ดร.พรายพล ชี้แก้วิกฤตพลังงานให้ตรงจุด อย่าผลักภาระให้ผู้บริโภค
แหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานา ปิดซ่อม นักวิชาการ ยันเป็นหน้าที่ปตท.ต้องเจรจาปรับสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกันใหม่ ให้มีการชดเชยส่วนต่าง หวั่นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าใช้พลังงานอื่นแทน แพงกว่า งุบงิบผลักภาระมาที่ผู้ใช้ไฟ
วันที่ 3 เมษายน ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวในงานสัมมนา “ประเทศไทยกับการรองรับวิกฤตพลังงานไฟฟ้าในอนาคต” จัดโดย คณะกรรมาธิการพลังงาน วุฒิสภา ณ ห้องรับรอง 1-2 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 ถึงกรณีแหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานา เมียนม่าร์ กำหนดปิดซ่อมบำรุง จนส่งผลกระทบต่อกำลังสำรองผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย ลดลงไป 4,100 เมกกะวัตต์ ว่า ยังโชคดีเราที่รู้ล่วงหน้า ทุกภาคส่วนมีการเตรียมความพร้อม จึงเชื่อว่า ระบบจะไม่ล่ม ไม่จะไม่ดับ
ศ.ดร.พรายพล กล่าวถึงผลวิจัยของสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เคยศึกษาไว้เมื่อปี 2544 – 2545 ถึงผลกระทบที่เกิดจากไฟฟ้าดับ ระบุชัดว่า หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ภาคอุตสาหกรรมจะเสียหายมากที่สุด ด้วยกระบวนการผลิตที่หยุดชะงัก ซึ่งช่วงการศึกษาปี 2544 – 2545 พบว่า มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ หากกำลังการผลิตไฟฟ้าหายไปนั้นอยู่ที่ 60 บาทต่อหน่วย นี่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของไฟฟ้า
แต่เมื่อคำนวณความเสียหายทางเศรษฐกิจ ณ เวลาปัจจุบัน หากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้นจริง รวมกับภาวะเงินเฟ้อแล้วนั้น ศ.ดร.พรายพล กล่าวว่า มูลค่าของกำลังการผลิตไฟฟ้าที่หายไปจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้นเป็น 80 บาทต่อหน่วย หรือคิดเป็นตัวเลขง่าย 320 ล้านบาทต่อชั่วโมง ( 3,200 ล้านบาทต่อวัน)
“ประเทศไทยใช้ก๊าซผลิตพลังงานไฟฟ้าถึง 70% เมื่อขาดแคลนจำเป็นต้องหันมาใช้น้ำมันเตา และดีเซล ผลิตแทน ซึ่งมีราคาแพงกว่า จะส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องรับภาระต้องส่วนนี้อย่างไม่มีทางเลือก ฉะนั้น หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องเจรจาปรับสัญญาการซื้อขายก๊าซธรรมชาติกันใหม่ ให้มีการชดเชยส่วนต่าง ไม่ใช่ผลักภาระมาที่ผู้ใช้ไฟ”
ทั้งนี้ ศ.ดร.พรายพล กล่าวด้วยว่า จากการศึกษาเรคกูเลเตอร์ อะไรๆ ทั้งหลาย ผู้ใช้ไฟรับผิดชอบหมด ไม่ว่านโยบายใช้ไฟฟรี ช่วงหลังๆ ก็โยนภาระให้ผู้ใช้ไฟรายใหญ่ โรงงานอุตสาหกรรม บ้านที่อยู่อาศัยที่ใช้ไฟมากก็รับไปบางส่วน หรือพลังงานสะอาดโซล่าเซลล์ การรับซื้อไฟฟ้า (แอดเดอร์) ผู้ใช้ไฟก็รับภาระ อุดหนุนกันเอง รัฐบาลไม่เคยอุดหนุนเลย
“ ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ได้รวยหมดทุกคน ฉะนั้นอะไรๆ อย่ามาลงที่ผู้ใช้ไฟ ผมจึงเสนอว่า เรื่องพลังงานที่รัฐบาลอยากช่วยประชาชนที่ยากจน อุดหนุนอยู่ ก็ควรไปจัดเก็บภาษี หาเงินในส่วนอื่นช่วยคนที่สมควรช่วยในการใช้ไฟ เช่น คนยากจน คนในชนบท เป็นต้น”