แรงงานนัดชุมนุมใหญ่ 3 เม.ย. ประท้วงสภาฯ ฉีกร่างฯ ประกันสังคมฉบับปชช.
คสรท.นัดชุมนุมใหญ่ 3 เม.ย. 56 ประณามสภาผู้แทนฯ ฉีกร่างประกันสังคมฉบับปชช. ส่อหมกเม็ดความไม่โปร่งใสกองทุนฯ – รอนสิทธิแรงงานนอกระบบ
วันที่ 26 มี.ค. 56 ที่มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) อ่านแถลงการณ์ประณาม ‘กรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่รับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ’
โดยแถลงการณ์ ระบุว่า สืบเนื่องจากเมื่อ 21 มี.ค. 56 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติในวาระที่ 1 ไม่รับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 14,264 คน ทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวต้องตกไปจากการพิจารณาตามกระบวนการนิติบัญญัติไทย ซึ่งคสรท. เห็นว่าเป็นการทำลายหลักการประชาธิปไตยทางตรงด้วยเหตุผล 6 ข้อ ดังนี้
1.รัฐธรรมนูญ (รธน.) พ.ศ.2550 ม.163 กำหนดให้การปรับลดผู้เสนอกฎหมายเหลือ 1 หมื่นรายชื่อ จากเดิม 5 หมื่นรายชื่อ และให้มีผู้แทนภาคประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายชี้แจงหลักการร่างกฎหมายฉบับนั้น รวมทั้งพิจารณากฎหมายในขั้นกรรมาธิการวิสามัญ จะต้องมีผู้แทนภาคประชาชนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของคณะกรรมาธิการทั้งหมด ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญของรธน.ในเรื่องประชาธิปไตยทางตรง ที่กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิใช้อำนาจอธิปไตยทางตรงคู่ขนานกับประชาธิปไตยทางอ้อมที่ใช้ผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่กลับใช้อำนาจทำลายอำนาจของประชาชน เท่ากับสิทธิในการเสนอกฎหมายภาคประชาชนถูกทำลายลง จึงสะท้อนได้ว่าหากกฎหมายฉบับใดที่ประชาชนร่างขึ้นไม่ถูกใจสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็จะไม่ถูกพิจารณาโดยทันที ถือเป็นการกีดขวางการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
2.กระบวนการเสนอกฎหมายภาคประชาชนเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมที่นำมาใช้เพื่อถ่วงดุลประชาธิปไตยตัวแทน ซึ่งถูกมองว่ากำลังถูกครอบงำจากอำนาจรัฐและกลุ่มทุน แต่ทางปฏิบัติพบว่าอำนาจรัฐไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชนเลย ทำให้การนำเสนอกฎหมายภาคประชาชนถูกกีดกัน เพราะขั้นตอนตามกระบวนการนิติบัญญัติให้อำนาจสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้คัดกรองร่างกฎหมาย หากเห็นด้วยก็จะให้ผ่านร่างนั้น ๆ ไปตามขั้นตอน แต่หากไม่เห็นด้วยก็จะลงมติไม่รับหลักการ เพื่อให้ร่างประชาชนตกไป
3.ทางการเมืองผู้แทนราษฎรถือเป็นตัวแทนหรือบ่าวของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ในกระบวนการนิติบัญญัติพบว่า ประชาชนเสนอกฎหมายมีฐานะเป็นบ่าวของสภาผู้แทนราษฎร เพราะมีการบัญญัติไว้ว่าร่างพ.ร.บ.ที่เสนอโดยประชาชนต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรให้มีอำนาจตัดสินใจขั้นตอนสุดท้ายเช่นเดิม ซึ่งทำให้สามารถขัดขวางการพิจารณาร่างกฎหมายได้ หากไม่ตรงความต้องการของตน
4.การปฏิเสธไม่รับร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับ 14,264 รายชื่อ สะท้อนให้เห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังขาดความรู้ต่อสาระสำคัญของกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถพิจารณาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสามารถจำกัดในการนำเสนอแนวทางเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขร่างกฎหมายที่มีอุปสรรคต่อการเข้าถึงของผู้ประกันตนในปัจจุบัน จึงมีโอกาสสูงที่จะมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม การทำงานมีคุณภาพต่ำ เพราะสนใจผลประโยชน์ของประชาชนน้อยกว่าตนเอง
5.ภาครัฐขาดการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการนิติบัญญัติอย่างโปร่งใส เพื่อให้ผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายเข้าถึง โดยเฉพาะข้อมูลที่ข้องเกี่ยวกับการร่างกฎหมายของภาครัฐ มีการถ่วงดึงขั้นตอน ไม่เอาใจใส่ และอ้างความล่าช้าของการติดตาม แสดงถึงเจตนาแอบแฝงไม่ให้ความสำคัญต่อการเสนอกฎหมายของผู้ใช้แรงงาน
6.สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ คือ มีความอิสระของสำนักงานประกันสังคม โดยเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมต้องมาจากการเลือกตั้งของคณะกรรมการ ไม่ใช่เป็นข้าราชการเช่นในปัจจุบัน เพื่อให้คนมีความสามารถมาบริหารได้ รวมถึงคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องอิสระจากกลุ่มผลประโยชน์ และให้มีการเลือกตั้งผู้แทนแรงงานเข้าเป็นตัวแทนด้วย เพื่อให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม เช่น ในระบบ นอกระบบ ข้ามชาติ ลูกจ้างภาครัฐ จึงเห็นว่าการปฏิเสธร่างฉบับดังกล่าวคือการไม่พยายามแก้ไขปัญหาของผู้ประกันตนที่มีมาอย่างต่อเนื่อง
ประธานคสรท. กล่าวเพิ่มเติมว่า การไม่ยอมให้กฎหมายผ่านมติสภาผู้แทนราษฎรเป็นการลิดรอนสิทธิแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ กลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน และแรงงานข้ามชาติ ดังนั้นเครือข่ายแรงงานก็จะขอปฏิเสธเข้าเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายของรัฐสภาเผด็จการพร้อมขอเรียกร้องผู้ใช้แรงงานทุกคนว่าการใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งต่อไป เราควรเลือกผู้แทนที่เห็นหัวคนจน เพราะประชาธิปไตยที่กินได้จะต้องคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ วันที่ 3 เม.ย. 56 บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา เครือข่ายผู้ใช้แรงงานจากทั่วประเทศจะนัดรวมตัวชุมนุมใหญ่ เพื่อแสดงจุดยืนไม่ยอมรับกระบวนการฉ้อฉลทางรัฐสภาที่ไม่ใส่ใจความทุกข์ยากของประชาชนด้วย ก่อนจะเพิ่มมาตรการการชุมนุมต่อไปอย่างต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับ 14,264 รายชื่อ กับร่างของส.ส.นคร มาฉิม จะให้สำนักงานกองทุนประกันสังคมดูแล ภายใต้การบริหารงานอิสระ ไม่เป็นราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีคณะกรรมการที่มาจากทุกฝ่าย ซึ่งแตกต่างจากร่างของรัฐบาลที่ยังคงเป็นราชการ และอยู่ภายใต้การบริหารของกระทรวงแรงงาน ทำให้อาจเกิดการแทรกแซงได้.