ปรากฎการณ์ "Nimby" สู่หายนะพลังงานไทย !
ย่างเข้าสู่เดือนเมษายน ท่ามกลางอุณหภูมิอันร้อนระอุ ข่าวสารข้อมูลด้านพลังงานไทยที่สะท้อนผ่านสายตาสื่อมวลชนยิ่งร้อนแรงตามไปด้วย โดยเฉพาะการกระพือข่าว ในลักษณะประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะวิกฤตด้านพลังงาน กอรปกับแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติยาดานาในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ กำลังปิดซ่อมบำรุง ระหว่างวันที่ 5-14 เมษายน 2556
กระแสความหวั่นวิตกกับปัญหาความมั่นคงด้านพลังงาน ที่อาจจะขยายตัว ลุกลามจนกลายเป็น "หายนะพลังงานไทย" ในอนาคตอันใกล้นั้น ชมรมคอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุ และโทรทัศน์ไทย จับมือสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดเวทีดีเบตขึ้น เพื่อหาทางออก ในลักษณะ แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง ทางด้านพลังงาน ณ หอประชุม สำนักงาน วช. บางเขน เมื่อเร็วๆนี้
ต้องไม่ลืมว่า ประเทศไทยพึ่งพาแก๊สธรรมชาติในการผลิตกระแสไฟฟ้ามากเกินไป จนทำให้เกิดความไม่มั่นคงด้านพลังงาน ผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 68% ถ่านหิน 19% พลังงานหมุนเวียน 6% นอกจากปัญหาข้างต้น นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผอ.สำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน บอกว่า ปัจจุบันการวางแผนด้านพลังงานของประเทศทุกรูปแบบ ยังเจอวิกฤตปัญหาด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
"แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยบิดเบี้ยว ด้วยเจอมิติด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ทำให้ฝ่ายวางแผนถูกกดดัน ปฏิเสธพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงบางอย่าง เช่น ปรมาณู ถ่านหิน ทำให้เราต้องพึ่งพาพลังงานที่สังคมขณะนั้นยอมรับ เช่น ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย และแม้ว่า ในแผนฯ จะมีการใส่เรื่องการอนุรักษ์พลังงาน หรือพลังงานทดแทนเข้าไปแล้ว แต่ก็พบว่า ยังไม่เพียงพอ "
หายนะประเทศ ขาดแหล่งพลังงาน ท่าเรือ เรือขนส่ง
ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 มีการระบุไว้ว่า ปลายปีของแผนไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ประมาณปีละ 23 -25 ล้านตัน ซึ่งปี 2555 ไทยนำเข้าประมาณ 5 แสนตัน
แต่อีก 18 ปีข้างหน้า จะต้องนำเข้า LNG ปีละประมาณ 23 ล้านตัน
"เราจำเป็นต้องใช้เรือเพื่อขนส่งก๊าซเข้าสู่ฝั่ง ถ่ายจากเรือลงคลัง ใช้เวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง จำเป็นต้องมีเรือที่สามารถบรรทุกได้ 6-7 หมื่นตัน แต่ขณะนี้ประเทศไทยไม่มีท่าเรือที่นำเข้าก๊าซ และหากจะสร้างก็มีปัญหาด้านสังคมอีก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาวิธีสร้างท่าเรือกลางทะเล ซึ่งก็มีราคาแพง พร้อมท่อส่งก๊าซเข้าฝั่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ไทยยังไม่ได้มีการวางแผนเตรียมการ" ผอ.สำนักนโยบายและแผนพลังงาน ก.พลังงาน ระบุ
เท่าที่ทราบ... เรือขนก๊าซ LNG ต้องใช้เทคโนโลยีสูง เรือแต่ละลำต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปีในการต่อเรือ ขณะที่ประเทศที่ผลิตเรือทั่วโลกนี้มีไม่เกิน 5 ประเทศ และหลายประเทศเข้าคิวซื้อกันยาวเหยียด
ยิ่งหากไทยต้องการ LNG ทุกวันด้วยแล้ว ก็ต้องมีกองเรือขน 21 ลำ สนนคร่าวๆ ก็ราคาลำละ 5 หมื่นล้านบาท
"หากไทยต้องนำเข้าก๊าซ LNG 23-25 ล้านตันต่อปี ถามว่า มีหรือไม่ เมื่อประเทศจีน เกาหลี ร่วมกันซื้อแหล่งก๊าซฯจากแคนาดา อเมริกา รวมทั้ง ไต้หวัน ญี่ปุ่นด้วย ขณะที่ประเทศไทย ถูกจัดอยู่ในระดับซี ยังไม่มีกำลังต่อสู้กับบริษัทระดับโลกได้"
ประเด็นดังกล่าว ทำให้นายสุเทพ หวั่นว่า การจัดหาแหล่งก๊าซจะมีความไม่แน่นอน ต่อปริมาณการนำเข้าก๊าซในอนาคต
ความเสี่ยง มุมมองภาคธุรกิจ
สำหรับภาพรวมด้านพลังงาน ตัวเลขปี 2555 ประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำมัน 6.3 แสนบาร์เรลต่อวัน หรือ 100 ล้านลิตรต่อวัน
ขณะที่กำลังการผลิตในประเทศ แค่ 2 แสนบาร์เรลต่อวัน หรือ 34 ล้านลิตรต่อวัน (แบ่งเป็นป้อนเข้าโรงกลั่น 28 ล้านลิตร เหลือส่งออก 6-7 ล้านลิตร)
นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลถึงความเสี่ยงด้านพลังงาน ในมุมมองภาคธุรกิจ โดยตอกย้ำว่า ประเทศไทยต้องพึ่งพาพลังงานนำเข้าเป็นหลัก เพราะมีความต้องการใช้น้ำมันเป็นลำดับที่ 19 ของโลก (ปี 2554) ขณะที่มีปริมาณน้ำมันสำรองลำดับที่ 47 และผลิตน้ำมันเองได้ลำดับที่ 32
ส่วนข้อมูลที่ว่า ราคาน้ำมันของไทยแพงหรือแพงกว่าหลายประเทศนั้น นายณัฐชาติ ชี้แจงว่า เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เพราะหากเปรียบเทียบกันแล้ว ราคาน้ำมันของไทยอยู่ในระดับปานกลาง ไม่ได้แพงกว่าชาติอื่นเลย
"ที่เห็นว่าราคาน้ำมันแพงนั้น ก็ไม่ได้แพงจากหน้าโรงกลั่น แต่แพงจากโครงสร้างภาษีที่ใส่เข้าไป ทั้งภาษีสรรพาสามิต ภาษีเทศบาล กองทุนน้ำมัน กองทุนส่งเสริมเพื่ออนุรักษ์พลังงาน และภาษีมูลค่าเพิ่ม" นี่คือต้นทุนที่บวกเข้าไปใส่ในน้ำมันที่ผลิตได้จากโรงกลั่น ที่ตัวแทนจาก ปตท. ระบุ
10 ปีข้างหน้า ก๊าซธรรมชาติหมดอ่าวไทย
และในฐานะองค์กรผู้จัดหาพลังงาน นายพงษ์ดิษฐ พจนา รองผู้ว่ากิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ระบุถึงอัตราความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นประมาณปีละ 1,500 เมกะวัตต์
"พลังงานไฟฟ้าไม่สามารถใช้พลังงานทดแทนได้ทั้งหมด เนื่องจากราคาไม่เสถียร ดังนั้นแหล่งพลังงาน จึงต้องมาจากเชื้อเพลิงหลักร่วมกับเชื้อเพลิงสนับสนุน ผสมผสานกัน"
เมื่อให้มองภาพหายนะด้านพลังงานในอีก 10 ปีข้างหน้า นี้ นายพงษ์ดิษฐ ยืนยันว่า แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติยาดานาในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ปิดซ่อมบำรุง 10 กว่าวัน เป็นแค่หายนะชั่วคราวเท่านั้น แต่อีก 10 ปีข้าวหน้า ก๊าซธรรมชาติหมดอ่าวไทย นั่นแหละ เป็นหายนะพลังงานไทยถาวร
ถามว่า วันนี้ มีใครคิดกันไว้หรือไม่ จะทำอย่างไร หา LNG มาเติมในส่วนนี้ ?
"พลังงานไฟฟ้าหายนะแน่ในอีก 10 ปีข้างหน้า เพราะปัจจุบันไทยผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 68% ถ่านหิน 19% พลังงานหมุนเวียน 6% นอกจากนี้ไทยยังต้องเผชิญกับหายนะที่ 2 นั่นคือเรื่องของราคาไฟฟ้าที่จะปรับสูงขึ้น จากเดิมหน่วยละ 3.50 บาท ภายใน 10 ปีข้างหน้าอาจต้องจ่ายอย่างน้อย 6 บาทต่อหน่วยเป็นอย่างน้อย ซึ่งต้นทุนที่สูงขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และขีดความสามารถการแข่งขันไปจนถึงกระทบต่อคุณภาพชีวิต" นายพงษ์ดิษฐ ย้ำชัด และว่า หายนะเหล่านี้เกิดขึ้นแน่ หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงต่อแนวคิดระบบโรงไฟฟ้าของประเทศ โดยเฉพาะความไม่รู้ คือความไม่มั่นคง คือหายนะ ท่ามกลางสังคมไทยก็ไม่มีความรู้พอ ทะเลาะกัน "มึงสร้าง กูเผา" เหมือนสนามบินสุวรรณภูมิ กว่าจะได้สร้างก็ใช้เวลา 40 ปี เป็นต้น
ปรากฎการณ์ "Nimby"
ความเห็นข้างต้น ไม่ต่างจากนายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ที่มองภาพความเสี่ยงด้านพลังงาน ว่า มีโอกาสเป็น "หายนะ" ได้ หากไม่เร่งแก้ไข ที่สำคัญให้ประชาชนในประเทศไม่มีความเข้าใจเรื่องพลังงาน
"ผมดูบรรยากาศการสื่อสาร วันนี้ การทำความเข้าใจเรื่องพลังงาน หวั่นวิตกว่า สังคมไทยไม่มีความพยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน กลายเป็นมีความคิด 2 ขั้วมาปะทะกัน กล่าวร้ายซึ่งกันและกัน จนกลายเป็นวิกฤตทางสังคม แย่งชิงทรัพยากร ทั้งๆที่ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยไม่ได้มีมากมาย"
ข้อเท็จจริงที่ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานท่านนี้นำมาตีแผ่ ได้รับการยืนยัน และรับรองแล้วว่า นั่นคือภาพรวมสถานการณ์พลังงานของประเทศ (Thailand Energy Outlook) ที่เราปฏิเสธไม่ได้
...ไทยนำเข้าพลังงานสุทธิแน่นอน นำเข้ามากกว่าส่งออก และมีแนวโน้มนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกปี
ปัจจุบันประเทศชาติสูญเสียเงินตราต่างประเทศมหาศาลเพื่อนำเข้าพลังงาน
ยิ่งชัดเจนว่า เรานำเข้าน้ำมันมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี ส่วนใหญ่นำเข้าเพื่อการบริโภค
หรือหากวัดจากระดับอาเซียน ไทยก็เป็นประเทศบริโภคพลังงานสูงอันดับ 2 รองจากประเทศอินโดนีเซีย ทั้งๆ ที่อินโดนีเซียมีประชากร 200 กว่าล้านคน ไทยมีประชากรน้อยกว่าหลายเท่าตัว
"การพัฒนาประเทศ ไทยใช้พลังงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก เช่น GDP โต 1% ไทยใช้พลังงาน 1 -1.1 % ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว GDP โต 1 % ใช้พลังงานไปแค่ 0.5-0.6%" นายมนูญ ย้ำชัดถึงตัวเลขประสิทธิภาพการใช้พลังงานของบ้านเรายังไม่ดี
ส่วนในอนาคต ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานท่านนี้ ก็มองเห็นแล้วว่า ไทยมีความเสี่ยงสูงพึ่งพาพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ต้องนำเข้าก๊าซจากเมียนมาร์ ซื้อไฟฟ้าจากลาว และอนาคตอาจต้องซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากเวียดนาม หรือซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เกาะกง
ทั้งหมดสะท้อนสังคมไทย กำลังเกิดปรากฎการณ์ "Nimby" (Not in My Back Yard)
"สำรวจความเห็นประชาชนเรื่องความต้องการไฟฟ้าหรือไม่ คำตอบส่วนใหญ่ก็อยากได้ อยากให้มีการสร้างโรงไฟฟ้า แต่สร้างที่ไหนก็ได้ ที่ไม่ใช่ในสวนหลังบ้านฉัน" ผู้คร่ำหวอดในวงการพลังงาน กล่าวด้วยน้ำเสียงดุดัน พร้อมกับชี้ให้เห็นว่า นี่จึงเป็นที่มา ประทศไทยต้องไปซื้อไฟฟ้าของชาวบ้านมาใช้กัน
"การที่เราต้องพึ่งพาพลังงานนำเข้าระดับสูง ทำให้พลังงานไทยมีราคาแพง ค่าไฟฟ้าฐานปี 2573 อาจสูงขึ้นถึง 6 บาทต่อหน่วย คิดดูปัจจุบันนี้ 3 บาทเราก็จะแย่อยู่แล้ว หากขึ้นไปถึง 6 บาทเราจะอยู่กันอย่างไร ด้วยเหตุที่ไทยต้องนำเข้า LNG ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 15-16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ขณะที่ราคาก๊าซในอ่าวไทยอยู่ที่ 9-10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ถึงปี 2573 ภาวนาไว้อย่างเดียว ให้สหรัฐฯยอมส่งออก LNG"
ที่สำคัญ เขาอดห่วงอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไม่ได้ เพราะสร้างรายได้ให้กับประเทศชาติมหาศาล 7 แสนล้านบาทต่อปี สร้างรายได้ สร้างงาน หากก๊าซธรรมชาติหมดลง อุตฯ นี้จะสูญเสียรายได้ 2 ล้านล้านบาท เมื่อขาดวัตถุดิบ ความสามารถในการแข่งขันก็จะน้อยลงตามไปด้วย
15 ปี ไม่มีทางเลือก เลี่ยง 'นิวเคลียร์'
สุดท้าย มีมุมมองนักวิจัยด้านพลังงาน ศ.ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ ช่วงท้ายที่เห็นต่าง โดยเชื่อว่า อีก 15 ปี หายนะพลังงานไทย ยังไม่เกิด เพราะยังมีพลังงานหมุนเวียนในประเทศที่มารองรับได้ประมาณ 15-20 ปี
แต่ "หายนะพลังงานไทย" จะมา ต่อจากนั้น หากไม่มีการเตรียมการให้ดี
"ในอนาคตถ่านหินชั้นดีในโลก มีให้เราใช้ 200 ปี กองอยู่ที่ออสเตรเลีย และ 15 ปี ต่อจากนี้ เราไม่มีทางเลือก เลี่ยงนิวเคลียร์ เพราะมันเป็น Proven Technology และเข้า Generation ที่ 5 "นักวิจัยด้านพลังงาน ระบุ
พร้อมกับฝากให้คิด อุบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทั้งที่ฟุกุซิมะ ที่ญี่ปุ่น หรือที่เชอร์โนบิล รัสเซีย โดยรวมแล้วมีคนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุนิวเคลียร์ทั้งหมดในโลก ก็ยังน้อยกว่าเสียชีวิตจากอุบัติทางรถยนต์ช่วงสงกรานต์ และอนาคตเราไม่ใช้นิวเคลียร์ ประเทศไทยจะไม่สามารถคุมคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ได้เลย
"อีก 15- 20 ปี หนีไม่พ้นใช้ถ่านหินสะอาด นิวเคลียร์ บางทีแสงอาทิตย์ก็อาจจะเหมาะสมกับการใช้เป็นพลังงานในบ้านเรา แต่ไม่ใช่ปัจจุบัน ที่เซลล์แสงอาทิตย์ต้องนำเข้า และต้องจ่ายส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าที่มาจากเงินประชาชนสูงกว่าแหล่งพลังงานชีวภาพ น้ำ และลม มาก จนส่งถึงความไม่โปร่งใส"