แม่ทัพภาค4 คนใหม่หนุนเจรจา ชี้ "บีอาร์เอ็น" จุดไฟ ถ้ายอมจบ-ใต้สงบแน่
โดยปกติการเปลี่ยนตัวแม่ทัพภาคที่ 4 แต่ละครั้งก็มักจะถูกจับตาจากสังคมค่อนข้างมากอยู่แล้ว เพราะมีภารกิจสำคัญที่ต้องแบกรับ คือการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมานานร่วม 1 ทศวรรษ
แต่การเปลี่ยนตัวแม่ทัพภาคที่ 4 หนนี้ ซึ่งเพิ่งมีการส่งมอบหน้าที่ระหว่าง พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก อดีตแม่ทัพ กับ พล.ท.สกล ชื่นตระกูล แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่เมื่อวันอังคารที่ 2 เม.ย.2556 ได้รับการจับตาเป็นพิเศษ เพราะเสมือนเป็นการเปลี่ยนม้ากลางสงครามที่กำลังปรับกระบวนการรบจากการใช้อาวุธไปสู่การพูดคุยเจรจา
นอกจากนั้น ด้วยอายุราชการที่เหลือเพียง 1 ปี เพราะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่น 13 (ตท.13) ของ พล.อ.อุดมชัย ก็ทำให้แม่ทัพคนใหม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย
แนวนโยบายของเขากับการสานงานต่อ ก่องานใหม่ และท่าทีต่อกระบวนการสันติภาพที่เดินหน้าโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จึงนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในห้วงที่การพูดคุยสันติภาพกับขบวนการบีอาร์เอ็นเริ่มต้นไปแล้ว แต่ยังไม่เคยมีผู้แทนจากกองทัพภาคที่ 4 ไปร่วมด้วยเลยแม้แต่ครั้งเดียว!
O อายุราชการที่เหลือเพียง 1 ปี จะสามารถสานต่อนโยบายและโครงการต่างๆ ที่ทำมาได้มากแค่ไหน เวลาน้อยไปหรือไม่?
ผมตั้งใจอุทิศตนในการทำงานด้วยการมุ่งขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหาในพื้นที่ที่ได้ทำกันต่อเนื่องมาให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น โดยประเด็นของความต่อเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่เป็นคำสั่งของผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่ท่านแม่ทัพอุดมชัยทำมาตลอดระยะเวลา 2-3 ปี ผมเองเมื่อรับไม้ต่อจากท่านจะดำเนินการให้มีความต่อเนื่องต่อไปในกรอบเวลา 1 ปีที่รับผิดชอบ เพื่อผลักดันนโยบายต่างๆ ที่ได้เดินทางร่วมกันมา
ผมยืนยันว่าเราเดินทางมาไกลพอสมควรตามคำสั่งของ ผบ.ทบ.ที่ท่านให้นโยบายแก่พวกเรา และบอกได้ว่าตอนนี้ใกล้เข้าสู่จุดหมายที่ตั้งไว้แล้ว
O มองเห็นแสงสว่างแห่งสันติภาพหรือยังว่าจะกลับคืนมาเมื่อไร?
ผมคิดว่าในส่วนของพลังมวลชนได้ตอบสนองตามนโยบายของภาครัฐ ขณะที่ภาครัฐก็ได้ปฏิบัติตามแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานไว้ คือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ทั้งสองส่วนมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน เป็นแนวทางที่ท่านแม่ทัพคนก่อนทำร่วมกับพี่น้องประชาชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเห็นผลอย่างชัดเจน คนที่อยู่ในสามจังหวัดกับพวกเรานั้นยังอยู่ร่วมกันตลอด
ในส่วนของแม่ทัพอุดมชัย จริงๆ แล้วท่านก็ยังไม่ได้ไปไหน ท่านจะเดินหน้าประสานโครงการต่างๆ กับพี่น้องในพื้นที่เหมือนเดิม ส่วนผมจะสานต่องานและนโยบายมาทำให้เกิดความต่อเนื่องอย่างเคร่งครัด ให้มีความสำเร็จสูงสุด ถือเป็นภารกิจเพื่อประชาชนและประเทศชาติ อยากย้ำว่าเราเดินทางมาไกล และใกล้จุดหมายที่ตั้งไว้แล้ว
ผมคิดว่าสถานการณ์นับจากนี้ขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชนและขึ้นกับเจตจำนงของขบวนการบีอาร์เอ็นที่แสดงตัวอยู่ในปัจจุบันนี้ (แกนนำบางส่วนเปิดตัวเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพกับผู้แทนรัฐบาลไทย นำโดยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ) เพราะถ้าเจตจำนงของบีอาร์เอ็นต้องการยุติความรุนแรง ทุกอย่างก็จบ และความรุนแรงก็จะไม่เกิดขึ้น มีปัญหาอะไรที่เราต้องทำความเข้าใจกัน ก็ควรมาพูดคุยกัน ผมคิดว่ากระบวนการตรงนี้เป็นความต้องการของพี่น้องในพื้นที่
O ท่าทีของกองทัพภาคที่ 4 ต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมาหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่ากองทัพดูจะไม่ค่อยเห็นด้วย และไม่เคยส่งผู้แทนแม่ทัพภาคที่ 4 ไปร่วมในกระบวนการพูดคุย?
กระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) เป็นตัวแทนทำอยู่ และมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมกระบวนการนี้ เป็นเรื่องที่กองทัพเห็นด้วยอยู่แล้ว การพูดคุยระหว่างบีอาร์เอ็นท์กับ สมช.นั้นเป็นการพูดคุยในระดับรัฐบาล ส่วนในระดับพื้นที่เราก็ให้ข้อมูลในระดับพื้นที่ และถ้าต้องการบุคคลใดที่จะเข้าร่วม เราก็ยินดีให้การสนับสนุน
ตอนนี้กระบวนการเพิ่งเริ่มพูดคุยกันครั้งที่ 2 ในอนาคตถ้าผู้แทนของ สมช.มีความต้องการประการใด เราก็พร้อมให้การสนับสนุนโดยไม่ปฏิเสธ
O นโยบายพาคนกลับบ้านของอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 จะมีส่วนหนุนเสริมกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่หรือไม่?
จริงๆ แล้วเรื่องการพูดคุยกับผู้เห็นต่างจากรัฐนั้น ได้ดำเนินการมาตลอด ท่านแม่ทัพอุดมชัยตอนที่รับตำแหน่งก็ได้รับมอบนโยบายจาก ผบ.ทบ.ในเรื่องนี้ ให้หาหนทางยุติความรุนแรงด้วยการพูดคุย ซึ่งเราก็ได้มีการพูดคุยในระดับบุคคล ระดับครอบครัว และพยายามทำมาโดยตลอด ที่ผ่านมาก็เห็นผลของการพูดคุยว่ามีพี่น้องร่วมชาติของเราได้กลับเข้ามา และกลับคืบสู่สังคมเป็นจำนวนมาก
กระบวนการตรงนี้ที่ทำมา ชัดเจนว่าทหารไม่ได้ต้องการใช้ความรุนแรง และคนในขบวนการแบ่งแยกดินแดนหลายคนก็ไม่ได้ต้องการความรุนแรง เราจะทำอย่างไรเพื่อหาหนทางเพื่อให้เจตนารมณ์ของคนทั้ง 2 ฝ่ายมาอยู่ร่วมกันให้ได้
O ระหว่างที่รัฐบาลดำเนินกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ในพื้นที่ยังมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยมาก และมีกำลังพลสูญเสียอย่างต่อเนื่อง จะดำเนินการแก้ไขอย่างไร?
สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ แล้วไม่ได้เกิดจากนโยบายของรัฐบาลหรือทางการไทย แต่เกิดจากนโยบายของบีอาร์เอ็นที่ต้องการก่อเหตุรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของรัฐ ซึ่งนโยบายของรัฐมีแต่มุ่งพัฒนา พบปะพูดคุยเพื่อใช้สันติวิธี ส่วนความรุนแรงไม่ได้เริ่มจากฝ่ายรัฐ แต่เริ่มจากบีอาร์เอ็น ซึ่งถ้าหากบีอาร์เอ็นจบ ยุติการใช้ความรุนแรง ปัญหาทุกอย่างก็คงจบ
O ที่ผ่านมามีเสียงเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องนี้มีนโยบายอย่างไร?
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯมีขึ้นเพราะมีเหตุฉุกเฉิน ถ้าเหตุรุนแรงจบก็ไม่ฉุกเฉิน ยกเลิกได้ทันที ปัญหาคือยังมีความรุนแรงอยู่เรื่อยๆ มีขบวนการที่มีเจตจำนงใช้ความรุนแรงต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นข้อต่อรอง และใช้การก่อการร้ายในที่สาธารณะ จึงเกิดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน ฉะนั้นถ้าหยุดก่อเหตุเมื่อไหร่ เราก็ไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อนั้น
O อยากฝากอะไรถึงประชาชนในฐานะที่เข้ามารับตำแหน่งแม่ทัพภาค 4 คนใหม่?
นโยบายของรัฐบาลและ ผบ.ทบ.ที่สั่งการลงมายัง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ผ่านยุทธศาสตร์ 9 ข้อของรัฐบาล เราได้สั่งการและกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ปัญหาทุกอย่างยุติโดยเร็ว สิ่งที่เราทำขณะนี้คือสิ่งใดที่เราทำได้ เราจะทำไปก่อนล่วงหน้าโดยไม่ต้องรอการพูดคุยหรือต่อรอง
สำหรับประชาชนและสื่อมวลชนในพื้นที่ ขอให้ถือเป็นพี่น้องกัน หากมีสิ่งใดที่ไม่ถูกต้องขอให้บอกกล่าวกันและชี้แนะด้วย เพื่อภารกิจและการพัฒนาที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่ต่อไป
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.ท.สกล ชื่นตระกูล แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ (ภาพโดย สมศักดิ์ หุ่นงาม)