ถกปมร้อน "THAILAND 2020" กู้ 2 ล้านล้าน พลิกประเทศ ไปทางใด?
ประเด็นร้อนที่กำลังถูกจับตามองในขณะนี้ หนีไม่พ้นการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของไทย ตลอดช่วงระยะเวลา 7 ปีต่อจากนี้ ให้ก้าวไปสู่ "ศูนย์กลางระบบการขนส่งแห่งภูมิภาคอาเซียน" ผ่านร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... ซึ่งเป็นประเด็นที่จะมีการอภิปรายและนำเสนอต่อรัฐสภา ระหว่างวันที่ 28-29 มีนาคมนี้
แนวคิดการลงทุนครั้งใหม่และครั้งใหญ่ที่สุดของรัฐบาลตั้งแต่เคยมีมา และมีความมุ่งหวังเพื่อสร้างโอกาส สร้างรายได้ เชื่อมต่อระหว่างเมืองเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว และมีต้นทุนที่ต่ำที่สุด เพื่อให้ประชาชนมีรายได้และคุณภาพชีวิตอย่างเท่าเทียมนั้นจะสามารถก้าวไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่ ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์และข้อห่วงกังวลมากมาย
สำนักข่าวอิศรา รวบรวมทัศนะจากเวทีเสวนาสภาสูง ครั้งที่ 1/2556 เรื่อง "มุมมองวุฒิสภา : ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท" ที่จัดโดย คณะอนุกรรมการเสริมสร้างความรู้ในวงงานนิติบัญญัติ ในคณะกรรมการวิชาการของวุฒสภา ณ ห้องรับรอง 1-2 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 โดยมี นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และนายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา ร่วมเสวนามาเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการติดตามนโยบายอย่างรอบด้าน
วาดฝัน "พลิกประเทศ" ต้องกู้ก้อนใหญ่ เพื่อวาดภาพใหญ่ระบบคมนาคม
เริ่มต้น... นายอารีพงศ์ กล่าวถึงเหตุผลและความจำเป็นว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นการลงทุนในระยะเวลา 7 ปี เฉลี่ยกู้เงิน 3 แสนล้านบาท ในแต่ละปี ไม่ใช่การกู้ทั้งหมด 2 ล้านล้านบาท โดยที่แนวทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมครั้งนี้ ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาก็เห็นด้วย และวาดฝันที่จะเห็นมาโดยตลอด
แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างจริงจังและขนาดใหญ่มานาน ฉะนั้น หากต้องการทำโครงการขนาดใหญ่ที่ "พลิกประเทศ" จะต้องเป็นโครงการที่เห็นภาพใหญ่ วางโครงข่ายหลัก (Backbone) ซึ่งทำให้ใช้วิธีเสนองบประมาณในแต่ละปีไม่ได้ เนื่องจากจะไม่เห็น "ภาพใหญ่" ที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางระบบการขนส่งแห่งภูมิภาคอาเซียน และเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจ และจะทำให้เศรษฐกิจโตขึ้นอย่างยั่งยืนมากกว่า 4.5 %
อย่างไรก็ตาม ปลัดกระทรวงการคลัง เชื่อมั่นว่า จะมีการดำเนินโครงการอย่างรอบคอบ และมีวินัยทางการคลัง การกู้เงินจะแยกกู้ในแต่ละปีตามความจำเป็นที่ใช้ พร้อมยกตัวอย่าง
"ในช่วงปีแรกอาจกู้แค่เพียง 1 แสนล้านบาท ซึ่งมั่นใจว่าหนี้สาธารณะจะไม่เกิน 50% ต่อจีดีพีอย่างแน่นอน ผลกระทบในปีแรกๆ อาจมีบ้าง แต่การขาดดุลบัญชีจะไม่เกิน 1.9 % อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นประมาณ 0.3% ซึ่งยืนยันว่าสามารถบริหารจัดการได้"
ส่วนการคำนวณหนี้สาธารณะที่คำนวณรวมพระราชบัญญัติและพระราชกำหนดกู้เงินทุกฉบับแล้ว ก็จะไม่เกิน 50% พร้อมมั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาอย่างที่มีการคาดการณ์กันไว้ และแม้จะมีปัญหาเกิดขึ้นจริงก็มีแผนสำรองเอาไว้ อีกทั้ง ยังมีศักยภาพที่จะกู้เงินเพิ่มได้อีก เนื่องจากหนี้สาธารณะยังไม่ถึง 60% และยังสามารถชะลอการกู้เงินได้
การบริหารจัดการสามารถทำได้ตลอดทาง และยืนยันว่าวิธีการใช้จ่ายเงินเป็นไปตามระบบขั้นตอนปกติ ไม่มีวิธีพิเศษใดๆ ตามที่กล่าวกัน โดยจากนี้จะปรับระบบให้มีความโปร่งใสมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างในทุกขั้นตอนจะเผยแพร่ในเว็บไซต์เร็วๆ นี้"
แนะโครงการทำปีต่อปีได้ ไม่ต้องกู้ระยะยาว
ฝั่งนักวิชาการผู้ติดตามนโยบายและการบริหารการคลังของประเทศมาโดยตลอด ดร.สมชัย แสดงความเห็นด้วยว่า การเงินกู้ก้อนนี้จะสามารถพลิกประเทศไทยได้ และยิ่งเมื่อมองในเชิงหลักการกับลงทุนโครงสร้างพื้นฐาแล้วก็เห็นว่า ควรต้องทำ และเป็นจังหวะที่ดีที่ควรลงทุน เพราะขณะนี้หลายประเทศกำลังเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจ หรือ QE (Quantitative Easing) อันจะส่งผลให้มีเงินไหลเข้ามากขึ้น ค่าเงินบาทแข็งตัว ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อโครงการนี้ ดอกเบี้ยและต้นทุนการบริหารโครงการจะต่ำลง
แต่ก็มีข้อกังวลในส่วนของรายละเอียด ว่า ตัวบัญชีแนบท้ายของ พ.ร.บ.ว่ามีสภาพบังคับทางกฎหมายอย่างไร หากบัญชีแนบท้ายไม่มีสภาพบังคับทางกฎหมาย เท่ากับว่ากระทรวงการคลัง และรัฐบาลสามารถดำเนินการอะไรก็ได้ แม้ไม่ตรงกับแผนที่เสนอไว้
เท่ากับว่า...เป็นการตีเช็คเปล่าหรือไม่ ?
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ มองว่า หากมีสภาพบังคับก็ยืดหยุดได้ยาก พร้อมตั้งคำถาม ตัวบัญชีแนบท้ายของ พ.ร.บ.ได้ให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติมากน้อยแค่ไหนในการตรวจสอบการใช้เงิน วิธีการใช้เงินนั้นสามารถใช้ระบบปกติ ตั้งเป็นงบต่อเนื่องได้หรือไม่ เพราะเมื่อพิจารณาในรายละเอียดในโครงการแล้วสามารถทำแบบปีต่อปีได้
ขณะที่ในส่วนของ "หนี้สาธารณะ" ก็ยังมีความสงสัยว่า เหตุใดการคำนวณของทีดีอาร์ไอจึงได้ตัวเลขที่แตกต่างกับกระทรวงการคลัง ทั้งที่ใช้ตัวเลขชุดเดียวกัน
"คำนวณผลระดับหนี้สาธารณะอยู่ที่ 60% โดยที่คำนวณทั้งสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด (Worst Case) ซึ่งการบริหารเศรษฐกิจเป็นการบริหารความเสี่ยงด้วย ฉะนั้นต้องมองที่ Worst-Case ไว้ก่อน"
และแม้จะมีการวางระบบไว้ดี การดำเนินการเป็นไปตามแผนทั้งหมด ดร.สมชัย ก็ยังเห็นว่า จะบริหารจัดการอย่างไร อย่างกรณีระบบราง ซึ่งเป็นงบก้อนใหญ่กว่า 65% ของเงินกู้ทั้งหมดนั้นให้ ร.ฟ.ท.ดูแล ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะดูจากตัวอย่างโครงการที่เคยมีมา ทั้งความล่าช้าและประสบการณ์ในการจัดการ จนน่าหวั่นใจว่าจะไม่เกิดผล และข้อห่วงในในส่วนนี้จะมีแผนรองรับอย่างไร เพราะหากจะให้.ฟ.ท.ทำ คงต้องปฏิรูปองค์กรครั้งใหญ่เสียก่อน
กู้ก้อนใหญ่รวม 4.24 ล.ล.บ. หวั่นปฏิวัติการใช้เงินปท.
ในส่วนมุมมองของวุฒิสภาต่อร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท นายคำนูณ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากข้อมูลการชี้แจงของกระทรวงคมนาคม ที่ระบุว่า การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนนส่ง ปี 2556-2563 มีวงเงินรวมทั้งสิ้น 4.24 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ตาม พ.ร.บ.จำนวน 2 ล้านล้านบาท และเงินลงทุนประจำปีของแต่ละหน่วยงานตลอด 7 ปีอีกจำนวน 2.24 ล้านล้านบาท
สำหรับวิธีการใช้เงิน นายคำนูณ บอกว่า เมื่อดูตัวอย่างจากโครงการรถคันแรก ที่กรมบัญชีกลาง ออกมาแถลงว่าไม่รู้จะนำเงินที่ไหนไปคืนภาษีให้ประชาชน ซึ่งคงหนีไม่พ้นการกู้เพิ่ม หรือนำเงินจากคลังมาใช้ เห็นได้ว่า แนวทางการบริหารของกระทรวงการคลังและรัฐบาลสะท้อนปัญหาชัดเช่นเดียวกับโครงการจำนำข้าว ที่ ธ.ก.ส. กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ต่างโยนกันไปมา เมื่อมีบทเรียนเหล่านี้แล้ว เหตุใดไม่วางระบบให้รัดกุมขึ้น ใช้วิธีการอื่นนอกจากการกู้เงิน
"ผมไม่ใช่คนขวางโลก ที่จริงผมอยากเป็นฝ่ายรัฐบาลใจจะขาดเพราะสามารถอธิบายให้เคลิบเคลิ้มได้มากกว่านี้ แต่ที่ออกมาเรียกร้องและยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากต้องการให้ประชาชนเห็นอีกมุมหนึ่งนอกเหนือจากรถไฟความเร็วสูง ให้เห็นว่า การกู้เงินส่งผลต่อปัญหาอีกหลายด้าน ที่เรียกว่าเป็น "การปฏิวัติการใช้เงิน" ครั้งใหญ่ของประเทศ ที่ลดทอนขั้นตอนการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสไปแทบทั้งหมด"
สิ่งสำคัญ วันนี้ รัฐบาล ยังไม่ได้ชี้แจงให้ชัดเจนเลยว่า ติดขัดอะไร ตรงไหน ถึงจะลงทุนโครงการประเทศไทย 2020 ผ่านระบบ "ในงบประมาณ" ตามปกติไม่ได้