ตุลาการแถลง ‘รัฐไม่ผิดคดีมะละกอจีเอ็มโอ’ รอศาลตัดสิน กรีนพีซหวั่นมอนซานโต้ผูกขาด
ตุลาการแถลงคดียืนตามศาลปกครองกลาง ‘กรมวิชาการเกษตรไม่ได้ละเลยควบคุมมะละกอจีเอ็มโอ’ รอศาลปกครองสูงสุดตัดสิน กรีนพีซจี้ระงับมอนซานโต้ขอทดลองข้าวโพดต่อ หวั่นข้าว พริก ตามมา หวังผูกขาด
จากกรณีกลุ่มกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยื่นต่ออุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด ฟ้องร้องกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในข้อหาละเลยต่อหน้าที่ในการจัดการการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอสายพันธุ์ขกดำท่าพระ จนปล่อยให้หลุดออกสู่นอกแปลงทดลองแบบเปิด โดยได้ยื่นอุทรณ์ตั้งแต่ 31ก.ค.51 หลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องไว้
ศาลปกครองสูงสุดนั่งพิจารณาคดีเป็นครั้งแรก โดยนายวรศักดิ์ อารีเปี่ยม ตุลาการผู้แถลงคดียืนคำพิพากษาตามศาลปกครองกลาง ว่ากรมวิชาการเกษตรไม่ได้ละเลยปฏิบัติหน้าที่กรณีมะละกอปนเปื้อนจีเอ็มโอ มีหลักฐานระบุว่าหลังจากพบการปนเปื้อนในพื้นที่นครสวรรค์ มหาสารคาม ยโสธร ก็มีการประกาศเขตควบคุมศัตรูพืช และใช้วิธีทำลายโดยการฝังกลบ ซึ่งแม้จะไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องที่สุดตาม แต่ก็เป็นดุลยพินิจในการเลือกวิธีการจัดการ นอกจากนี้ยังมีการติดตามตรวจสอบปัญหาการปนเปื้อนอย่างต่อเนื่องตลอดปี 47-50 ในหลายพื้นที่ เช่น นครสวรรค์ นครนายก ชุมพร ระยอง ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ระยอง ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องกล่าวอ้างว่าพบการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอที่กาญจนบุรีในปี 2552 นั้นพบว่าเป็นมะละกอพันธุ์ฮาวาย คนละสายพันธุ์กับที่กรมวิชาการเกษตรทดลองในแปลงเปิด จึงเป็นคนละกรณีกัน
ด้านนายพลาย ภิรมย์ ผู้จัดการฝ่ายรงรณค์ประจำประเทศไทย กรีนพีชเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่าคดีนี้ยืดเยื้อมา 5 ปีหลังจากกรีนพีชตรวจสอบการหลุดรอดมะละกอจีเอ็มโอสายพันธุ์ดังกล่าวจากแปลงทดลองแบบปิดปนเปื้อนสู่แปลงเกษตรกรตั้งแต่ 27ก.ค.47 โดยกรมวิชาการเกษตรที่สถานีวิจัยและพัฒนา การเกษตรที่ 3 อ.ท่าพระ จ.ขอนแก่น และทางกรีนพีชได้เข้าไปทำลายแปลงปลูกจนกระทั่งถูกฟ้องร้องจากกรมวิชาการเกษตรในคดีอาญาบุกรุก แต่ศาลยกฟ้องว่ากรีนพีซไม่ผิดและเป็นความชอบที่ออกมาปกป้องสิ่งแวดล้อม
เจ้าหน้าที่กรีนพีซ กล่าวอีกว่าหลังจากนั้นยังคงพบการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอกระจายไปในพื้นที่อื่นๆอย่างต่อเนื่อง จึงยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ต.ค.49 ว่ากรมวิชาการเกษตรยังละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่จนเกิดการปนเปื้อนและไม่สามารถควบคุมพืชจีเอ็มโอได้ ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งหยุดทดลองมะละกอจีเอ็มโอในพื้นที่เปิด แต่ 21 ก.ค.51 ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง กรีนพีชจึงยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง
"ไม่ว่าศาลจะพิจารณาออกมาอย่างไร แต่สิ่งที่ประจักษ์ชัดเจนคือพืชจีเอ็มโอในแปลงเปิด และในไร่นาไม่สามารถควบคุมการแพร่กระจายได้ ทั้งในแง่ของอำนาจการควบคุมโดยกรมวิชาการเกษตร และโดยธรรมชาติของมันเอง เพราะตลอดระยะเวลาตั้งแต่กรณีมอนซานโต้นำเข้าฝ้ายจีเอ็มโอเข้ามาจนถึงมะละกอในปี 2552 ยังมีการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอในกาญจนบุรี นครสวรรค์ รวมทั้งพืชชนิดอื่นๆ เช่น ข้าวโพด พริก ชี้ให้เห้นว่าการตรวจสอบและกฎหมายควบคุมของไทยยังไม่มีประสิทธิภาพ"
นายพลาย ยังกล่าวถึงสถานการณ์พืชจีเอ็มโอในประเทศไทยว่า ค่อนข้างกังวลต่อกรณีที่บริษัทมอนซานโ (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นเอกสารขออนุญาตดำเนินโครงการวิจัยข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมสายพันธุ์ NK603 ซึ่งทนต่อยาฆ่าหญ้าประเภท glyphosate ในแปลงทดลองแบบเปิด กับกรมวิชาการเกษตร โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ซึ่งถือว่าใช้ช่องมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)25ธ.ค.50 ที่กำหนดเงื่อนไขว่าการทดลองในพื้นที่เปิดจะต้องทำในพื้นที่ของรัฐ ต้องมีการรับฟังความเห็นจากประชาชน และต้องยื่นเสนอ ครม. โดยคาดว่ามอนซานโตคงจะเดินหน้าในเร็วๆนี้ เนื่องจากพบความผิดปกติในการรับฟังความเห็นของประชาชนอย่างรวบรัดหลังจากเพิ่งจะลงนามร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวร 20 ก.พ.นี้
"ปี 2538 มอนซานโตเคยนำเข้าฝ้ายจีเอ็มโอหรือฝ้ายบีทีมาทดลองในแปลงเปิดที่ จ.เลย แต่มีการหลุดรอดไปยังแปลงเกษตรกรมาแล้วครั้งหนึ่ง ดังนั้นในการยื่นขอปลูกพืชจีเอ็มโอในปีนี้ จึงน่าเป็นห่วงในมาตรการควบคุมไม่ให้กระจายไปในสิ่งแวด้อมและแปลงเกษตรอื่นๆ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการนี้เอาไว้ก่อน"
โดยก่อนหน้านี้ได้ยื่นหนังสือคัดค้านให้ยุติโครงการวิจัยไปยังมหาวิทยาลัยนเรศวรและมอนซานโต้แต่ 11มี.ค.56 แต่ไม่ได้รับตอบรับ ทั้งนี้กรีนพีซเชื่อว่าขณะนี้มอนซานโตพยายามยืมมือหน่วยงานรัฐเป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจ เพราะถ้าทดลองสำเร็จก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการปลูกเชิงพานิชย์ โดยมอนซานโต้เป็นผู้ขายและควบคุมเมล็ดพันธุ์และยาฆ่าแมลงที่ผลิตเพียงผู้เดียว อีกทั้งถ้ารัฐอนุญาตข้าวโพดจีเอ็มโอได้จะเท่ากับปลดล็อกพืชจีเอ็มโอชนิดอื่นให้เข้ามาทดลองในประเทศไทย โดยเฉพาะข้าวและ พริก ที่น่าจะตามมาได้ .
ที่มาภาพ : http://www.dmsc.moph.go.th/webroot/BQSF/file/pastnews/News/gmo2.htm