อุปนายก วสท.ค้านกู้เงินลงทุนชั่วลูก-หลาน ชี้ระบบวิศวะมีทางเลือกดีกว่านี้
'ไกร ตั้งสง่า' ค้านกู้เงินก้อนโตมาลงทุนชั่วลูก ชั่วหลาน ฉะขาดวินัยการคลัง แนะใช้ระบบปกติ แต่ทำต่อเนื่อง เน้นต่อแขนขารถไฟส่งสินค้า พัฒนารางคู่ ปรับปรุงระบบคลอง
เมื่อเร็วๆ นี้ นายไกร ตั้งสง่า อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวกับสำนักข่าวข่าวอิศรา ภายหลังการการเสวนา "70 ปี วิศวกรรมไทย ก้าวไกลไปกับ AEC" ณ ห้องบอลรูม 2 โรงแรม โซฟิเทล แบงค์กอก สุขุมวิท ถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลทั้งการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อบริหารจัดการน้ำ และการจะกู้เงินฯ 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ว่า ตนเห็นด้วยกับการลงทุนโครงสร้า้งพื้นฐาน แต่ไม่เห็นด้วยกับการออกเป็น พระราชกำหนด หรือพระราชบัญญัติ เนื่องจากเห็นว่าสามารถใช้วิธีปฏิบัติธรรมดาได้
"ผมเห็นด้วยว่าควรทำ แต่น่าจะผ่านการนำเสนอของสำนักงบประมาณ ผ่านขั้นตอนการรับรอง แบบวิธีปฏิบัติธรรมดา อาจจะใช้แค่ 70,000 ล้านบาท แบ่งการใช้งบเป็น 4 ปี ไม่ใช่วางงบก้อนโตในระยะยาวไปชั่วลูกหลาน เป็นแนวคิดที่ไม่มีวินัยทางการเงินการคลัง เน้นโครงการที่มีผลผูกพันระยะยาว" นายไกร กล่าวและว่า สิ่งที่อยากให้มุ่งเน้น และให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก คือ รถไฟขนส่งสินค้า ที่ปัจจุบันมี หากทยอยทำทุกปี ต่อแขนขารถไฟขนส่งสินค้าก่อน ทำให้ยะลา นราธิวาส ปัตตานี มีรางคู่ ให้มีรถไฟต่อไปถึงภูเก็ต พังงา สุราษฎร์ธานี จะเป็นการลงทุนเศรษฐกิจสาธารณะที่คุ้มค่า และได้ประโยชน์แก่ทุกคนอย่างแท้จริง ส่วนรถไฟความเร็วสูง ซึ่งค่าบริการน่าจะมากกว่านกแอร์ด้วยซ้ำ เห็นด้วยว่าควรทำ แต่ยังไม่น่าใช่เวลานี้
"ปัจจุบันมีรถไฟรางเดี่ยวทางเหนือแค่ลพบุรี ทางใต้นครปฐม ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สถานีมาบกะเบา สระบุรี หากทำเป็นรางคู่ จาก 36 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถลดต้นทุนทางโลจิสติกส์ได้จาก 18 บาท เหลือ 13 บาทได้ ผมอยากให้การวางโครงการต่างๆ เริ่มจากที่มีความ "จำเป็น" ก่อนที่จะทำตามความ "ต้องการ" คิดไม่ต้องยาวมาก แต่ทำอย่างต่อเนื่องจะดีกว่าวางโครงการในระยะยาวเกินไป ซึ่งจะมีผลต่อภาระทางการคลังของประเทศ"
นายไกร กล่าวต่อว่า ควรให้ความสำคัญกับการขนส่งทางน้ำให้มากขึ้น จากเดิมไทยมีคลองที่สามารถทำการขนส่งได้กว่า 2,700 คลอง แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 1,000 คลอง และการปรับปรุงระบบคลองนี้สามารถทำคู่ขนานไปกับโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลได้ เช่น ปรับปรุงคลองที่ตื้นเขิน หรือยกระดับสะพานให้สูงขึ้น ให้เรือสามารถผ่านได้ เพื่อลดต้นทุนทางโลจิสติกส์ และให้การขนส่งสินค้ามีทางเลือกที่มากกว่าบนรถไฟ หรือบนถนนที่ใช้รถ 18 ล้อ ซึ่งสิ้นเปลืองพลังงาน
"ผมและวสท.เคยออกมาแสดงความเห็น แนะนำ และเตือนก่อนหน้านี้แล้วว่า เป็นห่วงเรื่องวิธีการใช้เงิน โดยเฉพาะในงบ 3.5 แสนล้านบาท ที่ต้องมีการรับฟังข้อคิดเห็นประชาชน การเวนคืน ระยะเวลาสั้นเกินไปแต่โครงการใหญ่มาก การใช้ระบบเทิร์นคีย์ก็น่าเป็นห่วง เราเคยพูดหลายครั้งแล้ว แต่รัฐบาลก็ฟังมั่งไม่ฟังมั่ง ส่วน 2 ล้านล้านบาท ที่เน้นเรื่องระบบคมนาคม สิ่งที่น่ากลัวคือ เรื่องวินัย ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเป็น พระราชกำหนด หรือ พระราชบัญญัติ ซึ่งผิดวินัยทางการเงินการคลัง เป็นการสร้างหนี้อนาคตที่ไม่แน่ใจว่าทำให้ประเทศไทยเดือดร้อนมากขนาดไหน"
อุปนายกวสท. กล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลรับฟังความเห็นของวิศวกรไทยบ้าง อาจจจะได้แง่มุม และแนวความคิดที่หลากหลาย ที่จะทำให้ได้ของที่ดีที่สุด ในราคาที่พอสมควร เพราะในทางวิศวกรรมมีหลายทางเลือกที่ไม่ต้องกู้เงินทีเดียวก้อนโตขนาดนั้น นี่ยังไม่ได้รวมโครงการจำนำข้าว รถคันแรก อิสลามแบงค์เจ๊ง เอสเอ็มอีเจ๊ง รวมทั้งกิจกรรมในระบบประชานิยมอื่นๆ รวมแล้วกว่า 10 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้สาธารณะที่ยาวนานกว่า 60 ปีนับจากนี้