สถาบันพระปกเกล้าชี้ ไทยควรประเมินคุณภาพประชาธิปไตย
(25 มี.ค.) ที่พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้าจัดเปิดตัวหนังสือแปล “การประเมินคุณภาพประชาธิปไตย คู่มือปฏิบัติ” สำหรับหนังสือเล่มนี้ สถาบันพระปกเกล้าเป็นผู้จัดแปลจากหนังสือ Assessing the Quality of Democracy : A Practical Guide เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงเกี่ยวกับการประเมินคุณภาพประชาธิปไตยของประเทศต่าง ๆ
ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงกรอบแนวคิดในการประเมินคุณภาพประชาธิปไตยที่ผ่านการประยุกต์ใช้มาแล้ว 20 ประเทศ ว่า มี 4 กรอบแนวคิดคือ 1.ความเป็นพลเมือง กฎหมายและสิทธิ 2.การเป็นรัฐบาลที่เป็นตัวแทนและมีสำนึกรับผิดชอบ 3.ประชาสังคมและการมีส่วนร่วมของประชาชน 4.ประชาธิปไตยที่ไปไกลกว่าคำว่ารัฐ ทั้งนี้ การประเมินคุณภาพประชาธิปไตยต้องครอบคลุมในทุกภาคส่วนทั้งสถาบันการเมือง ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน หรือข้าราชการ
ดร.ถวิลวดียกตัวอย่างการประเมินคุณภาพประชาธิปไตยของประเทศไทย โดยใช้ตัวชี้วัดย่อยคือ ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อเจ้าหน้าที่รัฐและการบริการสาธารณะว่าปลอดจากการคอร์รัปชั่นมากน้อยเพียงใด ซึ่งข้อมูลจากข้อมูลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่จัดทำโดยสถาบันพระปกเกล้าเมื่อปี 2555 พบว่า ประชาชน 64.5% ไม่ยอมรับการทุจริตในรัฐบาลเพื่อให้งานลุล่วง ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่ามีการทุจริตในวงราชการ และประชาชนบางส่วนพบการคอร์รัปชั่น การรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งนำมาสู่ข้อสรุปว่า การทุจริตบั่นทอนกระบวนการประชาธิปไตย
ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการ สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ประเทศไทยถึงเวลาแล้วที่ควรมีการกระบวนการประเมินคุณภาพประชาธิปไตย ทั้งนี้ไม่ควรริเริ่มจากฝ่ายรัฐบาล แต่ประชาชนทุกภาคส่วนควรเป็นผู้เริ่ม เช่น นักวิชาการ สื่อมวลชน ภาคประชาสังคมต่าง ๆ เพื่อให้รัฐบาลเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุน และฝ่ายที่ถูกประเมินต้องยอมรับผลการประเมิน เพื่อนำไปปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น หรือนำไปสู่การปฏิรูป ทั้งนี้สถาบันพระปกเกล้ายินดีเชิญภาคส่วนต่าง ๆ มาช่วยกันทำให้ประเด็นสำคัญ ๆ ที่ใช้ชี้วัดคุณภาพประชาธิปไตย เกิดผลขึ้นจริงในสังคมไทย
ด้าน ศ.ดร.สุจิตร บุญบงการ อดีตประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวว่า การประเมินคุณภาพประชาธิปไตยอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่ควรนำประเด็นที่ใช้ประเมินมาขยายผลเพิ่มเติม เช่น จัดเสวนาหรือศึกษาวิจัยในเชิงลึกด้วย นอกจากนี้ ประชาธิปไตยที่เข้มแข็งจริง ๆ จะต้องพูดถึงความเป็นพลเมือง (Citizenship) ซึ่งจะนำมาสู่การมีส่วนร่วมทางการเมือง (participation) ที่เข้มแข็งด้วย.