มุมมองสันติภาพ...รัฐ-สื่อ-ผู้หญิง และความเป็นจริงจากพื้นที่
เดือน มี.ค.เป็นอีกเดือนหนึ่งที่มีเวทีสัมมนาหลายเวที แต่เดือน มี.ค.ปีนี้ถือเป็นวาระพิเศษ เพราะเป็นช่วงที่รัฐบาลกำลังประกาศริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ ที่อ้างตัวว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น
เวทีต่างๆ เกือบทุกเวทีจึงยึดโยงหรือสะท้อนมุมมองไปถึงกระบวนการพูดคุยสันติภาพด้วย...
อย่างไรก็ดี ก็ยังมีบางเวทีที่พูดกันถึงปัญหาสังคมในพื้นที่ ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานที่ภาคราชการและภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมักไม่ค่อยให้ความสนใจ โดยเฉพาะปัญหาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข การศึกษา และการล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งๆ ที่สันติภาพจะเกิดขึ้นได้จริง ย่อมต้องสะสางปัญหาเหล่านี้ให้หมดไปด้วย
สุกำพล : การพูดคุยเป็นมิติใหม่-เชื่อทำให้ใต้สงบ
บนเวทีเสวนาเรื่อง "เจาะลึกสถานการณ์ชายแดนใต้" ที่มี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นไฮไลท์ ร่วมกับรัฐมนตรีอีกหลายราย ภายหลังร่วมงาน "เปิดปฏิบัติการขบวนการบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต" ที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 มี.ค.2556 ทั้งรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้นำเสนอมุมมองต่อสถานการณ์ในพื้นที่เอาไว้น่าสนใจพอสมควร
พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า ทุกคนเป็นคนไทยเชื้อชาติเดียวกัน เรื่องที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต้องช่วยกันแก้ไข เช่น การหยิบยกประวัติศาสตร์มาเป็นข้ออ้างและเงื่อนไขความขัดแย้ง ทั้งๆ ที่มาจากการบิดเบือน เรื่องนี้ต้องแก้ไขอย่างรอบคอบเพื่อให้ความรุนแรงจบลงอย่างเด็ดขาด การพูดคุยกับขบวนการ (แบ่งแยกดินแดน) เป็นมิติใหม่ เป็นสิ่งที่มีแล้วจะทำให้ไฟใต้สงบ การพูดคุยครั้งนี้อยู่ภายใต้ข้อเสนอของไทยที่ไม่มีการแบ่งแยกดินแดน การเจรจาจะทำกันไปควบคู่กับงานพัฒนา ตอนนี้เรารู้แล้วว่าต่อสู้อยู่กับใคร และทำอย่างไรจะให้พี่น้องประชาชนอยู่อย่างสงบสุข
นายประชา ประสพดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า มหาดไทยมีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนด้านต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นตัวเชื่อมมวลชนให้กลับมาอยู่ในที่ที่มองเห็นและพัฒนาได้ หากยังเข้าไม่ถึงมวลชนก็พัฒนาไม่ได้ จึงอยากขอความเข้าใจและความร่วมมือจากพี่น้องและชุมชนเพื่อพัฒนาก้าวไปด้วยกัน
ทวี : ต้องเร่งสร้างความเท่าเทียม-ชอบธรรม
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า การพูดคุยในวันที่ 28 มี.ค.นี้ ถ้าตกลงกันได้ก็จะส่งผลดีกับพื้นที่อย่างเต็มที่ เรื่องนี้มีพลังมากพอที่จะทำให้เกิดผล การไปพูดถึงอนาคตต้องดูที่เด็กและเยาวชน และให้องค์กรต่างๆ มาเป็นศูนย์กลาง มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ยังไม่จบ เรื่องใหญ่ที่ต้องทำเร่งด่วนคือความเท่าเทียมและชอบธรรม ซึ่งต้องดูในรายละเอียดของรัฐ
"อาชีพที่เป็นความใฝ่ฝันสูงสุดของคนที่นี่คือรับราชการ ยกตัวอย่างเปิดรับสมัคร 30 ตำแหน่ง มาสมัครกัน 6 พันกว่าคน ถึงเวลาที่รัฐต้องให้ความเป็นธรรมกับคนในพื้นที่หรือยัง เป็นเรื่องที่ต้องมาพูดคุยกัน"
พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า การแก้ปัญหาที่เคยมีมาจากอดีตจนถึงปัจจุบันที่มีการเจรจา อาจมีการต่อรองมากไป ต้องมาออกแบบการพูดคุยใหม่ สิ่งที่คาดหวังจากการพูดคุยคือสิ่งที่เป็นอยู่จริง แผนงานที่นำไปสู่เป้าหมาย และกระตุ้นให้ก้าวไปสู่สันติสุข
เครือข่ายผู้หญิง : สันติภาพมิได้เกิดชั่วข้ามคืน
ด้าน เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเห็นและเรียกร้องต่อทุกฝ่าย 6 ข้อ หลังจากมีข่าวรัฐไทยกับฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนลงนามริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพเมื่อ 28 ก.พ.2556
1.เครือข่ายฯสนับสนุนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพอย่างเต็มที่ เพราะเห็นว่าเป็นกระบวนการแก้ปัญหาในแนวทางสันติวิธีที่ทุกพื้นที่ขัดแย้งทั่วโลกใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมไทยร่วมกันส่งเสริม สนับสนุนกระบวนการพูดคุยให้นำไปสู่การสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน
2.กระบวนการพูดคุยที่มีจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการและเปิดเผยต่อสาธารณะระหว่างฝ่ายรัฐไทยและฝ่ายขบวนการที่เห็นต่างจากรัฐ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า อาจต้องอาศัยเวลาและความต่อเนื่อง กว่าจะบรรลุข้อตกลงที่สองฝ่ายยอมรับกันได้ และในระหว่างการพูดคุยก็ย่อมมีปัญหาอุปสรรค รวมทั้งความรุนแรงที่ยังคงเกิดขึ้นได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้จึงขอเรียกร้องให้ทุกๆ ฝ่ายในสังคมไทยเข้าใจว่ากระบวนการพูดคุยไม่ใช่ยาวิเศษที่สามารถสร้างสันติภาพได้ชั่วข้ามคืน
3.ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เข้าร่วมในกระบวนการพูดคุยมีความจริงใจต่อกัน เคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน ทำให้พื้นที่การพูดคุยมีความปลอดภัยและไว้วางใจ รวมทั้งอดทนอดกลั้นต่อปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการพูดคุย เพื่อพัฒนาไปสู่การแสวงหาทางออกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งร่วมกันให้ได้
4.ขอเรียกร้องให้มีการเปิดเผยผลการพูดคุยแต่ละครั้งเพื่อให้ประชาชนซึ่งมีส่วนได้เสียได้รับทราบ นอกจากนั้นขอเรียกร้องให้พิจารณามีตัวแทนของภาคประชาสังคมที่มีผู้หญิงอยู่ด้วย เข้าร่วมในกระบวนการพูดคุยในครั้งนี้ (เริ่ม 28 มี.ค.2556)
5.ในระหว่างนี้ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันสร้างบรรยากาศและสภาวะแวดล้อมที่เอื้อและสนับสนุนกระบวนการพูดคุยและกระบวนการสร้างสันติภาพ โดยขอเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายลดการใช้ความรุนแรงจากการใช้อาวุธต่อกันอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงที่ทำให้ประชาชนที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งต้องได้รับผลกระทบ
6.สันติภาพ สันติสุข ในความหมายของผู้หญิง นอกเหนือจากหมายถึงความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแล้ว ยังหมายถึงการมี "4 อ" คือ อ.อาหาร อ.อาชีพ อ.อนามัย อ.อัตลักษณ์ และต้องไม่มี "1 อ" คือ อ.อยุติธรรม ส่วน "อ.สุดท้าย" คือ อ.อำนาจในการจัดการตนเองที่เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ต้องการให้สมาชิกในสังคมได้มีสิทธิปและมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
คนทำสื่อ : ประตูแห่งข้อมูลข่าวสารถูกเปิดแล้ว
วันอังคารและพุธที่ 12-13 มี.ค.2556 มีงาน "วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 3 สนามสันติภาพ : เครือข่ายการสื่อสารภาคประชาสังคม" หรือ Field of Southern Peace : Communication Networks of Civil Socitety และชุมนุมช่างภาพชายแดนใต้ ครั้งที่ 3 ที่หอประชุมเล็กและลานกิจกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อ.เมือง จ.ยะลา
ในงานมีวงเสวนาหลากหลายประเด็น เช่น การสื่อสารเพื่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ มี เสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวความมั่นคง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ร่วมวงด้วย เขากล่าวว่า มองเห็นบรรยากาศกำลังเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมาภาคประชาสังคมเคลื่อนไหวเรื่องสันติภาพ แต่ไม่เคยเห็นรัฐเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมให้สังคมเห็นว่ามีการพูดคุยสันติภาพ แต่พอต้นปีนี้กลับเคลื่อนไปถึง 90% มีการลงนาม และกำลังจะมีการพูดคุยเรื่องสันติภาพรอบแรกปลายเดือน มี.ค.
ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากความขัดแย้งของฝ่ายความมั่นคง ความไม่เป็นเอกภาพ และความเห็นที่แตกต่างกันเองในหน่วยงานรัฐ ปัญหาของชายแดนใต้เหมือนกับอาเจะห์ (อินโดนีเซีย) และมินดาเนา (ฟิลิปปินส์) ส่วนตัวมีโอกาสไปอาเจะห์ ได้คุยกับแกนนำของอาเจะห์ที่เข้าไปพูดคุยกับรัฐบาลอินโดนีเซียจนทำให้เกิดสันติภาพขึ้น
"ผมถามว่าทำไมอาเจะห์ไม่เลือกแบ่งแยกดินแดน แกนนำตอบว่าจับปืนสู้มาหลายปีก็สู้ได้ จับปืนต่อได้ แต่โอกาสชนะมีน้อยมาก จึงถึงจุดที่ต้องคุยกันเรื่องสันติภาพ หากยังมีสงครามอยู่เยาวชนจะเป็นอย่างไร เรื่องแบบนี้สะท้อนถึงเมืองไทย เมื่อพูดถึงสังคมไทยจะมองว่าการปกครองแบบพิเศษเป็นการแบ่งแยกดินแดน ทำอย่างไรจะให้เข้าใจว่าเป็นการแก้ปัญหาที่อยู่ภายในกรอบของรัฐธรรมนูญ ส่วนการแบ่งแยกดินแดน ต้องทำให้เห็นว่าหากจะเกิดขึ้นจะอยู่บนพื้นฐานอะไร ปัจจัยไหนที่จะเป็นไปได้ ต้องพูดคุยกันให้เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น" เสริมสุข กล่าว
ขณะที่ นวลน้อย ธรรมเสถียร จากกลุ่ม FT Media กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ทำมาทั้งสื่อเล็กและสื่อใหญ่ ตอนนี้มาทำสื่อทางเลือก ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เห็นวิธีคิดการนำเสนอเรื่องราวออกสู่ภายนอก แรกๆ ก็ติดขัด จากการเป็นผู้ได้รับผลกระทบที่อยากให้คนข้างนอกเข้าใจ ยังไม่ค่อยมีทักษะในการนำเสนอ กลายเป็นมีคนในพื้นที่มาทำงานและพัฒนาจนสื่อสารกับคนข้างนอกได้อย่างเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ
"เหตุ 16 ศพที่บาเจาะ (โจมตีฐานนาวิกโยธินที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อ 13 ก.พ.2556) กรณีมะรอโซ (นายมะรอโซ จันทรวดี หนึ่งในแกนนำที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม) ปลุกคนในพื้นที่ให้ตื่นว่ามีตัวตนจริง คนในสังคมตื่นมาพบความจริงว่ามีคนทำเช่นนี้จริง และการทำข้อตกลงสันติภาพเป็นการปลุกให้ตื่นอีกครั้ง พบว่าคนที่ต่อต้านรัฐมีเวทีอย่างเป็นทางการ ทั้งที่ก่อนหน้านี้บอกว่าไม่มีการเจรจา ตอนนี้ประตูแห่งข้อมูลข่าวสารเปิดแล้ว เป็นหน้าที่ของสังคมและคนในพื้นที่ต้องช่วยกันหาคำตอบ ต้องสร้างบรรยากาศในการพูดคุยอย่างเสรี เปิดใจ กระบวนการสันติภาพเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา"
ในงานเดียวกัน มีการเสวนาพิเศษเรื่อง "Making Media Now: Thriving In A Changing Landscape" โดย สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ "บก.ลายจุด" ผู้โด่งดังในโลกออนไลน์ และยังเป็นผู้ดำเนินรายการประชาชน 3.0 ทางสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ กล่าวว่า เมื่อสื่ออยู่ในมือประชาชนจะทำลายการผูกขาดของรัฐ สิ่งใหม่ที่มาทดแทนก้าวหน้ากว่าเสมอ ที่ผ่านมาสังคมระดับชาติที่ปะทะกันเพราะแข่งกันล้าหลัง ดึงสังคมให้ถอยกลับ ฉะนั้นชายแดนใต้ต้องก้าวไปข้างหน้า
"คุณมีพื้นที่ในการสื่อสาร จงใช้มันอย่างเป็นประโยชน์ การต่อสู้มี 2 รูปแบบ คือ ทางการทหาร เอาปืนมายิงกัน กับการสู้รบทางการเมือง ไม่เสียเลือดเนื้อ และชนะกันด้วยความมีเหตุผลมากกว่า ต้องหาพวก โน้มน้าวกันด้วยเหตุผล ด้วย 3 หลักการคือ ความจริง ความดี และความงาม โลกแบบเดียวไม่มีอีกแล้ว ซิมมือถือในประเทศไทยมีมากกว่าจำนวนคนไทยทั้งประเทศ อัตราเร่งนี้ต้องใช้ประโยชน์จากมัน ความสำเร็จคือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ยอมรับการมีอยู่ของความขัดแย้ง แต่ต้องไม่ยอมรับความรุนแรง ต้องหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และก้าวไปสู่การพัฒนา" บก.ลายจุด กล่าว
อังคณา : อย่าลืมปัญหาสังคม-เด็กอายุ 11 ไปฝากครรภ์
ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ผู้หญิงพุทธและมุสลิมหลายร้อยคนได้จัดกิจกรรม "รวมพลังผู้หญิงสานสันติเพื่อสันติภาพชายแดนใต้" เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล (8 มี.ค.) ประจำปี 2556 ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี โดยมี 14 องค์กรร่วมสนับสนุน เช่น เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ และ ศอ.บต. เป็นต้น
จุดมุ่งหมายของกิจกรรมนี้ คือรณรงค์ให้ทุกฝ่ายหยุดใช้ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ และเหตุการณ์ความไม่สงบที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ และพัฒนาการของเด็ก สตรี ครอบครัว ชุมชน และประเทศ
ทั้งนี้ สมาชิกเครือข่ายสตรีที่เป็นมุสลิมได้ร่วมประกอบพิธีละหมาดฮาญัตเพื่อขอพรให้เกิดสันติสุข ส่วนสตรีที่เป็นพุทธได้นิมนต์พระมาประกอบพิธีสวดมนต์เพื่อขอให้เกิดสันติสุขเช่นกัน โดยแยกห้องกันประกอบศาสนกิจ
อังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวในหัวข้อ "พลังผู้หญิง สานสันติภาพ ชายแดนใต้" ว่า ปัญหาที่สุมทับผู้หญิงและเด็กในพื้นที่เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญและทุกฝ่ายต้องร่วมกันจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
"กว่า 9 ปีที่ผ่านมาผู้หญิงและเด็กในพื้นที่ต้องเผชิญปัญหาความรุนแรงจากโครงสร้างทางอำนาจอย่างเงียบๆ ตัวเลขผู้หญิงตั้งครรภ์และการคลอดก่อนกำหนดมีมากขึ้น การเข้าไม่ถึงสิทธิของการดูแลอนามัยเจริญพันธุ์ยังมีมาก เด็กเป็นโปลิโอ คอตีบ ไอกรน ทั้งที่มีวัคซีน พบการแพร่เชื้อเอดส์ไม่น้อยกว่าที่อื่น อัตราการตายสูง แสดงว่าผู้หญิงและเด็กเข้าไม่ถึงยาและการรักษาที่มีประสิทธิภาพ พบการแต่งงานอายุน้อยลง อายุ 11 ปีไปฝากครรภ์แล้ว ซึ่งไม่สามารถพบตัวเลขนี้ได้จากสถานีตำรวจ ขณะเดียวกันก็พบว่ามีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ได้รับบาดเจ็บจากความรุนแรงทางเพศในครอบครัว"
อังคณา กล่าวต่อว่า ผู้หญิงมุสลิมจำนวนมากไม่กล้าลุกขึ้นมาปฏิเสธหรือท้าทายสิ่งที่ถูกต้อง หลายคนถูกกล่าวหาว่าการไปทำงานนอกบ้านคือการไปหาสามีใหม่ ให้ระวังการตกนรก ทั้งที่ในความเป็นจริงอิสลามให้ความสำคัญกับผู้หญิงอย่างยิ่ง และไม่มีศาสนาใดข่มเหงผู้หญิง สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงความเชื่อและทัศนคติที่กดทับ ความจริงคือเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ทำให้ผู้ชายจำนวนมากไม่กล้าทำงาน ผู้หญิงต้องรับผิดชอบทุกอย่าง กลายเป็นวัฒนธรรมผู้ชายไม่ทำงาน ผู้หญิงมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ไม่สามารถทำหน้าที่เลี้ยงลูกได้อย่างเต็มที่ คงยากและอีกนานที่จะไปเปลี่ยนแปลงครอบครัว ชุมชน และสังคม หากผู้หญิงยังไม่สามารถจัดการกับเรื่องใกล้ตัวได้อย่างลงตัว
สิ่งที่ต้องเผชิญคือ การใช้ผู้หญิงเป็นเครื่องมือในการใช้ความรุนแรงต่อกัน ความรุนแรงในที่นี้ยังหมายถึงความรุนแรงในครอบครัว ผู้หญิงถูกข่มขืนจากพี่ชาย น้องชาย พ่อ แต่เป็นเรื่องไม่ถูกเปิดเผยบนโต๊ะ กลไกในการป้องกันยังไม่เกิด สถิติการหย่าร้างมักปรากฏที่คณะกรรมการการอิสลามประจำจังหวัด แต่เป็นไปไม่ได้ที่ผู้หญิงจะไปเล่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นให้ใครฟัง เพราะกรรมการอิสลามล้วนเป็นผู้ชาย
"อยากเรียกร้องไปยังรัฐว่าจะมีข้อเสนอในเรื่องเหล่านี้อย่างไร มีแผนแห่งชาติต่อความรุนแรงต่อผู้หญิงได้หรือไม่ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากผู้หญิงไม่รวมตัวกันเรียกร้อง ยอมรับว่าวันนี้ผู้หญิงยังขาดความสามัคคีและความเป็นหนึ่งเดียว หากผู้หญิงชายแดนใต้ทำได้ จะกลายเป็นตำนานและเป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ" อังคณา ระบุ
เสาวนีย์ : มีคนทำมาหากินบนความเดือดร้อนชาวบ้าน
รศ.เสวนีย์ จิตต์หมวด ประธานศูนย์นโยบายโลกมุสลิม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า 20 กว่าปีที่รับรู้และติดตามปัญหาชายแดนใต้ เห็นว่ายังไม่มีความคลี่คลาย การแก้ปัญหาต้องมีความจริงจัง จริงใจ แต่ความเป็นจริงก็คือยิ่งมีแผนพัฒนาของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กับงบประมาณจำนวนมหาศาลยิ่งเป็นปัญหา เป็นละครฉากหนึ่งที่ละลายงบประมณจากภาษีของประชาชน แผนดีแต่การแปรแผนไปสู่การปฏิบัติเหมือนไอศครีมที่ละลายเกือบหมด เม็ดเงินของงบประมาณคือปัญหา เหลือถึงพี่น้องในพื้นที่เพียงนิดเดียว เพราะมีการทำมาหากินบนความเดือดร้อนของประชาชน ทำให้ความจริงใจไม่เกิดสักที
รอซิดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ยังเชื่อและมุ่งมั่นว่าสันติภาพยังมีอยู่เสมอ สันติภาพทำให้มีชีวิต มีพลัง ความทุกข์ที่ถูกเอาเปรียบจะรอความหวังจากรัฐไม่ได้ ต้องลุกขึ้นมาแก้ด้วยตัวเอง
ในการนี้ มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพได้ออกแถลงการณ์ถึงรัฐบาล นาวสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องในวันสตรีสากล ดังนี้
1.รัฐบาลต้องให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของผู้หญิงในพื้นที่ขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยต้องสร้างกลไกป้องกันไม่ให้มีการใช้ผู้หญิงหรือเด็กหญิงเป็นเครื่องมือในการใช้ความรุนแรง
2.สนับสนุนให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ รวมถึงการมีส่วนร่วมในทุกระดับของการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหา
3.สร้างกลไกเพื่อป้องกันผู้หญิงจากความรุนแรงในครอบครัว ในกรณีที่ผู้หญิงหรือเด็กหญิงได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศ รัฐต้องให้ความสำคัญในการปฏิบัติต่อผู้เสียหายอย่างเหมาะสม ให้คำปรึกษาที่จำเป็นกรณีที่ต้องมีการฟ้องร้องดำเนินคดี และจะต้องไม่แนะนำให้ผู้เสียหายจากความรุนแรงถอนฟ้องหรือยอมความโดยผู้เสียหายไม่เต็มใจ
4.สนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าถึงสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ รวมถึงการป้องกันและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงยาและการรักษา ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้หญิง โดยให้สอดคล้องกับบริบททางศาสนาและวัฒนธรรม
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 บรรยากาศการเสวนาหัวข้อ "เจาะลึกสถานการณ์ชายแดนใต้"
2 นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด กำลังแสดงทัศนะอย่างออกรส ในงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ (ภาพทั้งหมดโดย เลขา เกลี้ยงเกลา)