สังศิต ชี้ลงทุน 2 ล้านล้าน เชื่อมจีนถึงคุ้ม จี้โปร่งใสให้ปชช.ตรวจสอบได้
เวทีเสวนา 'ความจริง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล.ล.' แนะ รบ.ศึกษารายละเอียด ลงทุนการขนส่ง คุ้มค่าจริงหรือไม่ ห่วงขาดทุนเหมือน รบ.ญี่ปุ่น หวั่นการศึกษา-สาธารณสุขไม่มีงบพัฒนา
วันที่ 30 มีนาคม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ กลุ่มกรีน (Green Politics) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม จัดอภิปรายวิชาการ เรื่อง "ความจริง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท...ใครได้ใครเสีย" ณ ห้องกมลทิพย์ ชั้น 2 โรงแรม เดอะ สุโกศล โดยมี รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต รศ.ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ อดีตคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ภาคธุรกิจ และ รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค สมาคมวิศวกรฯ ร่วมอภิปราย
รศ.ดร.สังศิต กล่าวว่า คนส่วนมากต่างก็เห็นด้วยว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีรถไฟฟ้าความเร็วสูง แต่ยังมีอีกหลายแง่มุมที่ควรต้องมีการตรวจสอบ ประเมินและจัดลำดับความสำคัญว่า โครงสร้างพื้นฐานใดสำคัญที่สุด ยกตัวอย่างอย่างแอร์พอร์ตลิงค์ ที่มีความทันสมัย แต่ได้ประโยชน์จริงหรือไม่ หลายโครงการที่ผ่านมาไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้อย่างเพียงพอ
"เมื่อพิจารณาทุกโครงการ ทั้ง รับจำนำข้าว การบริหารจัดการน้ำ รถคันแรก และโครงการอื่นๆ มีโอกาสที่งบจะบานปลายมากขึ้นจนควบคุมไม่ได้ แต่ที่สำคัญ โครงการนี้จะทำให้ประเทศไทยมีความหวังมากขึ้นหรือไม่ หรือยิ่งก่อความขัดแย้ง และการลงทุนด้านการขนส่งครั้งนี้จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้จริงหรือไม่ มากน้อยเพียงใด แต่อย่างไรแล้วการขนส่งทางน้ำก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ทั้งนี้ โครงสร้างที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุด คือ คน โดยเฉพาะด้านการศึกษา ที่ผ่านมาลงทุนน้อยที่สุดในโลก และอยู่ในอันดับที่ต่ำมาก"
รศ.ดร.สังศิต กล่าวต่อว่า ไทยต้องวางยุทธศาสตร์ร่วมกับประเทศจีน เพราะในอนาคตจีนจะกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ฉะนั้น ทางรถไฟความเร็วสูงที่จะไปถึงแค่โคราช หรือหัวหิน นั้นไม่มีประโยชน์เลย ลดต้นทุนการขนส่งได้ไม่ถึง 1% ต้องทำให้มีการเชื่อมต่อจากจีน ลงมากรุงเทพ และลงไปภาคใต้ โดยเริ่มต้นที่บางเส้นทาง แล้วจึงเพิ่มเส้นทางอื่น เพราะการลงทุนพร้อมๆ กันทั้งหมดอาจจะ "เจ๊ง" ทุกเส้นทาง เช่นเดียวกับการสร้างโรงพักทั่วประเทศ
ทั้งนี้ รศ.ดร.สังศิต กล่าวด้วยว่า รัฐบาลต้องยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารโครงการนี้ เริ่มต้นที่ความโปร่งใสให้เป็นแบบอย่าง แต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับยกเลิกขั้นตอนการประมูล ซึ่งเป็นวิธีการแข่งขันที่โปร่งใสมากกว่าการใช้วิธีพิเศษ เพียงแต่ต้องปรับวิธีการประมูลให้รัดกุมเป็นการแข่งขันอย่างแท้จริง รวมทั้ง เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น และให้ผู้แทนประชาชน อย่าง ส.ส. หรือ ส.ว.สามารถตรวจสอบได้ตามวิถีทางประชาธิปไตย
"การที่รัฐบาลใช้โวหาร ขอให้เชื่อรัฐบาล ว่าจะดูแลให้ดีที่สุดนั้นใช้ไม่ได้ ต้องมีการศึกษาออกมาให้เห็นชัดว่าโครงการจะบริหารจัดการอย่างไร ใช้จ่ายเงินอย่างไร มีความโปร่งใสอย่างไรและมีความคุ้มค่าอย่างไรจึงจะเชื่อถือได้ เมื่อก่อนการโกง ใครๆ บอกเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่เดี๋ยวนี้การโกงพัฒนาไปมาก เริ่มมีการโกงแบบถูกกฎหมาย พยายามทำให้ถูกกฎหมาย"
งบ 60% ทุ่มไปที่ระบบรถไฟความเร็วสูง
ขณะที่รศ.ดร.ไพโรจน์ กล่าวว่า ส่วนที่เห็นว่าเป็นข้อดีของโครงการนี้ คือการที่รัฐบาลให้ความสนใจปัญหาขนส่งและคมนาคม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ แต่งบประมาณในโครงการให้ความสำคัญไปที่ระบบรถไฟความเร็วสูงมากที่สุดถึง 60% ของงบทั้งหมด ในเรื่องบริหารจัดการยังมีคำถามว่าจะคุ้มค่าหรือไม่
"จากกรณีตัวอย่างการบริหารรถไฟความเร็วสูงของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งทำหน้าที่ดีมากมีความตรงต่อเวลาในการเคลื่อนย้ายคน แต่การบริหารจัดการนั้นขาดทุนและเป็นการขาดทุนที่สะสม จนต้องแปรรูปให้เอกชน ฉะนั้น ต้องศึกษาด้วยว่าคนจะมาใช้มากพอหรือไม่ ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลมีโครงการมากมายที่ใช้เงินลงทุนจากเงินงบประมาณ แล้วโครงการนี้มีความแตกต่างอย่างไรกับโครงการในอดีต เช่น การสร้างถนน สร้างเขื่อน จึงไม่สามารถใช้เงินงบประมาณปกติได้" รศ.ดร.ไพโรจน์ กล่าว และว่า การกู้เงินทั้งหมด อาจมีนัยยะสำคัญ เช่น รัฐบาลอาจมีปัญหาหรือภารกิจหลายเรื่องที่ต้องใช้เงิน อย่างปัญหาในโครงการจำนำข้าว เชื่อได้ว่าเงินสามารถโยกย้ายได้
"ผมไม่ได้คิดว่ารัฐบาลจะเขมือบ โกงกินอย่างเดียว อาจจะถึงเวลาที่ต้องกล้าลงทุนอย่างจริงจัง แต่คำถามคือ คุ้มค่าหรือไม่ และรถไฟความเร็วสูงจะเปลี่ยนประเทศไทยได้จริงหรือไม่ คำถามเหล่านี้ต้องศึกษาในรายละเอียด ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าโครงการนี้สามารถเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนได้ โดยไม่จำเป็นต้องกู้มากขนาดนี้"
คอร์รัปชั่นความเร็วสูงผ่านสไกป์
ด้านนายไพบูลย์ กล่าวว่า สิ่งที่ขัดรัฐธรรมนูญ ขัดกฎหมายตั้งแต่ต้น เป็นอะไรที่ต้องมีปัญหาอยู่แล้ว ฉะนั้น การเริ่มต้นโดยการกู้ และไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นก็ผิดตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่โครงการนี้ไม่ได้มีความเร่งด่วนใดๆ ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกเป็นกฎหมายฉบับพิเศษขึ้นมา และเป็นกฎหมายที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการวางแผน ตัดสินใจ และส่งเสริมให้ประชาชนช่วยตรวจสอบอำนาจรัฐยิ่งแสดงให้เห็นว่ามีปัญหา
"รัฐบาลนี้ด่วนทุกอย่าง จนอาจกลายเป็นคอร์รัปชั่นความเร็วสูงผ่านสไกป์"
ขณะที่ นายปรีดา กล่าวว่า จริงอยู่ที่ทุกคนเห็นตรงกันว่า โครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งที่ต้องทำ รถไฟความเร็วสูงใครก็อยากได้ แต่ต้องดูว่าความเร็วได้เท่าไหร่ อาจไม่เกิน 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยพิจารณาจากภูมิศาสตร์ และการขยายเมือง แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการหาเงิน และวิธีการใช้เงิน
"ทุกวันนี้โครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ยังแย่ ทั้ง การศึกษา และสาธารณสุข ผมเห็นด้วยว่าเราต้องลงทุน hard infrastructure แต่ก็ต้องทำควบคู่กับ Soft infrastructure ด้วย ผมห่วงว่าในอนาคตจะมีงบประมาณไม่เพียงพอสำหรับโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ยิ่งเมื่อดูสถิติโครงการในอดีตของรัฐบาลก็ไม่ค่อยน่าอภิรมย์นัก ทั้ง บ้านเอื้ออาทร และโครงการรับจำนำข้าว ที่สูญเสียงบประมาณไปหลายแสนล้านบาท ดังนั้น เมื่อตั้ง พ.ร.บ.ขึ้นมาใหม่ โดยใช้เงินนอกงบประมาณ จะทำให้การตรวจสอบทำได้ยากขึ้น การเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน อาจช่วยให้เกิดความโปร่งใสได้มากขึ้น.
ด้านรศ.ดร.ต่อตระกูล กล่าวในมุมมองวิศวกรว่า ได้ทราบข้อมูลจากวิศวกรว่ามีตัวอย่างบางโครงการในอดีตที่ใช้งบประมาณเพียง 2 หมื่นล้านบาท แต่พบกลับมีวิศวกรกินค่าหัวคิวในโครงการถึง 30% ฉะนั้น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีงบประมาณสูงถึง 2 ล้านล้านบาท จะมีการกินค่าหัวคิวและสิ้นเปลืองงบประมาณเพิ่มขึ้นอีกมากเท่าใด และในเงิน 2 ล้านล้านบาท หากมีการรั่วไหลแม้เพียง 10% ก็ราว 2 แสนล้านบาท อาจสามารถส่งผลถึงการนำไปใช้ในทิศทางอื่นๆ ที่ไม่อาจทราบได้อีกมาก