาณ แต่น้อยในเชิงคุณภาพ เคยคิดจะรวมตัวกันทำสื่อท้องถิ่นให้เหมือนสื่อส่วนกลางคือผลัดกันออกฉบับละวันให้เป็นเหมือนสื่อรายวัน แต่ยังเป็นไปไม่ได้ เพราะใช้ต้นทุนสูงและมีจุดอ่อนด้านการตลาด
ที่มาภาพ ::: http://www.munjeed.com/news_detail.php?id=83545