ทหารไม่ได้ถูกส่งไปตาย...สันติสุขชายแดนใต้ต้องหยุดทำร้ายทุกกลุ่ม
สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่ตัวแทนรัฐ (บาล) ไทย นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปร่วมลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ ที่อ้างตัวเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น เมื่อ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา และได้พูดคุยอย่างเป็นทางการกันไปรอบหนึ่งแล้วเมื่อ 28 มี.ค.นั้น ชัดเจนว่าไม่ได้ลดระดับความรุนแรงลงเลย
มิหนำซ้ำสถิติในแง่ของจำนวนครั้งที่เกิดเหตุรุนแรงตลอดเดือน มี.ค.ก็พุ่งสูงขึ้นกว่า 2 เดือนก่อนหน้า คือสูงสุดในรอบ 3 เดือนแรก (ไตรมาส) ของปี 2556
มีคำชี้แจงจากตัวแทนรัฐบาลที่ไปร่วมพูดคุยเจรจา และกลุ่มคนที่สนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติภาพว่า เป็นความรุนแรงปกติที่ย่อมต้องเกิดขึ้นระหว่างเส้นทางสู่ความสงบร่มเย็น...
ตัวแทนรัฐบาลบางท่านยังชี้แจงอย่างไม่เป็นทางการด้วยว่า ยังมีสัญญาณที่ดีคือเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นเกือบทั้งหมดนั้น พุ่งเป้าไปยัง "เจ้าหน้าที่รัฐผู้ถืออาวุธ" ไม่ใช่พลเรือนหรือเป้าหมายอ่อนแอ อาทิ เด็ก ผู้หญิง ครู พระ ฯลฯ ดังที่เคยปรากฏมา
จากนั้นก็สรุปประหนึ่งว่า ความรุนแรงที่เริ่ม "เบนเป้า" ไปจากพลเรือน เป็นไปตามที่ได้ยื่นเงื่อนไขเรียกร้องผ่านไปยังแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นที่ร่วมโต๊ะพูดคุยว่าให้ลดเหตุรุนแรงที่กระทำต่อเป้าหมายอ่อนแอ
ผมคิดว่าคำชี้แจงลักษณะนี้เป็นประเด็นที่รัฐบาลพึงระมัดระวัง เพราะ
1.เจ้าหน้าที่รัฐผู้ถืออาวุธ ไม่ว่าจะเป็นทหาร ทหารพราน ตำรวจ หรือ อส.(อาสารักษาดินแดน) ต่างก็ต้องการสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตเช่นกัน แน่นอนว่าหน้าที่ของพวกเขาคือดูแลสวัสดิภาพให้กับชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ตลอดจนทรัพย์สินของทางราชการ ทำให้ความเสี่ยงต่อเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขาย่อมมากกว่าประชาชนธรรมดา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้กุมอำนาจรัฐอนุญาตให้พวกเขาตายได้อย่างน่าชื่นตาบาน หรือมองเป็นเรื่องธรรมดา เพราะคนในเครื่องแบบ เมื่อถอดเครื่องแบบก็คือประชาชนผู้บริสุทธิ์เหมือนคนอื่นๆ มีพ่อแม่ ลูกเมีย ญาติพี่น้อง เพื่อนพ้อง และคนที่เขารักและรักเขาเหมือนกับทุกคน
2.การโจมตีเป้าหมายที่เป็นผู้ถืออาวุธของฝ่ายก่อความไม่สงบ ไม่ใช่การเปิดหน้ารบกันแบบ "สงครามตามแบบ" แต่ตลอดมาฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบใช้ยุทธวิธี "ก่อการร้าย" ในการลอบทำร้ายแทบจะฝ่ายเดียว โดยเจ้าหน้าที่เป็นเสมือน "เป้าเคลื่อนที่" ให้ซุ่มยิงหรือกดระเบิดรายวัน สภาพการณ์อย่างนี้ต้องบอกว่า "ไม่ยุติธรรม" หากจะบอกให้เบนเป้าการโจมตีไปที่พวกเขา เพราะไม่ใช่การรบกันด้วยรูปแบบปกติแล้วเกิดความสูญเสียในวิถีแห่งนักรบ ฉะนั้นจึงไม่ควรไปให้เครดิตว่าเป็นผลบวกจากโต๊ะพูดคุยเจรจา จนทำให้ฝ่ายก่อความไม่สงบเบนเป้าไปกระทำต่อเจ้าหน้าที่รัฐผู้ถืออาวุธแทนพลเรือน
การพูดคุยเจรจาเพื่อสันติภาพในแนวทางที่ถูกต้องคือ ลดการก่อเหตุรุนแรงต่อเป้าหมายทุกกลุ่ม ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ โดยอาจนำร่องบางพื้นที่เพื่อพิสูจน์ศักยภาพของคู่เจรจา ไม่ใช่แค่ "เบนเป้า" ไปกระทำต่อเจ้าหน้าที่รัฐผู้ถืออาวุธ เพราะถึงที่สุดแล้วความรุนแรงก็ยังเกิดขึ้นในพื้นที่อยู่ดี ซ้ำยังพิสูจน์ยากว่าใครหรือกลุ่มใดเป็นผู้กระทำ หากฝ่ายขบวนการฯที่ร่วมโต๊ะพูดคุยเจรจาอ้างเพียงว่าเขาไม่ได้ทำ แต่กลุ่มอื่นทำ มันก็เป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์
ขณะที่ฝ่ายรัฐเอง หากมีการยื่นข้อเสนอให้ลดเหตุรุนแรงต่อเป้าหมายทุกกลุ่มในบางพื้นที่ รัฐก็ต้องแสดงความจริงใจด้วยการลดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการใช้กฎหมายพิเศษลงเช่นกัน เพื่อพิสูจน์ความจริงใจซึ่งกันและกัน และผมคิดว่าถ้าข้อเสนอของแต่ละฝ่ายเป็นอย่างนี้น่าจะพอรับได้ ไม่ใช่ปล่อยให้ความรุนแรงเกิดต่อไปโดยให้ทหาร ตำรวจ เป็นผู้รับแทน
3.การเร่งรัดเปิดประเด็น "พูดคุยเจรจา" ให้เป็นประเด็นสาธารณะ แทนที่จะดำเนินการกันแบบ "ปิดลับ" ไปก่อน โดยที่ไม่ได้วางมาตรการป้องกันเหตุร้ายหรือความเสี่ยงที่จะเกิดความสูญเสียทุกกรณี ไม่ว่าจะต่อประชาชนหรือกำลังพลในพื้นที่ ถือเป็นความประมาท ไม่รอบคอบของคณะทำงานที่ไปดำเนินการเรื่องพูดคุยเจรจา ตลอดจนฝ่ายนโยบายที่ตัดสินใจในเรื่องนี้หรือไม่
โดยเฉพาะที่มีข่าวกระเซ็นกระสายออกมาว่า ผู้นำกองทัพที่มีบทบาทสำคัญในปัญหาภาคใต้เพิ่งจะทราบรายละเอียดการลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพว่าจะเป็นการลงนามกับ นายฮัสซัน ตอยิบ ที่อ้างตัวว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น ในช่วงเช้าวันที่ 28 ก.พ.ซึ่งเป็นวันลงนามนั่นเอง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้มีการรายงานทำนองว่า ผู้ที่จะร่วมลงนามด้วยเป็นผู้แทนรัฐบาลมาเลเซีย ส่วนผู้แทนขบวนการบีอาร์เอ็น จะเป็นเพียงสักขีพยานหรือผู้สังเกตการณ์เท่านั้น
นี่จึงเป็น "หลักฐาน" หรือ "ใบเสร็จ" ชิ้นสำคัญที่ทำให้เห็นว่า กระบวนการพูดคุยเจรจาที่เปิดสู่สาธารณะเที่ยวนี้ ไม่ได้ผ่านการวางแผนมาอย่างดี และไม่ได้รับความเห็นชอบ หรืออย่างน้อยก็สร้างความเข้าใจที่ตรงกันกับหน่วยงานความมั่นคงทุกหน่วยใช่หรือไม่
ยิ่งไปกว่านั้น ผมยังเห็นว่าหากรัฐบาลหรือผู้แทนรัฐบาลที่ไปร่วมพูดคุยเจรจาคิดว่าการเกิดเหตุรุนแรงกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ถืออาวุธ เป็นการ "เบนเป้า" จากพลเรือนไปสู่ทหาร ตำรวจ สมดังข้อตกลงหลวมๆ ที่ได้ไปพูดคุยกันมา ก็อาจ "เข้าทาง" หรือ "หลงเกม" กลุ่มก่อความไม่สงบที่ยังก่อเหตุรุนแรงอยู่ในพื้นที่ก็ได้ เพราะชัดเจนว่าพวกเขาเหล่านั้นส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด "ไม่เอาด้วย" กับกระบวนการพูดคุยสันติภาพ
จากประสบการณ์ที่ลงไปทำงานในพื้นที่ ผมไม่เชื่อว่าการ "เบนเป้า" (หากมีจริง) จะเป็นผลจากโต๊ะพูดคุยเจรจา แต่ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบโดยเฉพาะบรรดา "นักรบรุ่นใหม่" จงใจโจมตีเจ้าหน้าที่ผู้ถืออาวุธมากกว่า (และยังสามารถโจมตีเป้าหมายพลเรือนได้หากต้องการทำ) เพราะเขาทราบดีว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพที่รัฐบาล "เปิดสู่สาธารณะ" นั้น ไม่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายกองทัพเท่าที่ควร และไม่ได้มีเอกภาพทางความคิดในหน่วยงานด้านความมั่นคงที่รับผิดชอบปัญหาภาคใต้ทั้งหมด
สอดรับกับคำยืนยันจากบรรดา "นักรบรุ่นใหม่" บางรายที่ส่งสัญญาณผ่านกลุ่มคนที่เข้าถึงพวกเขาว่า จะเดินหน้าก่อเหตุร้ายต่อไปโดยไม่เลือกเป้าหมาย คือพร้อมทำเป้าหมายใดก็จะทำทันที
จุดนี้เองที่อาจทำให้ฝ่ายก่อความไม่สงบเลือกโจมตีในแง่ยุทธศาสตร์ คือเล่นงานเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐผู้ถืออาวุธ โดยเฉพาะทหาร เพราะทราบดีว่าผู้นำทางทหารมักมีความอดทนต่ำ ย่อมยอมไม่ได้หากลูกน้องต้องสังเวยชีวิตรายวัน
ท่าทีลักษณะนี้สะท้อนชัดจากเหตุอุกอาจล่าสุดเมื่อวันที่ 1-2 เม.ย.ที่มีคนร้ายแต่งกายเลียนแบบทหารพร้อมอาวุธครบมือ บุกจี้ตัว พลทหารมะอีลา โตะลู จากบ้านภรรยาที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส แล้วนำไปยิงทิ้งที่ อ.บาเจาะ ในลักษณะตอบโต้เหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมกลุ่มติดอาวุธ 16 ศพที่เข้าโจมตีฐานปฏิบัติการนาวิกโยธินที่บ้านยือลอ ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา โดย พลทหารมะอีลา ก็เคยปฏิบัติหน้าที่อยู่ในฐานแห่งนั้น
ท่าทีอันแข็งกร้าวของ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ว่า "แรงมาก็ต้องแรงไป" คือสิ่งสะท้อนเป้าหมายทางยุทธวิธีของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ชัดเจนที่สุด
เมื่อทหารต้องสูญเสียไปเรื่อยๆ ผู้นำกองทัพย่อมทนไม่ไหว และเมื่อถึงจุดหนึ่งฝ่ายผู้ก่อการก็อาจใช้ปฏิบัติการต่อเป้าหมายพลเรือนครั้งใหญ่ดังเช่นที่เคยทำมาแล้วกรณีคาร์บอมบ์ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา (เมื่อ 31 มี.ค.2555 หลังมีข่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปเจรจากับแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มาเลเซีย)
หากสถานการณ์ที่ว่าเกิดขึ้นจริง โอกาสที่กระบวนการพูดคุยเจรจาจะถูก "ล้มกระดาน" ย่อมมีสูงยิ่ง...
นี่คือสิ่งที่พึงระวังท่ามกลางสถานการณ์ที่ฝุ่นควันแห่งสันติภาพยังคงตลบอบอวล แต่จับต้องสาระอะไรมิได้!