บัวแก้ว เปิดประเด็นเชิงลึก ใช้ต่อสู้คดีปราสาทเขาพระวิหาร
รองปลัดบัวแก้ว เชื่อมั่นแนวทางการต่อสู้ศาลโลก คดีปราสาทเขาพระวิหาร การตีความไม่สามารถออกนอกกรอบคำพิพากษาเดิมได้ ขณะที่ดร.วีระชัย ปัดพูดเรื่องแพ้ชนะ ด้านนักประวัติศาสตร์ ลั่นอดห่วงไม่ได้ "ไทยแพ้แล้วจะทำกันอย่างไร"
วันที่ 30 มีนาคม ชมรมนักข่าวอาเซียน จัดบรรยายสรุปสำหรับสื่อมวลชน เรื่อง “เขาพระวิหาร การตีความใหม่ และชะตากรรมของสองชาติ” ณ ห้องประชุม 2 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยนายณัฎฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิเล็กประไพ วิริยะพันธุ์ และดร.วีระชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ในฐานะทีมสู้คดีของฝ่ายไทย ดำเนินรายการโดย ดร.เจษฎา ศาลาทอง อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
นายณัฎฐวุฒิ กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีกัมพูชายื่นขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 และการดำเนินการของรัฐบาลไทย ว่า ทั้งกระบวนการชี้แจงด้วยเอกสารของไทยเสร็จสิ้นแล้ว มีประมาณ 1,300 หน้า ขณะที่กัมพูชามี 300 หน้า ซึ่งในวันที่ 15 เมษายนนี้ ศาลให้เปิดเผยต่อสาธารณชนได้
ส่วนกระบวนการให้ถ้อยแถลงด้วยวาจา ศาลกำหนดให้มีขึ้น 15-19 เมษายน 2556 นำโดยดร.วีรชัย และอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย พร้อมที่ปรึกษากฎหมายอีก 3 ท่านของฝ่ายไทย ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และแคนนาดา มีความเชี่ยวชาญแต่ละประเด็น ข้อกฎหมาย รวมทั้งมีการแบ่งหน้าที่การชี้แจงต่อศาล
รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวอีกว่า การขึ้นมรดกโลกเป็นอีกประเด็นหนึ่ง วันนี้กัมพูชาพยายามทำคดีปราสาทเขาพระวิหารให้เป็นเรื่องของเส้นเขตแดน เรามีข้อเท็จจริงบางอย่างบางเรื่องซึ่งเป็นประเด็นเชิงลึก ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชน เป็นอาวุธลับ จนทำให้ทีมทนายมีความเชื่อมั่นในแนวทางการต่อสู้ที่เรามีอยู่ โดยเฉพาะเมื่อปี 2502 หรือ 50 ปีที่แล้ว กัมพูชาเพิ่งได้เอกราชยื่นฟ้องไทย ให้ศาลโลกตัดสิน 2 ข้อ 1.ให้ไทยถอนกำลังออกจากปราสาทเขาพระวิหาร และ 2.ให้ศาลบอกให้ปราสาทเป็นของกัมพูชา ซึ่งไม่มีเรื่องเขตแดน
"กระทั่งปี 2505 กัมพูชาขอเพิ่มอีก 3 ประเด็น 1.ขอให้ศาลตัดสินชี้ขาดเขตแดนไทยกัมพูชา 2.ให้เป็นไปตามแผนที่ 1:200000 และ 3.ขอให้ไทยส่งคืนวัตถุโบราณ” นายณัฎฐวุฒิ กล่าว และว่า คำขอให้ศาลโลกตัดสินทั้งหมด 5 ข้อของกัมพูชา ศาลโลกตัดสิน 3 ข้อเท่านั้น 1. ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา 2.ให้ไทยถอนกำลังออกจากปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบ และคำขอเพิ่ม 3 ข้อหลัง ศาลไม่ยอมชี้เรื่องเส้นเขตแดนและแผนที่ ทั้งที่ๆ กัมพูชาขอในคำฟ้อง นี่คือจุดที่ไทยจะใช้ในการต่อสู้
“คดีนี้ไม่ใช่คดีใหม่ กัมพูชาอาศัยข้อบังคับที่ 60 ของธรรมนูญศาลโลก ขอให้ศาลตีความคดีเก่า 2502 ที่ตัดสินเมื่อปี 2505 ช่องทางเดียวที่กัมพูชาเอาเรื่องกลับไปศาลโลกได้ ซึ่งเชื่อว่าการตีความไม่สามารถออกนอกกรอบคำพิพากษาเดิมได้”
ด้านดร.วีระชัย ในฐานะตัวแทนของราชอาณาจักรไทย กล่าวถึงข้อต่อสู้ของไทยเพิ่มเติมว่า ข้อเท็จจริงที่เป็นความลับนั้น ขอให้รอ บ่ายสาม ของวันที่ 15 เมษายนนี้ ที่ศาลโลกให้สามารถเปิดเผยเอกสารของคดีทั้งหมด ซึ่งวันดังกล่าวกระทรวงการต่างประเทศจะมีการแปลเป็นภาษาไทยให้สาธารณชนรับทราบ
“ เราต้องไม่ลืมด้วยว่า เอกสารของคดี ที่ศาลโลกประมวลไว้นั้น ทุกอย่างถูกสกัด มาก่อนการตัดสินแล้ว ฉะนั้นคำพิพากษาของศาลโลกจึงไม่ได้ออกมาจากกระบอกไม้ไผ่ ทำให้กัมพูชาจะฟ้องออกนอกกรอบนั้นไม่ได้ ด้วยหลักกฎหมายศาลให้เกินขอไม่ได้ เว้นแต่มีกฎหมายเขียนไว้ชัด” ดร.วีระชัย กล่าว และว่า ดังนั้นคดีนี้ก็เช่นกัน ศาลก็ให้เกินขอไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ดร.วีระชัย กล่าวด้วยว่า คำพิพากษาเป็นเพียงปลายภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เนื่องจากเรายังมีแนวทางต่อสู้อีกจำนวนมาก สุดท้าย เป้าหมายของไทย คือ อยากให้ศาลโลกตัดสินว่า ศาลโลกไม่มีอำนาจ เพราะคำขอของกัมพูชาออกนอกลำแสง เพราะไม่ขอเรื่องเขตแดน เราอยากให้ศาลตัดสินว่า ศาลปี 2505 มิได้ตัดสินว่า เส้นเขตแดนเป็นไปตามแผนที่ 1:200000 นี่คือเป้าหมาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากศาลโลกจะตัดสินพิพากษามีอำนาจ ก็อาจเป็นไปได้เช่นกัน ตนไม่อยากพูดเรื่องแพ้ชนะ มิเช่นนั้นจะมีการเอาคืน อยากให้อยู่กันอย่างมีความสุข สงบ และสันติภาพมากกว่า
ขณะที่มุมมองนักประวัติศาสตร์ รศ.ศรีศักร กล่าวว่า อดห่วงเรื่องการตีความของศาลโลกไม่ได้ โดยเฉพาะบริเวณโดยรอบ ที่คนมุ่งไปที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร หากไม่เตรียมให้ดีเชื่อว่า จะมีปัญหา พร้อมฝากให้คิดหากไทยแพ้แล้วจะทำกันอย่างไร คนในพื้นที่เดือดร้อน คนท้องถิ่น ทั้ง 2 กลุ่ม ทั้งไทยและกัมพูชา
“เวลาเราสู้กับเขา ผมคิดว่า เราน่าจะแพ้ เพราะสังคมไทยเป็นประเทศที่ไม่มีสำนึกเรื่อง The Nation ทุกรัฐบาลพร้อมจะขายแผ่นดินให้ต่างประเทศ นายทุนก็กำลังรุกยึดครองพื้นที่ ทำแหล่งคาสิโน ขณะที่นักวิชาการเป็นพวกไม่มีพรมแดน ต่างจาก กัมพูชาและลาว”
ส่วนนายสุภลักษณ์ กล่าวว่า คำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เดือนเมษายนตัดสินชะตากรรม พร้อมเชื่อว่า ผลของการตีความของศาลจะทำให้เกิดความขัดแย้งจนกลายเป็นบาดแผลระหว่างสองชาติเกินเยียวยา หากพิจารณากัมพูชาจะมีการเลือกตั้งเร็วๆนี้ ขณะที่การเมืองไทย เลวๆ ก็จะหยิบประเด็นนี้มา ห้ำหั่นกัน
“ไม่ว่าฝ่ายใดชนะ ประเด็นนี้จะคงถูกใช้เป็นประโยชน์ทางการเมือง และถูกจุดขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา ในฐานะสื่อมวลชนต้องเข้าใจคดีนี้อาจไม่ใช่ประเด็นด้านเทคนิค กฎหมายอย่างเดียว จำเป็นต้องรายงานข่าวด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ที่อาจก่อให้เกิดการใช้กำลัง และนำมาซึ่งความสูญเสีย”
{youtubejw}0xlh7BM06V4{/youtubejw}