เวทีถมช่องว่าง ถกปัญหาชาวนาไร้ที่ดิน 80% โครงการยักษ์รุกชุมชน
เผยชาวนาจำนองที่ 80% เหตุรัฐหนุนสารเคมี ชาวบ้านดัน กม.โฉนดชุมชน ท่าศาลาค้านท่าเรือเชฟรอน แปดริ้วจี้ชะลอโครงการยักษ์รอผังเมือง จว.เสร็จ ‘ผาสุก’ ชี้กระจายอำนาจท้องถิ่นต้องรอประชาธิปไตยชุมชน
วันที่ 28 มี.ค. 56 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัด ‘เทศกาลความเป็นธรรม’ โดย ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปาฐกถาหัวข้อ ‘สู่ชีวิตที่ดีกว่า : ความเป็นธรรมและประชาธิปไตย’ ว่าจากโครงการวิจัย ‘สู่สังคมไทยเสมอหน้า’ พบว่าสังคมไทยในปัจจุบันยังอยู่ในระบบ ‘คณาธิปไตย’ ซึ่งคนรวยกลุ่มน้อยมีอำนาจกำหนดทิศทางการเมืองและนโยบายของประเทศ โดยไม่สนับสนุนการกระจายอำนาจและความมั่งคั่งสู่ชนชั้นอื่น
ตัวอย่างความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างที่เห็นได้ชัดคือธุรกิจพลังงานขององค์กรกึ่งรัฐกึ่งเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งมีบริษัทลูกที่ได้สิทธิพิเศษจากความเป็นบริษัทเอกชน เช่น ได้รับสิทธิส่งเสริมการลงทุน และสามารถกำหนดค่าตอบแทนผู้บริหารได้เอง ขณะเดียวกันก็สามารถใช้สิทธิพิเศษจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ เช่น มีกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ด้วย ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ข้าราชการกับทุนเอื้อประโยชน์แก่กัน เช่น กรณีโรงไฟฟ้ามาบตาพุด ซึ่งชาวบ้านคัดค้าน แต่ข้าราชการใช้อำนาจผลักดันโครงการโดยไม่ผ่านการประเมินผลกระทบชุมชน
ศ.ดร.ผาสุก ยังกล่าวว่านอกจากนี้หากมองการเมืองท้องถิ่นในปัจจุบัน จะพบว่านักการเมืองได้พยายามควบรวมอำนาจเบ็ดเสร็จดในหมู่ครอบครัวและพรรคพวกทั้งในการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น ซึ่งทำให้การคอร์รัปชั่นในงบประมาณโครงการต่างๆไม่ว่าจากการจัดสรรโดยรัฐบาลกลางหรืองบจากท้องถิ่นทำได้เป็นระบบมากขึ้น ทั้งนี้การกระจายอำนาจเป็นเรื่องไม่ดี เพียงแต่เวลานี้ประชาชนยังไม่มีประสบการณ์ตรวจสอบการเมืองท้องถิ่นเท่าใดนัก การรวมพลังหรือสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมไทย
งานเดียวกันมีการจัดเสวนา ‘มายาคติ-เจตคติสังคม ว่าด้วยสิทธิชุมชนและความมั่นคงทางอาหาร โดยนางกิมอัง พงษ์นารายณ์ สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่านโยบายส่งเสริมพัฒนาเกษตรกรรมของรัฐที่ให้ใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มปริมาณผลผลิต โดยเฉพาะอาชีพทำนา ส่งผลให้ชาวนาประสบปัญหาหนี้ ระบบนิเวศธรรมชาติเสื่อมโทรม ซึ่งปัจจุบันมีชาวนานำที่นาจำนองในธนาคารแล้ว 80% โดย 50% ไม่มีเงินชำระหนี้ ยอมปล่อยให้ที่นาถูกธนาคารยึดและหันมาเช่าทำนาด้วยราคา 6,000 บาท/ไร่ ทั้งนี้ชาวนาบางส่วนหันมารวมตัวเป็นกลุ่มสหกรณ์เพื่อหาทางแก้ปัญหาโดยคนในชุมชน เช่น ทำโรงสีชุมชน กองทุนฟื้นฟูหนี้สินเกษตรกร แต่ยังพบว่ากลุ่มเกษตรกรภาคกลางยังมีความอ่อนแอ เมื่อเทียบกับภาคอื่น
“วันนี้การแก้ปัญหาจะต้องปรับที่โครงสร้าง โดยพัฒนาเครื่องมือทางเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หลีกเลี่ยงการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่อ่อนแอที่ภาครัฐสนับสนุนซึ่งเอื้อต่อการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นฟูกลับมาได้” ตัวแทนสค.ปท.กล่าว
ด้านนายสมควร พรมแก้ว เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่ากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไม่ยอมให้พื้นที่เทือกเขาบรรทัดเป็นโฉนดชุมชนตามนโยบายรัฐบาล อ้างว่าจะนำไปทำโครงการปลูกป่าเพื่อลดผลกระทบก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ จะรณรงค์ให้ภาคประชาสังคมเห็นความสำคัญของสิทธิชุมชน โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดกฎหมาย 3 ฉบับ คือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)โฉนดชุมชน, พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน และพ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า แม้จะต้องรอยาวนานเป็น 10 ปีก็ตาม
นายศรเดช คำแก้ว เครือข่ายปกป้องพื้นที่ผลิตอาหาร-ท่าศาลา กล่าวว่า พื้นที่ชุมชนท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เป็นแห่งผลิตอาหารของประเทศ แต่รัฐจะพัฒนาเป็นแหล่งอุตสาหกรรม โรงผลิตไฟฟ้าถ่านหิน ท่าเรือน้ำลึก ซึ่งส่งผลต่อวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อม ชาวบ้านจึงรวมตัวกันต่อต้านจนระงับไป แต่ปัจจุบันมีโครงการศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัทเชฟรอน ซึ่งแม้จะบอกว่ายอมยุติ แต่บริษัทยังคงมีเงื่อนไขในการขอส่งรายงานอีเอชไอเอฉบับสมบูรณ์ไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้พิจารณาต่อ จึงต้องเฝ้าระวังต่อไป
“โครงการขนาดใหญ่จะต้องผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนและสอดรับกับสภาพวิถีชีวิต เศรษฐกิจ และทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่” ตัวแทนเครือข่ายอ่าวท่าศาลา กล่าว
นายกัญจน์ ทัตติยกุล สมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืน กล่าวว่าไทยกำหนดให้ทุกจังหวัดต้องมีผังเมืองรวมภายใน 3 ปี นับตั้งแต่มีมติคณะรัฐมนตรีปี 2545 แต่วันนี้ผ่านมา 11 ปีแล้ว เพิ่งมีผังเพียง 8 จังหวัด ความล่าช้าดังกล่าวทำให้มีการใช้ประโยชน์จากที่ดินไม่ถูกต้อง มีการตั้งแหล่งอุตสาหกรรมในพื้นที่เกษตรกรรมมากมาย ทั้งนี้ควรชะลอการใช้ประโยชน์ที่ดินจากโครงการขนาดใหญ่ และกำหนดผังเมืองรวมจังหวัดให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่อย่างจริงจัง โดยชุมชนต้องลุกขึ้นมามีส่วนร่วม .