"อภิสิทธิ์" ยันไม่รับหลักการ พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน ชี้ลงทุนได้ โดยไม่ต้องกู้
"'อภิสิทธิ์" ไม่รับหลักการ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ระบุเห็นด้วยให้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ค้านกู้เงินมากสุดในประวัติศาสตร์ ห่วงวินัยการคลัง-หนี้สาธารณะ 'โต้ง' ยันโครงการโปร่งใส-จัดการได้
วันที่ 28 มี.ค. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... ที่รัฐสภา ภายหลังท ี่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม กล่าวชี้แจงถึงความจำเป็นและรายละเอียดของการมี พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้าน ก็ลุกขึ้นอภิปรายต่อ
'มาร์ค' ประกาศจุดยืนฝ่ายค้าน ไม่รับ พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนและฝ่ายค้านมีมติที่ชัดเจนว่าจะไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะไม่เห็นด้วย หรือคัดค้านการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับเป็นสิ่งที่พยายามทำและสนับสนุนมาโดยตลอด แต่เนื่องจากการลงทุนเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายฉบับนี้
"ผมอยากให้สังคมและประชาชนเข้าใจให้ถูกว่า วันนี้ไมได้ถกเถียงกันว่าอยากให้มีรถไฟความเร็วสูง หรือมอเตอร์เวย์หรือไม่ แต่เป็นการพิจารณาว่าจะอนุญาตให้กระทรวงการคลังไปกู้เงินเป็นกรณีพิเศษจำนวน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่ต้องใช้คืนในระยะเวลายาวนานถึง 50 ปีหรือไม่"
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า จริงอยู่ที่ขณะนี้ประเทศกำลังอยู่ในยุคท้าทาย ทั้งการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่ขอเตือนว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่จะหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางได้นั้น ไม่ได้มีแค่ปัญหาด้านการคมนาคมขนส่งเท่านั้น ในภาพรวม องค์ประกอบด้านอื่นๆ ทั้ง สาธารณสุข และการศึกษาก็อยู่ในอันดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวด้วยว่า การที่รัฐบาลไม่เลือกใช้วิธีการแบบปกติในการลงทุนครั้งนี้ อาจเป็นเพราะเหตุผลหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1.เงินงบประมาณไม่พอ 2.กฎระเบียบ กฎหมายไม่เอื้อที่จะให้ลงทุนโดยไม่กู้เงิน 3.ปัญหาเรื่องการเมือง ซึ่งจากข้อเท็จจริงพบว่าทั้ง 3 ข้อนี้ไม่ใช่ข้อจำกัดที่นำไปสู่การแก้ปัญหาโดยการกู้เงิน
"อย่างประการแรก ตามที่รัฐบาลแถลงว่าจะใช้เงิน 2 ล้านล้าน ในกรอบ 7 ปี เฉลี่ยประมาณปีละ 3 แสนล้านบาท ตามตัวเลขของ สบน.แถลงไว้ว่าในแต่ละปี เช่น ปีแรกจะใช้เงินประมาณ 27,209 ล้านบาท และใช้เงินมากที่สุดในปี 2559 ประมาณ 382,490 ล้านบาท ซึ่งสามารถหาเงินมาใช้ในระบบงบประมาณได้ โดยไม่ต้องกู้ ตามที่ รมว.คลังได้แถลงการณ์ทำแผนจัดงบขาดดุลเอาไว้" นายอภิสิทธิ์ กล่าว และว่า ฉะนั้น การกู้เงินนอกระบบปกติ โดยอ้างว่ารัฐบาลมีเงินไม่พอ จึงไม่จริง อีกทั้ง ที่เคยโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูให้แบงค์ชาติ เนื่องจากต้องการทำงบขาดดุลให้เหลือเพดานเพียงพอไว้ใช้ ก็กลับไม่ใช้ เหตุผลเรื่องเงินจึงฟังไม่ขึ้น
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อเร็วๆ นี้สภาฯ เพิ่งผ่านกฎหมายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐไป ซึ่งจะช่วยในทางกฎระเบียบต่างๆ ให้ตัวเลขลงทุนของรัฐไม่ต้องสูงขนาดนี้ ส่วนปัญหาการเมือง จะเป็นปัญหาอุปสรรคหรือไม่นั้น อยู่ที่รัฐบาลจะบริหารประเทศให้เป็นไปอย่างไร จะต่อเนื่องหรือสะดุดหยุดลงก็เป็นการตัดสินใจทางการเมือง และการจัดลำดับความสำคัญในแต่ละโครงการ
ก่อหนี้ยุค "สังคมผู้สูงอายุ" ไม่มีใครทำ ถ้าไม่จำเป็น!
ในส่วนปัญหาวินัยทางการคลัง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นสิ่งสำคัญที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทยมาโดยตลอด เนื่องจากมีกรอบแลเพดานกำกับไว้ชัดเจน ไม่ให้ปัญหาหนี้บานปลายจนกระทบเสถียรภาพ และการกู้เงินในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเท่านั้น ฉะนั้น ต้องดูว่าเจตนาของรัฐบาลที่แท้จริงคืออะไร เพราะรัฐบาลเคยคัดค้านการกู้เงิน หาเสียงว่าจะเข้ามาล้างหนี้ ท้ายที่สุดจะมาสร้างหนี้และเป็นหนี้ที่สูงกว่าหนี้ไอเอ็มเอฟ
"เหตุผลที่ต้องห่วงเรื่องหนี้สาธารณะที่กำลังเพิ่มขึ้น ทั้งที่ยังไม่ได้กู้เงิน เนื่องจากในอนาคตมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกอีกมาก จากดอกเีบี้ย 3 ล้านล้านบาท ที่คำนวณไว้ จะทำให้หนี้ทั้งหมดรวมเป็น 5 ล้านล้านบาท แต่ดอกเบี้ยอาจเพิ่มสูงขึ้นได้ตามความผันผวนของเศรษฐกิจ ที่จะทำให้จำนวนเงินและระยะเวลาในการใช้หนี้เพิ่มขึ้น แผนต่างๆ ที่คำนวณไว้จะผิดทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การวาดภาพอนาคตด้านโครงสร้างพื้นฐาน ต้องคำนึงถึงสังคมที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ระบบสวัสดิการและสาธารณะสุขให้เพิ่มมากขึ้นด้วย ขณะนี้ทั่วโลกไม่มีใครเร่งตั้งหน้าตั้งก่อหนี้ถ้าไม่จำเป็น การใช้แต่การกู้จะไม่บังคับตัวเอง ไม่พิจารณาความจำเป็นเร่งด่วน จัดความสำคัญของโครงการที่เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน"
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวด้วยว่า เมื่อพิจารณารายละเอียดแล้ว ไม่มั่นใจว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถเชื่อมไทยสู่โลกได้จริง อย่างระบบรางที่ต้องเชื่อมจีนที่หนองคาย เชื่อมสิงคโปร์ที่ปาดังเบซา และเชื่อมที่ทวาย แต่ทุกที่กลับไปไม่ถึง จากหนองคายไปถึงแค่โคราช ปาดังเบซา ถึงแค่หัวหิน
"รัฐบาลต้องตอบให้ชัดว่าเหตุใดไปไม่ถึง และเหตุใดถึงเริ่มที่กรุงเทพ-เชียงใหม่ และโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่จะมีค่าโดยสารเทียบเท่าเครื่องบินต้นทุนต่ำนั้น เป็นการลงทุนที่มีความคุ้มค่าหรือไม่ สิ่งเหล่านี้รัฐบาลต้องชี้แจง เพราะหากผ่านสภาฯ ไปแล้ว ฝ่ายค้านและประชาชนจะตรวจสอบได้ยาก มีสิทธิแค่รับทราบเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นแบบอย่างในอนาคตที่การลงทุนใดๆ ก็จะออกเป็นกฎหมายกู้เงิน เลี่ยงระบบตรวจสอบตามวิถีทางประชาธิปไตย"
ขณะที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ลุกขึ้นตอบข้อสังเกตดังกล่าวว่า อยากให้พิจาณารายละเอียดที่จะนำเสนอในแง่มุมต่างๆ ก่อนที่จะประกาศจุดยืนไม่รับในหลักการของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื่องจากการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท แม้จะมีดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้นจริง แต่รัฐบาลก็พิจารณาแล้วว่าขณะนี้ประเทศมีสภาพคล่องดีมาก สัดส่วนหนี้มีร้อยละ 3-4 เท่านั้น การกู้จะกู้ในประเทศเป็นหลัก จึงไม่หวั่นว่าจะซ้ำรอยประเทศอื่นที่มีปัญหาจากการกู้เงินนอกประเทศ
'โต้ง' ลั่นจะใช้จ่ายโปร่งใส มีวินัยการคลัง พร้อมให้ตรวจสอบ
สำหรับเรื่องหนี้สาธารณะ นายกิตติรัตน์ กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลเอาใจใส่และเห็นความจำเป็นในการใช้หนี้ ตั้งแต่ยอดหนี้ที่ค้างสมัยต้มยำกุ้ง กว่า 7.5 แสนล้านบาท ความเข้าใจที่ไขว้เขวและวาทกรรมต่างๆ อยากให้มั่นใจว่ารัฐบาลนี้จะดูแลการใช้จ่ายครั้งนี้อย่างซื่อตรง โปร่งใส สิ่งใดๆ ในอดีตที่ไม่เรียบร้อย อาจเกิดจากความไม่รัดกุม ความกังวลของเราก็มีไม่น้อยกว่าฝ่ายค้าน และยินดีให้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น และภาคประชาชนมาร่วมตรวจสอบอย่างเข้มข้น เช่นเดียวกับ วินัยทางการคลัง ที่จะไม่เข้าไปแตะกรอบเพดานอย่างแน่นอน ต่อให้มีสิ่งที่เหนือความคาดหมายก็สามารถจัดการได้ เพราะแต่ละโครงการที่จะดำเนินงานมีรายละเอียดครบถ้วนถึงระดับจีดีพีกับแผนการลงทุนในเวลานั้นสอดคล้องกันหรือไม่อย่างไร
"ถ้ากู้ระยะสั้น แบบขาดยุทธศาสตร์ รัฐบาลนี้ไม่ทำ การลงทุนเรื่องน้ำ ก็สร้างความเชื่อมั่นก็ได้เป็นอย่างดี โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ ไม่ได้มีการแบ่งเค้กกันในกระทรวง ทบวง กรมแต่อย่างใด"