อุบัติเหตุรถสาธารณะสูง ‘อัมมาร’ ชี้ประกัน-ชดเชย ‘คน’ ด้อยกว่า ‘สินค้า’
ทีดีอาร์ไอ เผยผลสำรวจผลกระทบ การประกัน-ชดเชยผู้เสียหายอุบัติเหตุรถสาธารณะ ชี้ค่าเสียหายไม่เหมาะสม ล่าช้า แนะวางนโยบายกำกับจริงจัง บ.ประกัน-ผู้ประกอบการร่วมจ่าย
วันที่ 3 เมษายน สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน นำเสนอผลการศึกษา "โครงการอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ : ผลกระทบ การประกันภัย และการชดเชยเยียวยา" โดย ดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และนพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ร่วมนำเสนอ
ดร.สุเมธ กล่าวว่า คณะวิจัยได้ทำการสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประสบอุบัติเหตุโดยสารรถสาธารณะในประเทศไทย จาก 142 กลุ่มตัวอย่าง พบว่า ผู้ประสบอุบัติเหตุร้อยละ 54 จะใช้ระยะเวลารักษาพยาบาลมากกว่า 1 เดือน จึงสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ ทั้งนี้ จำนวนเงินชดเชยที่ได้รับอาจไม่เพียงพอต่อค่ารักษาพยาบาลจริง โดยขึ้นอยู่กับอาการบาดเจ็บ หรือการเสียชีวิต
"ผู้ประสบอุบัติเหตุต้องใช้เวลานานในการดำเนินการชั้นศาล เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย เฉลี่ยประมาณ 18-19 เดือนในการไกล่เกลี่ย เนื่องจากมีปัญหาด้านความล่าช้าในการพิสูจน์ถูกผิด
ขณะที่ทางบริษัท ขนส่ง จำกัด พบปัญหาเรื่องขาดความเข้าใจในสิทธิคุ้มครอง และต้องการจบปัญหาโดยเร็ว แม้จะไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ตาม ข้อเท็จจริงเรื่องวงเงินคุ้มครองตามกฎหมาย ค่าเสียหายยังไม่มีความเหมาะสมเท่าที่ควร อย่างในกรณีอาการบาดเจ็บร้ายแรง" ดร.สุเมธ กล่าว และว่า วงเงินคุ้มครองที่เป็นความเสียหายต่อการบาดเจ็บร่างกายของประเทศไทยค่อนข้างต่ำ และไม่มีวงเงินคุ้มครองสำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สิน เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ
ดร.สุเมธ กล่าวต่อว่า จากปัญหาดังกล่าว บริษัทประกันภัย สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และผู้ประกอบการรถโดยสารควรร่วมกันแก้ไข โดยเพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาลที่คุ้มครอง และไม่ต้องรอการพิสูจน์ มีการแยกกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพออกจากค่ารักษาพยาบาล สร้างกลไกชดเชยค่าเสียหายที่เกิดจากการขนส่งตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก และสร้างระบบร่วมจ่ายระหว่างบริษัทประกันภัยกับผู้ประกอบการ
ขณะที่นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า บริษัทประกันภัย สามารถมีส่วนร่วมในการออกมาตรการเพื่อป้องกันอุบัติเหตุได้ เช่น ให้มีการเก็บข้อมูลของคนขับรถโดยสารสาธารณะ เช่น ข้อมูลจากใบสั่ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้กำกับนโยบายด้านต่างๆ ทั้งกรมการขนส่งทางบก หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในการไปกำหนดนโยบายหรือมาตรการเพื่อควบคุมและป้องกันอุบัติเหตุ เช่น หากพบข้อมูลว่ามีการกระทำผิดกฎบ่อยๆ ดื่มสุรา หรือฝ่าไฟแดง จะถูกยกเลิกใบขับขี่
"ต้องยอมรับว่าขณะนี้ในเรื่องความปลอดภัยยังขาดกลไกเชิงนโยบายที่มากำกับดูแลอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ ผมกลัวว่าประชาชนจะชิน จากการเสพข่าวว่าอุบัติเหตุรถสาธารณะจนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ทั้งที่เป็นเรื่องที่ปล่อยปละไม่ได้ หลายกรณีที่ผ่านมามีการสูญเสียมากมาย นโยบายรัฐได้ติดตาม และแก้ไขปัญหานี้หรือไม่และอย่างไรบ้าง"
ระบบผู้ให้บริการรถสาธารณะ "โยนความผิด" ได้ง่าย
ด้านดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ร่วมแสดงความเห็นด้วยว่า นอกเหนือจากคนขับรถที่เป็นคนตัวเล็กๆ อันดับสุดท้ายที่มีความผิดแล้ว ควรพุ่งเป้าไปที่กระบวนการชดเชย หรือรับผิดชอบจากผู้มีอำนาจในการเดินรถ และผู้ได้รับอนุญาตให้ทำกิจการเดินรถด้วย เพราะที่ผ่านมากระบวนการนี้มีระบบที่ "โยนความผิด" ได้ง่าย จึงลอยตัวจากคดีมาตลอด จากนี้ไปสังคมและสื่อมวลชนต้องตั้งคำถามต่อให้มากขึ้น
"อย่างกรณีอุบัติเหตุใหญ่ที่ผ่านมา ที่มีทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ได้รับการเยียวยา ชดเชยหรือได้รับสิทธิอะไรบ้าง และที่สำคัญมีมาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกอย่างไรบ้าง ที่ผ่านมาเรื่องความปลอดภัยอยู่ที่กรมขนส่งทางบกเพียงหน่วยงานเดียว หากผู้ประกอบการ และบริษัทประกันภัยสามารถเข้ามามีส่วนร่วมด้วยในการออกมาตรการ และรับผิดชอบก็จะเป็นเครื่องมือที่ดีที่บังคับใช้ได้" ดร.อัมมาร กล่าว และว่า ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรถบรรทุกสินค้า ซึ่งมีการคุ้มครองที่ดี รัดกุมและการประกันภัยชั้นหนึ่ง นับว่าดีกว่ารถส่วนบุคคล และรถสาธารณะ ก็เป็นเรื่องแปลกที่เรามีระบบดูแลสินค้า ดีกว่าดูแลคน