สร้าง "สื่อ" มวลชน เข้าใจ "สื่อ" ธรรมชาติ
ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขามีโครงการการเรียนรู้อยู่โครงการหนึ่งชื่อว่า “CU VIP” เป็นการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย เปิดสอนวิชาต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต นิสิตนักศึกษาใคร่เรียนก็ไปลงทะเบียนเรียนได้ตามชอบ ไม่มีการเก็บค่าหน่วยกิต ไม่มีการสอบ
สมัยผมเรียนอยู่ที่จุฬาฯ ก็เห็นว่าโครงการนี้มีประโยชน์ แต่ก็ไม่ได้ไปลงเรียน ยังรู้สึกเสียดายมาจนถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อไม่กี่วันก่อนผมมีโอกาสไปนั่งเรียนวิชา ๆ หนึ่ง ชื่อว่า “วิชาอะไร” ซึ่งเป็นวิชาเดียวที่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าไปนั่งเรียนด้วยได้
วิชานี้สอนโดย “ยงยุทธ จรรยารักษ์” อดีตอาจารย์พิเศษภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันท่านเกษียณมาหลายปีแล้ว สมัยทำงานท่านเป็นคนที่เอาไม้ชนิดต่าง ๆ มาปลูกภายในบริเวณภาควิชาพฤกษศาสตร์ จนทำให้ภาควิชามีต้นไม้ดูเขียวชอุ่มร่มรื่นอยู่จนทุกวันนี้
อ.ยงยุทธ จรรยารักษ์ (ที่มาภาพ http://www.lonelytrees.net/?p=4347)
วิชาอะไร ฟังชื่อดูแปลก ๆ
ก่อนจะพบคำตอบว่า ความหมายของวิชานี้คือ เรื่องอะไรก็ได้ที่นักเรียนอยากรู้ อาจารย์ยงยุทธก็จะสอนให้ได้ เพราะอาจารย์ยงยุทธเป็นคนที่มีความรู้แบบองค์รวม สามารถบรรยายเรื่องชีวิต ธรรมชาติ ศิลปะ ประวัติศาสตร์ และการบริหาร ให้เห็นความเชื่อมโยงสอดคล้องเป็นเรื่องเดียวกัน และมักจะกระตุกต่อมความคิดชวนให้สังเกตเรื่องนั้นเรื่องนี้
ผมไปนั่งฟังในวันที่อาจารย์บรรยายในหัวข้อ “สื่อมวลชน”
เมื่อได้ฟังความคิดของอาจารย์แล้วผมอยากแนะนำว่า เป็นความคิดที่มีลักษณะเฉพาะที่ควรค่าแก่การรับฟังทีเดียว...
อาจารย์ยงยุทธมองว่า “สื่อมวลชน” เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้สังคมขัดแย้งยุ่งเหยิง เพราะสื่อมวลชนเป็นเรื่องของมนุษย์ ที่มี “การบิดเบือน” แล้วชี้ให้เห็นว่า “สื่อ” ที่วิเศษกว่ามนุษย์ก็คือ “ธรรมชาติ” เพราะธรรมชาติสื่อถึงเราอย่างตรงไปตรงมา เรียบง่าย ไม่เสแสร้ง เช่น แสงแดดส่องถึงเรา เราก็รับรู้ว่าร้อน
แต่มนุษย์เรามีอายตนะ 6 คือ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ คอยปรุงแต่งสิ่งที่รับรู้จากธรรมชาติให้บิดเบือนไปโดยเฉพาะ “ใจ” ที่มักปรุงแต่งไปตามที่เราอยากให้เป็น ทุกวันนี้มนุษย์เราจึงบิดเบือนสื่อจากธรรมชาติมากที่สุดด้วยวิธีการต่าง ๆ
“พลบค่ำพระอาทิตย์ตก เราไม่ได้รับรู้ความมืดโดยตรง เพราะเรานั่งอยู่ในห้องที่มีแสงสว่าง หรืออย่างหน้าร้อน ในตอนบ่ายอุณหภูมิสูงถึง 40 องศา แต่เรานั่งอยู่ในห้องแอร์ เราก็ไม่อินังขังขอบว่า ข้างนอกมันร้อนขนาดไหน
ถ้าเรารับรู้สิ่งที่ธรรมชาติสื่อมาถึงเราโดยตรง พอร้อน เราก็จะเข้าร่มไม้ ถ้าร่มไม้เหลือน้อยเราก็จะปลูกต้นไม้เพิ่ม เป็นไปตามกลไกธรรมชาติ
แต่ทุกวันนี้เราสร้างวิถีชีวิตให้ผูกติดกับห้องแอร์ ให้ตัวเองอยู่ในห้องที่เย็นสบายตลอดเวลา ทั้งในอาคารและในรถยนต์ แล้วพ่นไอร้อนจากเครื่องสร้างความเย็นออกข้างนอก พ่นใส่ต้นไม้ ต้นไม้อยู่ไม่ได้ เหลือน้อยลง เราก็ยิ่งร้อน”
ธรรมชาติมีระบบของมันที่ลงตัวและสมดุลอยู่แล้ว ถ้าเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ผิดไปจากปกติ เราต้องติดตามดู
เช่น น้ำท่วมใหญ่ปี 54 แสดงว่า มีอะไรบางอย่างในระบบปกติของธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอันที่จริงแล้ว สาเหตุหลักก็มาจากพฤติกรรมการประโยชน์จากธรรมชาติของมนุษย์เราเอง ที่มัก “ปรับธรรมชาติ ให้เข้ากับตัวเรา” แทนที่จะ “ปรับตัวเรา ให้เข้ากับธรรมชาติ”
อ.ยงยุทธ เล่าว่า พื้นที่ทุ่งนากว้างใหญ่แถบภาคกลางในอดีต พอถึงฤดูน้ำหลากน้ำก็ล้นจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าท่วม เขาถึงเรียกว่า “น้ำท่วมทุ่ง” ไม่นานพอน้ำลด ท้องทุ่งก็กลับคืนมา
“ไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้เอง เราเอาพื้นที่ทุ่งนาแถบนั้นมาสร้างนิคมอุตสาหกรรมใหญ่โต"
สุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นบึงน้ำเรียกว่า “หนองงูเห่า” ทั้งยังเป็นทางให้น้ำหลากผ่านออกสู่ทะเลมาแต่อดีต เราเอาดินเอาทรายไปถมสร้างบนหนอง แล้วสร้างคันรายรอบหวังกั้นน้ำท่วม ในระยะสั้นไม่กี่ปีมันกั้นได้ แต่ระยะยาวสิบปียี่สิบปี กั้นไม่อยู่แน่
...น้ำท่วมใหญ่ที่เพิ่งผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้ว !
"พอมาดูที่วิธีการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ที่หวังป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วม อย่างการสร้างเขื่อนเป็นตลิ่งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยากันน้ำเข้าท่วมบ้านเรือน ก็ไปฝืนธรรมชาติของน้ำ เพราะน้ำหากไหลมาแรงย่อมกัดเซาะตลิ่งเป็นธรรมดา พลังน้ำหมุนวนก็จะดึงน้ำส่วนที่ล้นเกินไปค้างอยู่บนฝั่ง แต่พอมีเขื่อนกั้น พลังน้ำก็ยิ่งอัดแน่นเพราะไม่มีที่ระบายออก วิธีการแบบนี้ เรากำลังทำลายตัวเราเอง เพราะทำผิดหลักธรรมชาติ”
อาจารย์ยงยุทธ ตั้งคำถามสำคัญว่า ทุกวันนี้ “สื่อมวลชน” เรา เข้าใจ “สื่อ” จากธรรมชาติเหล่านี้แล้วหรือยัง เพราะสื่อมวลชนที่ดีต้องเข้าใจสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือธรรมชาติ ส่วนเรื่องอื่น ๆ ก็ต้องเรียนรู้ให้เข้าใจองค์รวมให้เห็นระบบความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ จึงจะถ่ายทอดให้คนอื่นเข้าใจอย่างถูกต้อง และชี้นำสังคมไปสู่สิ่งที่ถูกต้องได้
ทุกวันนี้สื่อมวลชนที่ชี้นำสังคมไปสู่สิ่งที่ผิดมีอยู่มากมาย
อาจารย์ยงยุทธ อธิบายว่า ไทยโบราณถือคติ “เปิดเผยแต่เรื่องดี ๆ เรื่องไม่ดีอย่าพูดถึง” เช่น จิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่ตามโบสถ์ต่าง ๆ ตรงข้างฝาที่เรามองเห็นได้ง่ายจากระดับสายตา เขาจะเขียนเรื่องทศชาติชาดก ส่วนเรื่องเละเทะเลวทราม เรื่องบัดสีของชาวบ้านเขาเขียนไว้สูง ๆ เกือบถึงเพดาน ดูยาก มองไม่ค่อยเห็น
เพราะโบราณถือว่า เรื่องไม่ดี ถ้าไม่จำเป็นอย่าเอามาพูดมาแสดง เพราะจะทำให้สังคมแย่ตามไปด้วย
หันกลับมาดูหนังสือพิมพ์หรือข่าวโทรทัศน์ของเรา มีเรื่องเลวทรามขึ้นหน้าหนึ่งทุกวัน
อย่างเรื่องวัยรุ่นไปร่วมฟูลมูนปาร์ตี้ มั่วสุมทางเพศและยาเสพติดกันที่เกาะพะงัน ถ้าสื่อไม่นำเสนอ คนส่วนมากก็คงยังไม่รู้เรื่องนี้ พอสื่อนำเสนอ วัยรุ่นทั่วประเทศรู้ อยากทำบ้าง ก็แห่ตามกันไป
สื่อฯอาจจะอ้างว่าลงเพื่อเป็นอุทาหรณ์หรือตัวอย่าง ไม่ได้ต้องการให้ปฏิบัติตาม แต่สื่อฯก็ควบคุมสังคมไม่ได้
ฉะนั้น จึงเป็นคำถามย้อนกลับมาถึงสื่อฯว่า ควรจะควบคุมตัวเองให้ดีกว่านี้หรือเปล่า...