24 ศัพท์บัญญัติด้านสันติภาพและความขัดแย้ง (1)
อาจารย์โชคชัย วงษ์ตานี จากสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (ม.อ.หาดใหญ่) เขียนบทความชื่อ "24 ศัพท์บัญญัติด้านสันติภาพและความขัดแย้งที่ควรทำความเข้าใจก่อนและหลังการพูดคุยสันติภาพ 28 มี.ค." เป็นบทความขนาดยาวกว่า 10 หน้ากระดาษ อธิบายคำศัพท์สำคัญๆ เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพอย่างละเอียด
"ทีมข่าวอิศรา" เห็นว่าเป็นข้อเขียนที่น่าสนใจและช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพซึ่งรัฐบาลไทยกำลังเริ่มกระบวนการกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็น จึงตัดสินใจนำบทความชิ้นนี้มานำเสนอ แต่ขอตัดแยกออกเป็น 2 ตอน เพื่อให้อ่านง่ายและไม่ยาวเกินไป
อภิธานศัพท์สันติภาพ
ก่อนและช่วงเวลาของการ "พูดคุยสันติภาพ" การเตรียมตัวที่สำคัญของทั้งฝ่ายรัฐ ฝ่ายตัวแทนก่อการ คนกลาง หรือกลุ่มภาคประชาสังคมที่ติดตามปัญหา ควรให้ความสำคัญกับการทำความเจ้าใจศัพท์แสงด้านสันติภาพและความขัดแย้ง เพื่อเตรียมตัวและสร้างความเข้าใจเบื้องต้นต่อคำศัพท์เหล่านั้นให้ตรงกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องเข้าใจและเห็นร่วมถึงความหมายของศัพท์พื้นฐานเหล่านี้ในทิศทางเดียวกัน เพราะความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความสลับซับซ้อนระหว่างเหตุการณ์เฉพาะท้องถิ่นที่จำเป็นต้องใช้หลักวิชาในการแก้ปัญหา และเชื่อมโยงเข้ากับหลักศาสตร์สันติภาพสากล
ในการนี้จึงขอหยิบยก 24 ศัพท์บัญญัติด้านสันติภาพและการจัดการความขัดแย้ง (พร้อมคำศัพท์เทียบเคียงในภาษามลายูกลาง) ที่ระบุใน "glossary of key terms" (ศัพท์ที่เป็นกุญแจสำคัญ) ซึ่งได้รับการนิยามโดย School of Peace and Conflict Management แห่ง Royal Roads University ประเทศแคนาดา (เคยจัดการเรียนการสอนร่วมกับสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และสถาบันเครือข่าย) มาใช้เป็นตัวอย่างในการยกร่างการนิยามความหมายศัพท์เฉพาะดังกล่าว พร้อมทั้งการขยายความเนื้อหาสาระที่เชื่อมโยงกับบริบทความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเทศไทยด้วย
1. Peace Building การเสริมสร้างสันติภาพ (ภ.มลายูกลาง pembangunan, binaan/keamanan) คือ กระบวนการพื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ในการสร้างความสันตินั้น ต้องการการยอมรับความแตกต่าง การขอโทษ และการให้อภัยในการกระทำที่ไม่เหมาะสมหรือรุนแรงที่ผ่านมา และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทุกฝ่ายให้มาแทนที่ความสัมพันธ์แบบศัตรูคู่แข่งขัน
การเสริมสร้างสันติภาพต่างจากคำว่า Peacekeeping ซึ่งหมายถึงการรักษาสันติภาพ (ภ.มลายูกลาง menjaga, mengawal/ keamanan) ตรงที่ศัพท์คำหลังหมายถึง การป้องกันหรือการยุติความรุนแรงระหว่างประเทศหรือภายในรัฐชาติ (nation-state) โดยมีบุคคลที่สาม/ฝ่ายที่สามจากภายนอกเข้ามาทำหน้าที่ เพื่อไม่ให้คู่ขัดแย้งมีการปะทะต่อสู้กัน การรักษาสันติภาพ (peacekeeping) แตกต่างจากการสร้างสันติภาพ (peacemaking) ที่เป็นการเจรจาต่อรองหาทางแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งหนึ่งๆ โดยจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการรักษาสันติภาพ คือการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีกเท่านั้น
ในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเทศไทย เป็นการป้องกันและการพยายามที่จะยุติการใช้ความรุนแรงภายในประเทศ โดยมีทางการมาเลเซียเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายที่สามที่ไม่ใช้การเจรจาต่อรอง หากแต่ใช้การพูดคุยปรึกษาหารือเพื่อการป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก อันเป็นส่วนหนึ่งที่นับได้ว่าอยู่ในเงื่อนไขของการรักษาสันติภาพ
2. Negotiation การเจรจาต่อรอง (ภ.มลายูกลาง Perundingan) สามารถกล่าวได้ว่า การเจรจาต่อรองเป็นรูปแบบพื้นฐานของการแก้ปัญหาข้อพิพาท ในการเจรจาจำเป็นต้องมีคู่กรณีเข้ามาร่วมกันในการพิจารณาถึง "ความสนใจ" (interests) และ "ความต้องการ" (needs) ของพวกเขา และร่วมมือกันในการหาทางแก้ปัญหาที่เป็นไปได้และให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดต่อทุกฝ่าย การเจรจาต่อรองสามารถสำเร็จลุล่วงได้เพราะความร่วมมือ ดังเช่นในหลักการเจรจาต่อรอง (principled negotiation) อีกทั้งยังสามารถเป็นไปในรูปแบบของการแข่งขัน ดังเช่นในการจำแนกเนื้อหาสาระของการเจรจาต่อรอง (distributive bargaining)
การเจราต่อรองเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จำเป็นอย่างขาดไม่ได้ในกระบวนการสร้างสันติภาพ เช่นเดียวกับการพูดคุยสันติภาพระหว่างทางการไทยและตัวแทนกลุ่มขบวนการผู้ก่อการในชายแดนใต้ประเทศไทย
3. Third Party ฝ่ายที่สาม (ภ.มลายูกลาง pihakketiga.) คือ บุคคลหนึ่งซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวพันกับความขัดแย้ง และพยายามที่จะช่วยให้คู่ขัดแย้งสามารถหาทางแก้ไขปัญหา หรืออย่างน้อยที่สุดก็ช่วยให้สถานการณ์ความขัดแย้งทุเลาลง เช่น คู่ขัดแย้งมีการพูดคุยกันในทางที่ดีขึ้น หรือมีความเข้าใจที่ตรงกันมากขึ้น บทบาทตัวอย่างของฝ่ายที่สาม ได้แก่ ผู้ไกล่เกลี่ย (mediators) อนุญาโตตุลาการ (arbitrators) ผู้ส่งเสริมการประนีประนอม (conciliators) และ ผู้อำนวยความสะดวก (facilitators)
ในการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับตัวแทนฝ่ายขบวนการปลายเดือน มี.ค.2556 ฝ่ายที่ทำงานในบทบาทนี้คือ ทางการมาเลเซีย
4. Positions จุดยืน/ตำแหน่ง (ภ.มลายูกลาง kedudukan, posisi) คือ สิ่งที่ผู้คน/แต่ละฝ่ายบอกว่าพวกเขาต้องการอะไร ซึ่งก็คือความต้องการคร่าวๆ ที่พวกเขาต้องการจากฝ่ายตรงข้ามนั่นเอง
ผู้ที่จำแนกความแตกต่างระหว่าง "ความสนใจเฉพาะ" (interests) กับ "จุดยืน/ตำแหน่ง" (positions) เช่น นักวิชาการด้านการจัดการความขัดแย้งอย่าง Fisher และ Ury สรุปไว้ว่า "จุดยืน/ตำแหน่ง" เป็นสิ่งที่ผู้คนได้ทำการตัดสินใจเลือก ในขณะที่ "ความสนใจเฉพาะ" เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้พวกเขาเลือกเช่นนั้น บ่อยครั้งที่จุดยืน/ตำแหน่งของคู่กรณีมีความขัดแย้งกัน แม้ว่าจริงๆ แล้วแต่ละฝ่ายมีความสนใจเฉพาะที่เหมือนกัน
ในกรณีปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ประเด็นนี้สำคัญมาก แม้ทั้งสองฝ่ายจะแสดง "สิ่งพวกเขาต้องการจากฝ่ายตรงข้าม" ออกมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังนับว่าเป็นการเผยท่าทีเบื้องต้น ซึ่งเมื่อเกิดการพูดคุยกันแล้ว "จุดยืน/ตำแหน่ง" อาจขยับเขยื้อนได้บ้างตามกรอบกติกาและความเป็นไปได้ของแต่ละฝ่าย เป้าหมายของการพูดคุยสันติภาพในครั้งนี้คงต้องแสวงหาและเผยออกถึง "จุดยืน/ตำแหน่ง" ของทั้งสองฝ่าย ทั้งทางการไทยและฝ่ายขบวนการ ซึ่งฝ่ายหลังอาจมีความแตกต่างหลากหลายตามเป้าหมายของ (แต่ละ) กลุ่มขบวนการของตน (รวมถึงฝ่ายอำนวยความสะดวกอย่างมาเลเซียก็จำเป็นที่จะต้องเปิดเผยจุดยืน/ตำแหน่งให้ชัดเจน) แต่การพูดคุยอย่างเป็นกระบวนการเป็นขั้นเป็นตอนจะส่งผลให้ทุกฝ่ายสามารถกำหนด "จุดยืน/ตำแหน่ง" ใหม่ที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและความเป็นจริงของสังคมที่เปลี่ยนไป และอาจเกิดการน้าวโน้ม การสร้างการยอมรับหรือปฏิเสธในสิ่งที่แต่ละฝ่ายคาดหวังและต้องการการตอบสนองจากฝ่ายตรงข้ามได้
5. Mediation การไกล่เกลี่ย (ภ.มลายูกลาง pengantaraan) คือ การที่บุคคลที่สามเข้าไปมีส่วนในการแทรกแซง (intervention) คู่กรณีในการเจรจาหาข้อตกลงหนึ่งๆ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่คู่กรณีมีทางเลือกที่จะยอมรับหรือไม่ก็ได้ ในบางกรณี ผู้ไกล่เกลี่ย mediators (ภ.มลายูกลาง pengantara) ทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาในรูปแบบของการเจรจาหาข้อตกลงให้แก่คู่พิพาทที่กำลังมีข้อพิพาทกันอยู่ ในกรณีอื่นๆ การไกล่เกลี่ยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาความสัมพันธ์ เพราะคาดว่าหากความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีดีขึ้นอาจนำไปสู่ทางออกของข้อขัดแย้ง หรือการเผชิญหน้าอย่างสร้างสรรค์
ในกรณีการพูดคุยสันติภาพในวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่ใช่ขั้นของการไกล่เกลี่ย เพราะยังเป็นช่วงของการเริ่มต้นพูดคุยอย่างเป็นทางการ ไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะต่อรองหรือหาข้อตกลง แต่อยู่ในขั้นการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณี
6. Facilitation การอำนวยความสะดวก (ภ.มลายูกลาง Fasilitasi, pemudahan) การอำนวยความสะดวก เป็นหน้าที่ของบุคคลที่สามในการช่วยให้คู่กรณีได้พบปะพูดคุย ผู้อำนวยความสะดวก (facilitor) จะช่วยคู่กรณีในการกำหนดกติการ่วมพื้นฐานที่บังคับใช้ต่อทุกฝ่าย และระเบียบวาระการประชุมในแต่ละครั้ง ช่วยให้คู่กรณีทุกฝ่ายได้รับข่าวสารตลอดเวลา และดำเนินการค้นหาเป้าหมายของแต่ละฝ่ายที่ตรงกัน
ผู้อำนวยความสะดวก "facilitor" อาจคล้ายคลึงกับผู้ไกล่เกลี่ย "mediator" ในเรื่องของการมีส่วนช่วยเหลือในการหาทางแก้ไขปัญหา แต่ข้อยุติจากการหาทางออก (resolution) ไม่ใช่จุดมุ่งหมายหลักของผู้อำนวยความสะดวก ในกรณีนี้ตรงกับบทบาทและหน้าที่ของทางการมาเลเซียที่ต่อมีการพูดคุยสันติภาพระหว่างทางการไทยกับกลุ่มผู้ก่อการในจังหวัดชายแดนภาคใต้
7. Identity อัตลักษณ์ (ภ.มลายูกลาง identiti) หมายถึง รูปแบบที่ผู้คนยึดถือด้วยตัวเขาเอง เช่น ความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งในหมู่เหล่าต่างๆ หรือจุดยืนของตนที่ผู้คนใช้เพื่ออธิบายความเป็นตัวตนให้ผู้อื่นรับรู้ ประเด็นนี้ชัดเจนในกรณีปัญหาชายแดนใต้ ส่วนหนึ่งของปัญหาเป็นเรื่องการกดทับและบังคับให้เป็นระหว่างเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่แตกต่างและหลายประเด็นขัดกับอัตลักษณ์ของชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่
ส่วนความขัดแย้งด้านอัตลักษณ์ Identity Conflict (ภ.มลายูกลาง konflik identity) คือ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคลหนึ่งหรือคนกลุ่มหนึ่งมีความรู้สึกว่า ความเป็นตัวตนของพวกเขา "sense of self" ถูกคุกคาม ไม่ได้รับความชอบธรรม หรือไม่ได้รับความเคารพ ชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รู้สึกถึงการไม่เป็นที่ยอมรับตัวตน อัตลักษณ์ และรูปแบบการดำเนินชีวิตที่มีลักษณะและระบบคุณค่าในแบบเฉพาะจากรัฐไทยที่ปกครองคนในพื้นที่
8. Problem Solving การแก้ไขปัญหา (ภ.มลายูกลาง penyelesaianmasalah) การแก้ไขปัญหาในบางครั้ง หมายถึง การวิเคราะห์ปัญหาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขโดยผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อหาทางวิเคราะห์และแก้ไขความขัดแย้งที่มุ่งเน้นไปที่การระบุและจัดหาการตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ (the underlying human needs)
ในสถานการณ์อื่นๆ การแก้ไขปัญหาหมายถึง วิธีการเข้าหาการไกล่เกลี่ยที่มุ่งความสนใจไปที่การแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งการปรับปรุงความสัมพันธ์ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งจะเป็นส่วนสำคัญของการแก้ไขปัญหา
นิยามความหมายของคำว่า Problem solving ในภาษามลายูกลาง คือ "Kaedahdan proses yang dilakukanuntukmenyelesaikanmasalah yang dihadapi" หมายถึง "วิธีการและกระบวนการสำหรับใช้ในการแก้ไข/คลี่คลายปัญหาที่ต้องเผชิญอยู่ข้างหน้า"
9. Reconciliation ความสมานฉันท์ (ภ.มลายูกลาง berdamai) คือ การปรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือกลุ่มคนหนึ่งๆ ให้อยู่ในรูปแบบปกติ John Paul Lederach นักวิชาการคนสำคัญด้านการสร้างสันติภาพกล่าวไว้ว่า ความสมานฉันท์เกี่ยวพันกันสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน 4 อย่าง คือ การหาความจริง ความยุติธรรม สันติภาพ และความเมตตา เมื่อปัจจัย 4 ประการนี้มารวมกัน ความสมานฉันท์ก็จะสามารถสำเร็จลุล่วงไปได้
ในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศัพท์คำนี้ถูกใช้บ่อยครั้ง ใช้ตั้งชื่อ "คณะกรรมการอิสระ" ในสมัยรัฐบาลอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร แม้คณะกรรมการชุดดังกล่าวมีรายงานที่เป็นข้อเสนอแก่รัฐบาลและกองทัพหลายประการ แต่ไม่เป็นผลในทางปฏิบัติมากนัก แม้คำศัพท์คำนี้จะสร้างความชาชินแก่ผู้คนในพื้นที่ แก่ผู้ติดตามข่าวปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้ แต่ยังเป็นคำศัพท์ที่ไม่ควรถูกละเลย เพราะหากบรรลุผลทั้ง 4 ปัจจัยของคำๆ นี้แล้วความสันติสุขย่อมมีโอกาสกลับคืนมาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
10. World View มุมมอง/โลกทัศน์ (ภ.มลายูกลาง pandangandunia.) คือ ภาพลักษณ์พื้นฐานของโลกในมุมมองของบุคคลหนึ่งๆ หรือความเชื่อหลักของบุคคลหนึ่งเกี่ยวกับลักษณะของสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เขาอยู่ มุมมอง/โลกทัศน์ ยังเกี่ยวพันถึงคุณค่าพื้นฐาน (fundamental values) ของบุคคลหนึ่งๆ เกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับความรู้สึกถึง "ตัวตน/อัตลักษณ์ของบุคคล" (person sense of identity) เนื่องจากมนุษย์เชื่อว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มของตัวเอง ไม่ใช่กลุ่มอื่น เป็นส่วนหนึ่งของการมีบทบาทเฉพาะในสังคมดังกล่าว และมีความสัมพันธ์แบบเฉพาะกับสมาชิกในกลุ่มนั้น ภาพลักษณ์ของบุคคลหนึ่งเป็นผลมาจากมุมมองของบุคคลนั้นที่มีต่อโลก และภาพลักษณ์ของเขาจะออกมาเป็นเช่นไรนั้น สัมพันธ์กับสมาชิกคนอื่นๆในสังคมที่เขาอาศัยอยู่
ในประเด็นนี้สำคัญมากสำหรับคณะผู้เจรจาฝ่ายไทย เพราะมีมุมมองการพูดคุยหรือการเจรจาบนฐานของกฎหมาย รัฐธรรมนูญ และกรอบอธิปไตย มีภาพลักษณ์ความเป็นรัฐชาติที่เป็นทางการกำกับ แต่ฝ่ายขบวนการปาตานีมีภาพลักษณ์ของหน่วยจรยุทธ์ใต้ดิน มีมุมมองทั้งประวัติศาสตร์ ดินแดน และอัตลักษณ์เป็นเครื่องมือต่อรองที่สำคัญในการสร้างความชอบธรรมในการบรรลุเป้าหมายการพูดคุยสันติภาพ
------------------------------------(โปรดติดตามอ่านต่อตอนที่ 2)----------------------------------------
บรรยายภาพ : พิธีลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ระหว่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. กับ นายฮัสซัน ตอยิบ ผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น เมื่อ 28 ก.พ.2556
ขอบคุณ : ภาพจากเว็บไซต์คมชัดลึก