คืนความเป็นธรรมทางคดี"ไม่ง่าย" เปิดตัวเลขหมายจับ-จุดอ่อนทีมเจรจา
ประเด็นที่กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็น ยื่นโจทย์ให้ทางการไทย "คืนความยุติธรรม" แก่พวกเขานั้น ถูกขยายความต่อโดยข่าวหลายกระแสว่าหมายถึงการยกเลิกบัญชีดำ 3 หมื่นรายชื่อ และการปล่อยตัวหรือนิรโทษกรรมนักโทษคดีความมั่นคง
เฉพาะเรื่องการนิรโทษกรรมนักโทษนั้น เป็น 1 ใน 9 ข้อเรียกร้องที่ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ทางหนังสือพิมพ์บางฉบับก่อนวันพูดคุยสันติภาพ (28 มี.ค.)
แม้ทั้ง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จะยืนยันตรงกันว่า ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐไม่ได้มีข้อเรียกร้องชัดเจนดังที่เป็นข่าว และไม่เคยมีข้อมูลเรื่องข้อเรียกร้อง 9 ข้อ เพราะข้อเท็จจริงจากโต๊ะพูดคุยเจรจาก็คือฝ่ายบีอาร์เอ็นให้ทางการไทยไป "ออกแบบ" การอำนวยความยุติธรรมมา แล้วนำมาเสนอในวงประชุมวันที่ 29 เม.ย. ซึ่งบีอาร์เอ็นก็จะ "ออกแบบ" การลดเหตุรุนแรงในพื้นที่มาเช่นกัน
อย่างไรก็ดี หนึ่งในผู้ร่วมวงพูดคุยสันติภาพให้ข้อมูลว่า สิ่งที่ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐซึ่งล้วนเป็นแกนนำระดับอาวุโสของขบวนการแบ่งแยกดินแดนพูดชัดเจนที่สุด คืออยากให้ปล่อยตัวนักโทษคดีความมั่นคงที่ศาลพิพากษาแล้ว ซึ่งโดยนัยยะย่อมหมายถึงสมาชิกระดับอาวุโสที่ติดคุกอยู่ และเป็นรุ่นราวคราวเดียวกับแกนนำที่ร่วมโต๊ะพูดคุยเจรจานั่นเอง
ทั้งนี้ หากพิจารณาลงลึกถึงประเด็น "ความเป็นธรรมทางคดี" ต้องยอมรับว่า "ไม่ง่ายเลย" ที่จะดำเนินการ เพราะไม่ใช่อำนาจเบ็ดเสร็จของฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) โดยสามารถแบ่งกระบวนการออกเป็น 4 ขั้นตอน 4 กลุ่มเป้าหมาย คือ
1.นักโทษหรือผู้ต้องขังที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว มาตรการที่ช่วยเหลือได้คือ "พักการลงโทษ" หรือย้ายกลับไปคุมขังยังเรือนจำบ้านเกิด ซึ่งมาตรการหลังได้ดำเนินการนำร่องไปแล้วกรณีแกนนำขบวนการพูโล 2 ราย (อ่านได้ใน รัฐโชว์จริงใจสั่งย้าย 2 แกนนำพูโลกลับเรือนจำบ้านเกิด) และมีผู้ต้องขังอยู่ในข่ายย้ายเรือนจำได้อีก 48 คน
ส่วนมาตรการพักการลงโทษ หรือ "พักโทษ" นั้น คือ การปล่อยตัวผู้ต้องขังออกจากเรือนจำไปก่อนครบกำหนดโทษตามคำพิพากษา กำหนดให้มีผู้แทนจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมร่วมเป็นกันกรรมการพิจารณา โดยผู้ต้องขังที่อยู่ในข่ายได้รับการพิจารณาต้องมีคุณสมบัติคือ
- เป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดที่มีความประพฤติดี มีความอุตสาหะ มีความก้าวหน้าในการศึกษา ทำการงานได้ผล
- ต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
- ในกรณีที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตต้องรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี
- ความป่วย ความชรา เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการพิจารณา แต่ต้องเข้าเกณฑ์ตามข้อ 1-3 ด้วย
ประเด็นนี้นับว่าเข้าเค้ามากที่สุดหากจะปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็น เพราะเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ปัจจุบันมีผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่ศาลพิพากษาแล้ว 339 คน (เฉพาะคดีความมั่นคงตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ไม่นับก่อนหน้านั้น)
2.จำเลยคดีความมั่นคงที่อยู่ระหว่างต่อสู้คดีในชั้นศาล แต่ไม่ได้รับการประกันตัว มีประมาณ 500 คน เกือบทั้งหมดอยู่ในเรือนจำสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มนี้หากจะช่วยเหลือก็ต้องใช้มาตรการ "ถอนฟ้อง" ซึ่งเป็นอำนาจของอัยการ ส่วนการให้ประกันตัวหรือพิพากษายกฟ้อง เป็นอำนาจเด็ดขาดของศาลยุติธรรม
3.หมายจับที่ออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ในคดีความมั่นคงมีทั้งสิ้น 4,253 หมาย หากจะช่วยเหลือก็ต้อง "ถอนหมาย" ซึ่งเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวน (ตำรวจ) ขึ้นกับฝ่ายบริหาร ล่าสุดเริ่มมีท่าทีจากเลขาธิการ สมช.แล้วว่าอาจหยิบบางคดีที่มีหลักฐานไม่หนักแน่นพอมาพิจารณาถอนหมายจับ
4.หมายเชิญตัวที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เรียกว่า "หมาย ฉฉ." มีทั้งสิ้น 4,745 หมาย การถอนหมายเป็นอำนาจของฝ่ายความมั่นคง
อย่างไรก็ดี การดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ดังกล่าว แม้บางขั้นตอนจะเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารโดยแท้ แต่ก็ "ไม่ง่าย" ที่จะดำเนินการ เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องย่อมไม่เห็นด้วย เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้ออกมาแสดงท่าทีชัดเจนแล้วว่าไม่เอาด้วยกับการปล่อยนักโทษคดีความมั่นคง
ส่วนการถอนหมายจับ ป.วิอาญา ก็สุ่มเสี่ยงกับการถูกฟ้องกลับ หรือบางกรณีอาจถูกกล่าวหาย้อนศรว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ความยาก" ส่วนหนึ่งมาจากการพูดคุยเจรจาแบบเปิดเผย ซึ่งกลายเป็นจุดอ่อนในการจัดการประเด็นอ่อนไหวที่อาจมีคนไม่เห็นด้วยจำนวนมาก ทั้งยังสะท้อนปัญหาของคณะพูดคุยสันติภาพเองที่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีผู้แทนจากกองทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ กระทรวงการต่างประเทศ และอัยการ เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน
ทั้งๆ ที่เป็นองค์ประกอบที่สามารถทำให้กระบวนการพูดคุยเจรจาสำเร็จหรือล้มเหลวได้เลยทีเดียว!
------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การย้ายผู้ต้องขังที่มีภูมิลำเนาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับไปคุมขังยังเรือนจำในท้องที่บ้านเกิดเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งมี 2 รายเป็นอดีตแกนนำพูโล (ภาพโดย ศอ.บต.)