จุฬาฯเปิดรายงานความเหลื่อมล้ำ’55 – ประชานิยมทำลายเกษตรกรรมทางเลือก
เปิดรายงานความเหลื่อมล้ำฉบับจุฬาฯ’55 เกษตรกรถูกจำกัดน้ำ-เอื้อรง. นโยบายจำนำทำลายชาวนาทางเลือก แนะจำเป็นต้องแก้โครงสร้าง-กม.
วันที่ 29 มี.ค. 56 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) จัดงาน ‘เทศกาลความเป็นธรรม’ โดยสถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัว ‘รายงานสถานการณ์ความไม่เป็นธรรมทางสังคม พ.ศ. 2554 – 2555’
ผศ.นพนันท์ วรรณเทพสกุล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของสังคมไทยคือความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างทั้งมิติของเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมและการเมือง ตัวอย่างเช่น มิติด้านการเมือง ยังมีลักษณะการรวมศูนย์ผูกขาดอำนาจไม่เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน , มิติเศรษฐกิจ ซึ่งช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยคนจนไทยยังต่างกันถึง 34 เท่า ขณะที่สวัสดิการด้านรักษาพยาบาลก็ยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มข้าราชการ พนักงานบริษัท และประชาชนแรงงานนอกระบบ และมิติทางสังคมวัฒนธรรม จะเห็นได้ว่าเกษตรกรเป็นประชาชนกลุ่มเดียวที่ถูกจำกัดเรื่องการใช้น้ำ
“ชาวบ้านภาคอีสานต้องการน้ำทำนาปรังช่วงหน้าแล้ง แต่ก็ถูกห้ามไม่ให้ทำ ถามว่ามีไหมที่โรงงานอุตสาหกรรมซึ่งต้องใช้น้ำในการกระบวนการผลิตเช่นกันถูกห้ามใช้ ไม่มีเลย” ผศ.นพนันท์ กล่าว
ผศ.นพนันท์ กล่าวต่อว่า จากการศึกษาปัญหาความไม่เป็นธรรมของชุมชนกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ พบว่าชุมชนปัจจุบันแบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ คือ 1. ชุมชนที่ก้าวออกจากการเป็นชาวนา เปลี่ยนจากการพึ่งพาฐานทรัพยากรไปสู่ฐานทุนมากขึ้น เช่น กลุ่มแรงงานภาคอุตสาหกรรม แรงงานนอกระบบ ซึ่งมีประเด็นการเรียกร้องคือ การต่อรองนโยบายค่าจ้างที่เป็นธรรม สิทธิและสวัสดิการ 2. ชุมชนในภาวะก้ำกึ่งก้าวออกจากการเป็นชาวนาแต่ยังพึ่งพิงฐานทรัพยากร เช่น เครือข่ายอีสาน เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน ประเด็นเรียกร้องเน้นเรื่องสิทธิชุมชนต่อฐานทรัพยากร ซึ่งชาวบ้านมีการกำกับดูแลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐและทุนที่เข้ามาสู่พื้นที่ เช่น โครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าที่กระทบสิ่งแวดล้อม
3.ชุมชนที่หันเข้าสู่กระบวนการเป็นชาวนาและยังอิงกับฐานทรัพยากรอยู่มาก เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในระบบเกษตรพันธะสัญญา ซึ่งประเด็นการต่อสู้คือเรื่องสัญญาที่เป็นธรรม และนิเวศวัฒนธรรม หรือ การแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรอย่างเป็นธรรม โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และชุมชนมีส่วนร่วม และ 4.ชุมชนที่กลับเข้าสู่กระบวนการเป็นชาวนาในบริบทที่เชื่อมโยงกับโลกาภิวัฒน์อย่างลึกซึ้ง เช่น เครือข่ายตลาดข้าวทางเลือก และวิสาหกิจชุมชน ประเด็นการต่อสู้คือ ชาวนาต้องกลับสู่ภาคเกษตรไม่ใช่ด้วยท่วงท่าเดิมซึ่งรอความช่วยเหลือจากรัฐ แต่ต้องเสริมสร้างการพึ่งพาตน เช่น ทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มมูลค่าข้าว
บทสรุปจากงานวิจัยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ คือ การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นสิ่งจำเป็นในการลดความไม่เป็นธรรม โดยแต่ละชุมชนต้องร่วมกันคิดว่าสถานะของตนอยู่ตรงไหน มีปัญหาเชิงโครงสร้างใดร่วมกันและควรแก้ไขอย่างไรให้ประเด็นเรียกร้องประสบผล โดยจะต้องส่งเสียงสะท้อนปัญหาให้รัฐบาลรู้ว่าสิ่งที่ดำเนินการอยู่ถูกต้องหรือไม่ เพื่อให้นโยบายต่างๆถูกขับเคลื่อนมาจากฐานล่างสู่บน นอกจากนี้การแก้ปัญหาจำเป็นต้องอาศัยกลไกเชิงสถาบัน เช่น ระบบกฎหมาย หรือ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.นวลน้อย ศรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาพื้นฐานของประชาชนทุกกลุ่ม คือ ปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งทุกคนต้องการความมั่นคงทางรายได้และมีตัวเลือกทางเศรษฐกิจโดยไม่ถูกกดขี่ โดยเห็นว่าแนวทางการลดความไม่เป็นธรรมที่ประสบผลคือทุกชุมชนเครือข่ายต้องร่วมมือกันผลักดันแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน เช่น สวัสดิการสังคม โดยไม่สนใจเพียงเรื่องที่กลุ่มตนเดือดร้อน
ทั้งนี้เห็นว่าการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจให้ประชาชนของรัฐบาลโดยอาศัยนโยบายประชานิยม เช่น โครงการรับจำนำข้าวเป็นเรื่องดี เพราะเป็นการช่วยเหลือชาวนา แต่ต้องไม่ลืมว่านโยบายดังกล่าวมีต้นทุนสูง ซึ่งหลายประเทศที่เคยดำเนินนโยบายดังกล่าวมาแล้วต้องเลิกล้มไปเพราะขาดทุน
นอกจากนี้โครงการจำนำข้าวยังทำให้ชาวนากลุ่มที่พึงพาตนด้วยการสร้างเครือข่ายตลาดทางเลือกของตน ไม่ต้องพึ่งพารัฐ หรือ โรงสี เช่น ขายข้าวอินทรีย์ ต้องล้มหายไป ด้วยนโยบายจำนำข้าวที่รับซื้อข้าวราคาสูง ทำลายระบบตลาดอื่น
“การช่วยชาวนาเป็นสิ่งที่ดีแต่จะช่วยอย่างไรให้ยั่งยืน ไม่ใช่พอเงินหมดทุกอย่างก็จบ ฝ่ายการเมืองไม่ได้คิดถึงต้นทุนของนโยบายนี้ ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าใช้นโยบายเพื่อคะแนนเสียงอย่างเดียว” รศ.ดร.นวลน้อยกล่าว
ด้านนายวิเชียร เจษฎากานต์ รองประธานมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ เกษตรกร กล่าวว่า ระบบทุนนิยมปัจจุบันเป็นระบบกินรวบที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม โดยธุรกิจใหญ่ดึงดูดทรัพยากรไปใช้และสร้างความเสียหายกับระบบนิเวศชุมชนโดยขาดความรับผิดชอบ ขณะที่รัฐบาลไม่กำกับดูแล
“เรามีกฎหมายเกือบครบถ้วนในการสร้างสังคมที่ไม่เหลื่อมล้ำ แต่ปัญหาคือกฎหมายไม่ถูกบังคับใช้โดยคนที่มีหน้าที่ ขณะที่ประชาชนก็ไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิ ประเด็นคือทำอย่างไรให้ประชาชนรู้ถึงอำนาจและสิทธิของตนเองและลุกขึ้นมาใช้สิทธินั้นให้ได้” นายวิเชียรกล่าว