"หิน นววงศ์" สะท้อนมุมมองภาคอุตฯ ต่อโครงสร้างพลังงาน “ของแพง ก็ต้องปล่อยให้แพง”
หลังรับรู้ล่วงหน้านานหลายสัปดาห์ว่า ผู้ดำเนินการผลิตแก๊สธรรมชาติที่ยาดานา ประเทศเมียนม่าร์ จะมีการหยุดการผลิตแก๊สเพื่อซ่อมบำรุงแท่นผลิต ระหว่างวันที่ 5-14 เมษายน 2556 โดยจะหยุดจ่ายแก๊สให้กับประเทศไทย จำนวน 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน จนทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้า ของโรงไฟฟ้า 6 แห่งของไทยต้องลดกำลังการผลิตลง
ช่วง 'วิกฤตไฟดับไฟตก' รัฐบาลโหมรรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนลดการใช้ไฟฟ้า 10% โดยเฉพาะขอความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรม ภาคครัวเรือน ห้างสรรพสินค้า หยุดเครื่องจักร และปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น
เน้นเป็นพิเศษวันที่ 5 เมษายน 2556 ช่วงเวลา 14.00 น. – 15.00 น. ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเป็นช่วงที่ใช้ไฟฟ้าสูงสุด
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งใช้ไฟฟ้ามากสุดถึง 46% ของการใช้ไฟทั้งประเทศ เมื่อถูกร้องขอเป็นพิเศษให้แปลงร่างเป็นอัศวินม้าขาว เดินหน้านำลดการใช้พลังงาน หยุดการผลิตในช่วงวันเวลาเวลาดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา มีโอกาสพูดคุยกับ "หิน นววงศ์" รองประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถึงความพร้อมเตรียมการรับมือวิกฤตพลังงาน ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม พร้อมมุมมองด้านพลังงานในอนาคต
@ ทันทีที่รู้ข่าวการหยุดส่งแก๊ส 10 วัน ภาคอุตสาหกรรมเข้าพบรมว.พลังงาน อยากทราบว่า มีการพูดคุยอะไรกันบ้าง
การเข้าพบนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ก็เพื่อปรึกษาว่า จะให้ภาคอุตสาหกรรมช่วยอะไรบ้าง และอยากทราบ วันไหนวิกฤตที่สุด
ท่าน (รมว.พลังงาน) ก็เอาชาร์ทที่เตรียมไว้ให้ภาคเอกชนดู วันที่วิกฤตที่สุดตรงกับวันที่ 5 เมษายน 2556 ช่วงเที่ยงวัน ถึง 2 ทุ่ม เราจึงกลับไปประชุมกับกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อหามาตรการ หาหลายๆ วิธี กระทั่งผลออกมาก มี 15 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานมาก จับมือช่วยลดการใช้พลังงาน จนได้ตัวเลขถึง 807 เมกกะวัตต์
กลุ่มที่ช่วยได้มากที่สุด คือ กลุ่มยานยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วน ลดการใช้พลังงานได้ถึง 358 เมกกะวัตต์ กลุ่มเหล็ก หยุดหลอมเหล็กลดได้ 138 เมกกะวัตต์ กลุ่มเคมี 85 เมกกะวัตต์ กลุ่มปูนซีเมนต์ 80 เมกกะวัตต์ กลุ่มปิโตรเคมี (SCG 20 บริษัท) 48 เมกกะวัตต์ กลุ่มโรงกลั่น (IRPC) 20 เมกกะวัตต์ และกลุ่มย่อย 10 บริษัท 77 เมกกะวัตต์
@ สถานการณ์วิกฤตพลังงาน ปีนี้พิเศษ หรือต่างจากปีที่ผ่านๆ มาอย่างไร
"คราวก่อนไม่มีใครรู้นะ เรื่องนี้" เพราะไม่เคยมีเรื่อง
ที่ยาดานา เที่ยวนี้น่าจะซ่อมใหญ่ จนทำให้ประเทศไทยผลิตไฟได้น้อยลงถึง 20% ซึ่งทางภาคอุตสาหกรรมเข้าใจ เครื่องจักรต้องมีวาระซ่อมแซม แต่จะซ่อมแซมช่วงไหนอย่างไร ทางปตท.ต้องรับผิดชอบ เราไม่มีทางทราบเลย
หากเกิดเหตุการณ์ไฟตก ๆ ดับๆ ภาคอุตสาหกรรมแย่เลย ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ยกตัวอย่าง กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก หากกำลังหลอมเหล็กอยู่ ดับปุ๊บ ความร้อนที่หลอมอยู่พันกว่าองศา ก็ค่อยๆ แข็งตัว
@ คิดอย่างไร กับโครงสร้างการผลิตพลังงานไฟฟ้าบ้านเราที่บิดเบี้ยว พึ่งพาก๊าซธรรมชาติสูงถึง 70%
เรารู้มาหลายปีแล้ว แต่ที่เป็นห่วง หากไม่ทำอะไร ปล่อยให้โครงสร้างบิดเบี้ยวแบบนี้ อีกหน่อยค่าไฟฟ้าจะสูงขึ้น เป็น 5-6 บาท จาก 3 บาทกว่า จะน่ากลัวกว่านี้
ดังนั้น ในมุมมองภาคอุตสาหกรรมจึงอยากให้ราคาพลังงานสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
“ในโลกหากของมันแพง ก็ให้มันแพงไปเลย”
การที่แพงไปเลยมันดีอย่างไร แพงทำให้ผู้ใช้ระวัง เมื่อไหร่แพงตามเหตุผลที่แท้จริง ผู้ใช้จะระวังเอง ซึ่งพิสูจน์มาทั่วโลกแล้ว เพราะเป็นกระเป๋าของเราเอง ทุกคนจะระวัง เปรียบเหมือนกับการกินอาหาร หากแพงคิดมาก แต่หากถูกก็กินกันใหญ่เลย
เรื่องพลังงาน “หากไม่รวยจริงซื้อมาแพง แล้วมาขายถูกรับรองเจ๊ง”
ในโลกของการแข่งภาคอุตสาหกรรมผลิตสินค้าขายทั้งในและต่างประเทศ ต้องเจอสภาพการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรงอยู่แล้ว เราจึงอยากรู้ต้นทุนที่แท้จริงของเราเท่าไหร่ เราสู้เขาไม่ได้ที่ตรงไหน
@ อยากจะฝากอะไรถึงรัฐบาลกับการอุดหนุนพลังงาน
ภาคอุตสาหกรรมใช้ไฟฟ้าเยอะ ทุกกระบวนการผลิต ถือเป็นต้นทุนใหญ่ รองๆ จากวัตถุดิบ ดังนั้น นโยบายด้านพลังงาน เราอยากให้ภาครัฐคิดราคาพลังงานตามต้นทุนที่แท้จริง
เรื่องพลังงานที่มีการอุดหนุนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เป็นไปได้หรือไม่ หาทางค่อยๆ ลดลง เราเข้าใจสังคมมีทั้งคนรวย คนจน ในการช่วยเหลือรัฐเองก็ต้องช่วยคนจน ไม่ใช่ช่วยไปแล้วคนรวยยิ่งรวย
ยกตัวอย่าง LPG ขายอยู่ที่ 333 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ทั้งที่ราคาในตลาดโลกแพงกว่านี้ 3 เท่า ซึ่งเมื่อปีที่แล้วภาครัฐ มีนโยบายให้ภาคอุตสาหกรรมซื้อในราคาต้นทุนที่แท้จริง ไม่อุดหนุนแล้ว จนกลุ่มเซรามิก ปิดตัวลงไปหลายโรง
หรือกรณีภาครัฐให้ใช้ไฟฟรี 90 หน่วย จนผลักภาระให้ภาคอุตสาหกรรมแบกรับนั้น เราบอก เราไม่ไหวนะ จนเป็นที่มาการใช้ไฟฟรี ลดเหลือ 50 หน่วย
@ ข้อจำกัด การสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศกับการต้องไปซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
การยืมจมูกคนอื่นหายใจ ภาคอุตสาหกรรมของเราพยายามหลีกเลี่ยง เพราะหากเกิดเรื่องขึ้นมา เราช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เต็มที่ หากประเทศของเราผลิตไฟฟ้าเอง มีอะไรก็ยังคุยกันได้ ดึกๆ ดื่นๆ ยังคุยกันได้ แต่หากเป็นอีกประเทศหนึ่ง เวลาคุยก็จะยากขึ้น เดินทางก็ไกลขึ้น
การเลือกสร้างประเทศเพื่อนบ้าน เกิดจากกรณีโรงไฟฟ้าบ่อนอก หินกรูด สร้างไม่ได้ นโยบายของ กฟผ.ก็เปลี่ยนไป เพราะความต้องการใช้ไฟฟ้าของเรา เพิ่มขึ้นปีหนึ่ง 4-4.5 % รวมทั้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
กฟผ.อยู่เฉยๆ ไม่ได้ เมื่อสร้างในประเทศไม่ได้ ก็ต้องไปสร้างที่ประเทศอื่น ทั้งที่ลาว มีภูมิประเทศเหมาะสร้างเขื่อนพลังน้ำ จนลาวประกาศตัวเป็นแบตเตอรี่ของเอเชีย
ฉะนั้น เราเองอยากให้สร้างในประเทศมากขึ้น ลดใช้แก๊สธรรมชาติผลิตไฟฟ้าจาก 70% ให้เหลือ 40% ไม่ควรเกินครึ่ง ขณะที่ถ่านหิน เชื้อเพลิงที่ถูกที่สุด เราสามารถกำหนดเปอร์เซ็นต์ซัลเฟอร์ฯ ได้ ถ่านหินมีหลายเกรด ที่สำคัญ บริษัทบ้านปู ก็เป็นผู้ประกอบการถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย เรามีศักยภาพตรงนี้
"ทุกๆ ประเทศใช้ถ่านหิน เพราะถูกที่สุด มีใช้ได้อีกเป็นร้อยปี น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ก็จะหมดไปตัวเลขต่างๆ น้อยลงเรื่อย เมื่อถ่านหินมีให้ใช้เป็นร้อยปี ทำไมเราไม่เข้าหามัน"
@ ความเป็นไปได้ พลังงานนิวเคลียร์
นิวเคลียร์ ภาคอุตสาหกรรมสนับสนุนนะ เพราะต้นทุนถูกที่สุด ส่วนความกลัว เราก็ต้องดูประเทศอื่นประกอบด้วย ไม่ใช่ดูเรื่องราคาถูกอย่างเดียว สิ่งแวดล้อมไม่เสียหาย อะไรดีย่อมมีข้อเสีย ก็ต้องดูพัฒนาการของเทคโนโลยีด้วย ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทยต้องศึกษา และตามโลกให้ทัน