‘ณรงค์’ ชี้ปรับค่าภาคหลวงน้ำมันหาเงินได้ กู้ 2 ล้านล้าน ทำไม?
'ณรงค์' ชมรัฐบาล คิดนโยบายดี แต่นับหนึ่งด้วย "กู้เงิน" ผิดหมด จี้เปิดเผยวิธีหารายได้แต่ละปี แนะปรับค่าภาคหลวงน้ำมันมาลงทุน เตือนขาดแคลนแรงงาน ทำโครงการสะดุด
ภายหลังมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ...หรือ พ.ร.บ.เงินกู็ 2 ล้านล้านบาท ผ่านวาระ 1 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว สำนักข่าวอิศรา สัมภาษณ์ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงประเด็นดังกล่าว ว่า โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล ที่จะมีการก่อสร้างระบบราง รถไฟความเร็วสูงและเส้นทางคมนาคม ตนเห็นด้วยในการปรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่ง แต่สำหรับวิธีการหาเงินที่ได้มีการผ่าน ร่าง พ.ร.บ.นี้ ไปแล้วนั้น ตนไม่เห็นด้วย เพราะมีวิธีการหาเงินมากมายโดยไม่จำเป็นต้องกู้
"รัฐบาลมีความคิดที่ดีในการทำนโยบาย ทั้งการปรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ การช่วยเหลือชาวนาและแรงงานที่ยากจน แต่ในกระบวนการของรัฐบาล แค่เริ่มต้นนับหนึ่งด้วยการ "กู้เงิน" หรือใช้เงินทุ่มลงไปมหาศาลก็ผิดแล้ว เมื่อก้าวเดินผิด ทุกอย่างก็ผิดไปหมด"
รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลต้องบอกข้อมูลและรายละเอียดของโครงการต่อสาธารณะมากกว่านี้ โดยเฉพาะวิธีการหารายได้ในแต่ละปีตลอด 7 ปีที่รัฐบาลจะทำโครงการว่า จะใช้เท่าไหร่และมีที่มาของรายได้จากไหน
"หากรัฐบาลออกกฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับปิโตรเลียม ปรับค่าภาคหลวงให้เหมือนประเทศเวเนซุเอลา จะมีเงินเพิ่มขึ้นปีละ 3.5 แสนล้านบาท และตลอด 7 ปี จะมีเงินต่อเนื่องประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท โดยไม่ต้องกู้เลย แนวทางการหาเงินมีมากมาย ทำไมรัฐบาลไม่ทำ ทำไมรัฐบาลต้องกู้ ทำไมต้องไปผลักภาระไปให้ลูกเล็กเด็กแดง ทั้งที่สามารถผลักภาระไปให้นายทุนต่างชาติ หรือให้เอกชนร่วมลงทุนได้"
รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ตามแนวคิดของ โจเซฟ ชุมปีเตอร์ กล่าวถึง วัฎจักรธุรกิจ (business cycle) ที่ธุรกิจหรือเศรษฐกิจจะมีการขยายตัวและหดตัวหมุนเวียนเป็นช่วง ๆ ในระยะ 10-15 ปี เท่ากับว่าในทางธุรกิจเป็นการบริหารที่ไม่แน่นอน มีความผันผวน ใน 50 ปี จะเกิดประมาณ 3 ครั้ง คำถามคือ การลงทุนในระยะยาวของรัฐบาลจะมีแนวทางในการแก้ไขความเสี่ยงนี้อย่างไร
ทั้งนี้ ยังมีความเสี่ยงเรื่องปัญหาขาดแคลนแรงงาน ที่ รศ.ดร.ณรงค์ บอกว่า ทุกวันนี้ก็เกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากปัจจุบันไทยพึ่งแรงงานต่างด้าวเป็นหลัก โดยเฉพาะแรงงานพม่าเป็นแรงงานหลักที่กำลังเคลื่อนย้ายกลับประเทศ เพราะโครงการทวายที่พม่ากำลังเริ่มเดินเครื่อง เช่นเดียวกับการสร้างเมืองหลวงใหม่ที่กรุงเนปีดอที่ดึงแรงงานพม่ากลับประเทศ จึงเป็นไปได้ว่าโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จะขาดแคลนแรงงานมากขึ้น
"ความไม่แน่นอนเรื่องระยะเวลาในการก่อสร้างต่างๆ นี้อาจทำให้งานไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อีกทั้ง ไม่สามารถนำแรงงานจากลาว หรือกัมพูชามาทดแทนได้ เนื่องจากประเทศจีนก็เข้าไปทำโครงการมากมายในลาวและกัมพูชา ซึ่งในทางยุทธศาสตร์ จีนวางระบบรถไฟความเร็วสูงไว้มากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ หรือสินค้าเท่านั้น แต่ใช้ขนคน ขนแรงงานด้วย สำหรับไทย รถไฟรางคู่มีความจำเป็นมากกว่า ที่จะต้องก่อสร้างเพิ่ม เพื่อลดต้นทุนในการขนส่ง ทั้งนี้ นอกจากเรื่องถนนหนทาง ตัวหลักของต้นทุนคือ น้ำมัน ที่จะต้องมีการปรับค่าภาคหลวงครั้งใหญ่ควบคู่ไปด้วย"