เร่งรัฐแสดงท่าทีเชิงรุกเจรจาไทย-อียู ปฏิเสธ ‘ต่างชาติผูกขาดยาและเมล็ดพันธุ์’
คกก.ติดตามการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู เร่งรัฐแสดงท่าทีเชิงรุกปกป้องผลประโยชน์ชาติ-เปิดเผยข้อมูลโปร่งใส ไม่ยอมจำนนข้อเสนอ ‘ขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรยา-ให้ต่างชาติผูกขาดเมล็ดพันธุ์’
ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯว่า ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการเจรจาการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรป(อียู) โดยผู้แทนจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลว่าการเจรจาฯได้เริ่มขึ้นแล้วโดยกำหนดกรอบระยะเวลาเจรจา 2 ปีหรือจะสิ้นสุดปลายปี 2557 เฉพาะปีนี้จะมีการเจรจา 3 ครั้ง ครั้งแรก พ.ค.ที่ประเทศเบลเยี่ยม ครั้งที่สอง ก.ย.ที่ประเทศไทย และครั้งที่สาม ธ.ค.ที่เบลเยี่ยมอีกครั้ง
ดร.ศิรินา กล่าวว่าคณะกรรมการฯได้รับทราบรายละเอียดของกรอบการเจรจาฯ และเห็นว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบควรต้องมีท่าทีและการเตรียมพร้อมในการทำข้อเสนอเชิงรุกหรือ THAI Text ไม่ควรรอรับแต่ข้อเสนอจากอียู เพื่อให้การเจรจาเกิดผลประโยชน์ต่อไทยอย่างเต็มที่ และต้องไม่มองเพียงประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ แต่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ผู้บริโภคและสวัสดิการสังคมที่คนไทยจะได้รับจากการเปิดเสรีครั้งนี้ด้วย พร้อมเน้นย้ำให้การเจรจามีความโปร่งใสเปิดเผยรายละเอียดให้ประชาชนทราบทุกขั้นตอน ซึ่งจะลดแรงต้าน ทำให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและช่วยให้ข้อตกลงมีความสมบูรณ์ในทุกมิติ ได้รับการยอมรับ
ที่ประชุมยังเห็นว่าการเจรจาการค้าต้องการการปรับตัวของภาคเอกชนไทยในการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานสิ่งแวดล้อมใช้เทคโนโลยีสะอาดปราศจากมลพิษ ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเพื่อสร้างโอกาสในขยายตลาดส่งออกสินค้าไปยังอียูซึ่งเป็นตลาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลกให้ได้ และส่งผลดีต่อคนในประเทศด้วย
ดร.วิศาล บุปผเวส หนึ่งในกรรมการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ รายงานผลการศึกษาเรื่องแนวทางการเจรจาและผลกระทบของการจัดทำความตกลงค้าเสรีไทย-อียูซึ่งเป็นงานที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ว่าการเจรจาการค้าเสรีจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว สินค้าหลายรายการจะได้รับประโยชน์จากการเปิดตลาดส่งออก อาทิ อาหาร เกษตรแปรรูป กุ้งแช่แข็ง โดยหากไทยไม่ทำข้อตกลงก็อาจจะถูกประเทศคู่แข่งแย่งตลาดส่งออกให้ลดลงทุกปี อย่างไรก็ตาม การเจรจาทั้งหมดจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่มุ่งสู่ทิศทางการสนับสนุนให้เกิดการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค และคนไทยต้องได้รับสวัสดิการทางสังคมที่ดีขึ้น ขณะที่ภาครัฐต้องมีมาตรการรองรับผลกระทบที่ดีพอ มีเครื่องมือเยียวยาชดเชยผู้เสียหายเพื่อให้แรงต่อต้านการเปิดเสรีมีน้อยลง
ดร.วิศาล ยังกล่าวว่าว่าข้อเรียกร้องที่ไทยไม่ควรยอมรับจากอียูได้แก่ 1.การให้ความคุ้มครองข้อมูลทดลองยาโดยการให้อำนาจการผูกขาดทางการตลาดแก่เจ้าของข้อมูล 2.การขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตร เนื่องจากผลประโยชน์จะตกอยู่กับบริษัทยาข้ามชาติและจะกระทบต่อการเข้าถึงยาของคนไทย 3.การคุ้มครองพันธุ์พืชภายใต้อนุสัญญา UPOV 1991 เพราะจะมีผลให้เกษตรกรไทยเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ยากขึ้น .
ที่มาภาพ ::: http://www.usatoday.com/story/money/2013/02/19/supreme-court-monsanto-farm-soybeans-patent-seeds/1930725/