‘พีรพล ไตรทศาวิทย์’ ขอปชช.ร่วมส่งเสียงดังผลัก “กองทุนต้านโกง” ผ่านสภาฯ
ภายหลังที่ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเริ่มลุกขึ้นมา "ส่งเสียง" ต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในสังคม แม้จะเป็นเสียงที่เบาบ้าง ดังบ้าง ก็นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่สะท้อนให้เห็นอีกมุมว่าคนไทยไม่ได้ยอม "จำนน" กับให้การทุจริต
อย่างไรก็ตาม การส่งเสียงจะดังได้ไม่นาน และไม่ต่อเนื่องหากขาดงบสนับสนุน ทั้งนี้ ไม่รวม "ผู้กล้า" อีกหลายคน ที่ต้องมีคดีติดตัว จากการให้ข้อมูล หรือสืบเสาะไปถึงวงจรทุจริต กระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงาน ป.ป.ช.ได้ให้คณะทำงานไปศึกษาแนวทางการกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริตจนได้ข้อสรุปว่า "กองทุนป้องกันการทุจริต" จะเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการป้องกันการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา จึงได้นัดพูดคุยกับ ดร.พีรพล ไตรทศาวิทย์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย และอดีตอธิบดีกรมที่ดิน ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนป้องกันการทุจริต ถึงแนวคิดริเริ่มและความเป็นมาในการศึกษาและผลักดันเพื่อจัดตั้งกองทุนสนับสนุนป้องกันการทุจริตขึ้น
• กองทุนสนับสนุนป้องกันการทุจริตมีแนวคิด ริเริ่มมาอย่างไร?
จะเห็นได้ว่าปัจจุบันภาคส่วนต่างๆ ในสังคมทั้งเอกชนและประชาสังคม ต่างขยับตัวต่อต้านการทุจริต แต่เนื่องจากไม่มีทุนที่จะทำอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งที่การขับเคลื่อนให้เกิดกระแส การศึกษาเรื่องที่มีการทุจริตมากๆ ว่าจะมีทิศทางกรแก้ไขอย่างไร และการสร้างจิตสำนึกในหมู่ประชาชน ต้องใช้ทุนจำนวนมากและต่อเนื่อง จึงเกิดแนวคิดว่าควรมีกองทุนขึ้นมา
โดยที่กองทุน จะทำหน้าที่ประสานและวางยุทธศาสตร์การทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ให้ชัดเจน และเป็นตัวบูรณาการการป้องกันและปลูกฝัง ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมและเอกชน ที่สำคัญกองทุนนี้จะช่วยเหลือคนที่มีส่วนในการติดตาม ต่อต้านแล้วโดนรังแก เช่น ถูกฟ้อง หรือถูกทำร้าย โดยอาจให้ทุนจ้างทนายมาช่วยในทางรูปคดี
• กรอบแนวคิดหลักเกี่ยวกับกองทุนต้านทุจริต ทำงานอย่างไร?
วางกลไกการทำงานของกองทุน คล้ายกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการให้เงินทุนแก่โครงการ หรือภาคส่วนที่ทำงานป้องกันการทุจริต แต่แรกเริ่มกองทุนจะไม่ใหญ่โตเท่ากับ ส.ส.ส. แต่เชื่อว่า เมื่อองค์กรก่อตั้งขึ้น และสามารถสร้างศรัทธา หรือมีผลงานที่ดี เงินจะหลั่งไหลเข้ามา โดยเฉพาะหากสามารถขอเรื่องลดภาษีได้ ภาคเอกชนจะเข้ามาร่วมบริจาคมากขึ้น ฉะนั้น ทิศทางในอนาคตจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับผลงาน 1-2 ปีแรก
• กลไกการทำงานของกองทุนต้านทุจริต จะเป็นอย่างไร?
จะเป็นการสร้าง หรือปลุกกระแสป้องกันการทุจริต ให้สังคมรู้สึกว่า ถึงเวลาที่ต้องขยับ ต้องลุกขึ้น จะหยุดนิ่งไม่ได้แล้ว อย่างที่ กกร.ในนาม องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เริ่มต้นมา เป็นทิศทางที่ดี แต่ก็ต้องการการสนับสนุนอย่างเป็นทางการ เพราะจริงอยู่ที่เอกชนมีเงินมาก แต่ส่วนมากเห็นว่าถ้าให้แล้วจะถูกเพ่งเล็ง
ในส่วนการบริหารงานจะมีบอร์ดคู่ ได้แก่ 1.บอร์ดบริหาร 2.บอร์ดประเมินผล ที่จะได้มาจากการสรรหา โดยคณะกรรมการสรรหาที่มาจากองค์กรหลากหลายสาขาอาชีพ เพื่อป้องกันการรวบหัวรวบหาง
• ที่มาของแหล่งเงินในกองทุน คาดว่าต้องใช้เท่าไหร่?
มีหลายแหล่งที่วางกรอบเอาไว้ เช่น เงินเพิ่มตามจำนวนของโครงการเมกะ โปรเจกต์ สัดส่วนจากยึดทรัพย์ เงินบริจาคผู้เสียภาษีเงินได้ เงินอุดหนุนจากรัฐบาล เงินอุดหนุนและการบริจาคจากภาคเอกชนหรือต่างประเทศ เงิน 1% จาก กสทช. เงินส่วนหนึ่งจากกองสลาก รายได้จากการจัดการทรัพย์สินและรายได้เงินบำรุง ธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่นๆ อย่างไรก็ตามต้องรอให้สภาฯ อนุมัติว่าเห็นชอบด้วยหรือไม่ อาจเพิ่มลดได้ แต่ดูแนวโน้มแล้วน่าจะลดมากกว่า
"ไม่ได้ตั้งธงเอาไว้ว่างบประมาณที่ได้ควรเป็นเท่าไหร่ หากมีเงินสนับสนุนน้อยก็ทำได้น้อย มีมากก็สนับสนุนได้มาก"
ทั้งนี้ ในแต่ละปีจะมีการประชุมร่วมกับประชาชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินว่าประชาชนอยากขับเคลื่อนเรื่องไหน ฉะนั้น หากมีกองทุนสนับสนุนอย่างเป็นทางการ และเป็นกลาง มีเงินงบประมาณมากจากหลายๆ แหล่ง ไม่มีใครจะสามารถสั่งได้ จะเป็นการทำงานที่มีอิสระ ที่จะสนับสนุนการทำงานของภาคส่วนต่างๆ ให้ต่อยอด ก้าวหน้าไปถึงวงกว้างมากขึ้น
• ขั้นตอนการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดกองทุนต้านทุจริต
ได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ผู้สนใจและผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว 2 ครั้ง จากนี้จะนำเสนอร่าง พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการป้องกันการทุจริต พ.ศ. ... ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในเดือนเมษายน จากนั้นจะนำเสนอต่อรัฐบาลและรัฐสภาในเดือนพฤษภาคม โดยคาดว่าจะผ่านรัฐสภาเป็นกฎหมายภายในปี 2557 จึงจะเริ่มจัดตั้งและดำเนินการได้ปลายปี 2557 และเห็นผลงานอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2558
"มองในแง่ดีปลายปี 2557 จะสามารถจัดตั้งและดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมได้ อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับภาคประชาสังคมที่กำลังเรียกร้องอยู่ในปัจจุบัน หากกระแสและการเรียกร้องแรงขึ้นเรื่อยๆ กฎหมายฉบับนี้ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ตามกำหนดการที่วางไว้"
• เคยมีกองทุนสนับสนุนการป้องกันการทุจริตในประเทศอื่นๆ หรือไม่ ผลการทำงานเป็นอย่างไร?
มีที่ฮ่องกง และเกาหลี ซึ่งทาง ป.ป.ช.ได้ไปศึกษาดูงาน ว่ากองทุนนี้ทำงานกันอย่างไร มีระบบอย่างไร วางข้อกฎหมายไว้อย่างไร และขึ้นตรงกับใครหรือไม่ เพื่อมาเปรียบเทียบกับร่างฉบับของเรา แต่ก็พยายามทำภายใต้ระบบเมืองไทย ที่เป็นอิสระ โดยการสรรหาคณะกรรมการมาบริหาร ให้เป็นองค์กรอิสระที่สามารถตรวจสอบได้ โดย ป.ป.ช.แต่คงไม่ได้อยู่ภายใต้ ป.ป.ช. ซึ่งขณะนี้ฝ่ายเลขาฯ คณะทำงาน กำลังนำผลการทำงานที่เป็นรูปธรรมของทั้งเกาหลี และฮ่องกงมาเรียบเรียงข้อมูล ว่าการมีกองทุนดีอย่างไร และเหตุใดจึงต้องมี
• จะทำอย่างไรให้กองทุนต้านทุจริต เกิดขึ้นได้ โดยไม่ติดขัด หรือค้างที่สภาฯ
ต้องเรียกร้องกันทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคเอกชนและประชาสังคม ให้เกิดเสียงดังจากทั้งสังคม ถึงวันนั้น หากใครไม่ทำตามก็คงเป็น "ผู้ร้าย"
ผมเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะออกได้ แต่อาจจะช้าหน่อย เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลกำลังทำเรื่องต้านทุจริตกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) อยู่ ซึ่งผมว่าเรากำลังพูดเรื่องเดียวกันกับรัฐบาล และกองทุนนี้จะไปช่วยภาคประชาสังคมให้ติดตามลึกไปอีก ก็ไม่น่ามีปัญหาใดๆ ที่รัฐบาลจะขัดข้อง
"เราพยายามสร้างองค์กรที่ "เป็นกลาง" ไม่อยู่ใต้ร่ม หรือเป็นลูกของหน่วยงานใด ไม่อย่างนั้นจะติดเรื่อง "การเมือง" จนไม่สามารถออกเป็นกฎหมายใด"
• นอกจากสนับสนุนการป้องกันทุจริต กองทุนนี้ทำงานอะไรอีกบ้าง?
ทำงานร่วมกับองค์กรทั่วไปที่มีกิจกรรมต้านทุจริตที่ดี แต่หากได้ข้อมูล เบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตมาจากองค์กรหรือภาคส่วนต่างๆ แล้ว จะทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางช่วยส่งต่อข้อมูลไปยัง ป.ป.ช.เพื่อไปทำหน้าที่ปราบปรามต่อไป
• ช่วงนี้รัฐบาลกำลังสนใจกฎหมายฉบับอื่นอยู่ กฎหมายฉบับนี้จะได้รับการสนใจอย่างที่วาดฝันกันหรือไม่?
เราต้องการกระแสการเรียกร้องดังๆ จากภาคเอกชนและประชาชน เมื่อสังคมรู้สึกพร้อมกันว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ดีที่ภาคการเมืองควรรับไปพิจารณา ฉะนั้น แม้จะไม่เต็มใจ หรือไม่อยากทำเขาก็อาจจะให้ผ่านได้ เพราะกฎหมายที่ประชาชนเรียกร้องมักจะต้องผ่าน ยิ่งหากส่งเสียงดังมากๆ ก็ยากที่ภาคการเมืองจะกล้าปฏิเสธ
• ทำอย่างไรให้เกิด "เสียงดัง" พอที่ภาคการเมืองจะปฏิเสธไม่ได้
ท้ายที่สุด อยู่ที่ประชาชนทุกคน ภาคเอกชนและทุกคนในสังคมที่ถึงเวลาต้องช่วยกันเรียกร้องร่วมกัน จนเกิดเป็นความเคลื่อนไหวจากทั้งสังคม สำหรับรัฐบาล ผมอยากจะบอกว่า กองทุนสนับสนุนการป้องกันทุจริตเป็นเรื่องที่ดี หากเกิดขึ้นได้ รัฐบาลก็จะได้เสียง เพราะแสดงให้เห็นว่า "รัฐบาลจริงใจ" และเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกับที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ จึงไม่น่ามีอะไรขัดแย้ง และไม่น่ามีข้อติดขัดใดๆ ที่รัฐบาลจะไม่เห็นด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : อึ้ง! งบฯป้องกันคอร์รัปชั่น ป.ป.ช.ต่ำเตี้ยติดดิน พบไม่ถึง 1 บาท/หัวประชากร
ป.ป.ช. เล็งชงร่างกองทุนป้องกันทุจริตเข้าสภา พ.ค.นี้ คาดตั้งได้ปลายปี57