‘แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล’ กลางแรงบีบ ‘ร่างพรบ.กู้ 2.2 ล้านล้าน’ ความจริงจากปากบารา
ท่ามกลางแรงบีบของร่างพรบ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้าน เป็นแรงผลักให้เครือข่ายภาคประชาชนคนใต้ ระดมพลลุกขึ้นต่อสู้อีกครั้ง เพื่อบอกความจริงของท่าเรือน้ำลึกปากบารา ตัวอย่างความไม่คุ้มทุนของเงินกู้ก้อนนี้
27 มี.ค.คนใต้รวมพลค้านเมกกะโปรเจ็คภายใต้เงินกู้ 2.2 ล้านล้าน
“27 มี.ค.56 ที่สงขลา เครือข่ายประชาชนภาคใต้จะประชุมกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวกรณีที่เมกะโปรเจ็กต์ภาคใต้ถูกบรรจุในร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ 2.2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล วันเดียวกันจะเคลื่อนไหวในอำเภอละงู จังหวัดสตูล เพื่อส่งสัญญาณถึงรัฐบาลก่อนมีการนำร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรวันที่ 28 มี.ค.56”
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี คณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล อ่านแถลงการณ์หน้าศาลากลางจังหวัดสตูล ท่ามกลาง ชาวบ้าน เด็กๆจากอำเภอละงู จังหวัดสตูล และอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่บ้างคาดหัว บ้างห้อยคอด้วยผ้าเขียวสกีน ‘ปกป้องสตูล’ ชูธงเขียว ‘STOP ท่าเรืออุตสาหกรรมปากบารา’ 3 ธง ยกป้ายกระดาษ ‘ท่าเรือน้ำลึกปากบาราไม่ใช่คำตอบของการพัฒนา’ และ ‘พรบ.เงินกู้! ใครได้! ใครเสีย’
21 มี.ค.56 ชาวบ้านประมาณ 50 คน ยืนชักแถวในศาลากลางจังหวัดสตูล ถือป้ายผ้า ‘หยุดพรบ.เงินกู้เพื่อสร้างท่าเรือ คนตูลไม่เอา’ และ ‘หยุดแลนด์บริดจ์ หยุดพรบ.เงินกู้’ รวมถึงภาพการ์ตูนล้อเลียนโดยเปรียบร่าง พ.ร.บ.เงินกู้นี้ เป็นปีศาจ ที่มือซ้ายถือประเทศไทย เท้าขวากำลังเหยียบรัฐธรรมนูญ
“ร่างพรบ.เงินกู้ อาจจะบีบให้ต้องผ่านรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ (EHIA) และสามารถเพิกถอนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราได้ บีบให้เวนคืนที่ดินสร้างทางรถไฟได้”
วิโชคศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปลาย เม.ย.56 นี้จะระดมเครือข่ายภาคประชาชนสตูลและภาคใต้ชุมนุมใหญ่คัดค้านโครงการสะพานเศรษฐกิจ(แลนด์บริดจ์)สงขลา-สตูล ที่ จ.สตูล จากนั้นจะจัดเวทีสมัชชาคนสตูลร่วมกับภาคประชาสังคมและส่วนราชการเพื่อระดมความเห็นถึงแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพจังหวัดสตูล
ชาวบ้านยื่นหนังสือคัดค้านถึงนายกฯยิ่งลักษณ์ ผ่านผู้ว่าฯสตูล
นางเจะนะ รัตนพันธุ์ เป็นตัวแทนชาวบ้านอ่านและยื่นหนังสือร้องเรียนถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านนายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล…
…ในนามของเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล และเครือข่ายคนรักสงขลา-สตูล มีความเห็นว่าโครงการเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทจำนวนมหาศาลนี้ รัฐบาลจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบมิเช่นนั้นจะก่อให้เกิดปัญหาหนี้สาธารณะ และตกเป็นภาระกับคนไทยทั้งประเทศในระยะยาว ส่วนกรณีที่มีการบรรจุงบประมาณในโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา–สตูล ถือเป็นว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ด้วยเหตุผลดังนี้
1. หนี้สินสาธารณะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้คนไทยทั้งประเทศต้องแบกรับภาระระยะยาว 50 ปี
2. โครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ต้องศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชนใหม่ ตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่ยุติว่าต้องก่อสร้างหรือไม่
3. โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 (สวนกง) ยังอยู่ในระหว่างศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งยังไม่มีผลสรุปที่ชัดเจน รวมถึงจุดที่ตั้งที่เหมาะสม และยังไม่มีข้อยุติว่าควรสร้างหรือไม่
4. โครงการรถไฟรางคู่ ระหว่างสงขลา–สตูล ผลการศึกษายังไม่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นโครงการที่ประชาชนสองจังหวัดตั้งข้อสงสัยมีข้อสังเกตว่าจะทำลายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม แหล่งทำกินของประชาชนอย่างมาก ยังไม่มีข้อยุติว่าควรสร้างหรือไม่
5. โครงการแลนบริดจ์สงขลา–สตูล มีความไม่คุ้มทุน เคยมีเสียงทักท้วงจากนักธุรกิจเดินเรือว่าการสร้างท่าเรือฝั่งอันดามันไม่มีความจำเป็น เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการขนส่งมากกว่าเดิม ประกอบกับการเปิดเสรีอาเซียนซึ่งไทยเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนภายใต้วาทะกรรม “อาเซียนไร้พรมแดนหรืออาเซียนเป็นหนึ่งเดียว” จึงควรยกเลิกความคิดการพัฒนาแบบปัจเจก แต่มองการพัฒนาแบบองค์รวมร่วมกันของอาเซียน
เครือข่ายประชาชนฯ จึงมีข้อเสนอไปถึงรัฐบาลดังนี้…
1. รัฐบาลต้องยกเลิกการกู้เงินจำนวนมหาศาลที่จะสร้างภาระหนี้สินให้ประชาชน และควรคำนึงถึงการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานความจำเป็นเร่งด่วน โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นสำคัญ
2. รัฐบาลไม่ควรบรรจุแผนงบประมาณในชุดโครงการแลนบริดจ์ทั้งหมด คือโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา และท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 (สวนกง),โครงการรถไฟรางคู่สงขลา-สตูล หรือโครงการอื่นๆ เพราะยังอยู่ในระหว่างการศึกษาแนวคิด และยังไม่มีการตัดสินใจตามขั้นตอนกฎหมายปกติ รวมทั้งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดยเฉพาะมาตรา 66 และ 67
3. รัฐบาลต้องทบทวนแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ทั้งหมด ตามที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ และควรคำนึงถึงความสูญเสียด้านทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม แหล่งท่องเที่ยว แหล่งอาหาร และวิถีวัฒนธรรมของภาคใต้
4. รัฐต้องสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่จังหวัดสตูล บนฐานต้นทุนทางสังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และศักยภาพของพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนภาคใต้อย่างแท้จริง ได้แก่ การพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืนการเกษตรกรรมสมดุล และการประมงอย่างรับผิดชอบ
“คณะรัฐมนตรีแค่อนุมัติรับหลักการร่างพ.ร.บ.เงินกู้เท่านั้น 28 มี.ค.56 ถึงจะเข้าสภาผู้แทนราษฎร ยังไม่มีอะไรรับประกันว่าจะผ่านหรือไม่ ถ้าร่างพ.ร.บ.เงินกู้ ไม่ผ่าน คณะรัฐมนตรีต้องลาออกทั้งคณะ”
ผู้ว่าฯสตูล กล่าวกับชาวบ้านและรับปากส่งหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรี โดยส่งโทรสารไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี และขอให้ทางจังหวัดร่วมจัดเวที ‘สมัชชาคนสตูล’ปลาย เม.ย.56 กับเครือข่ายภาคประชาสังคม’ เพื่อระดมความคิดเห็นถึงแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพจังหวัดสตูล
‘คุ้ม-ไม่คุ้ม’ อะไรคือความจริงของท่าเรือน้ำลึกปากบารา
ย้อนกลับไป 19 มี.ค.56 ครม.อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ 2 ล้านล้านบา โดยมีโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา อ.ละงู จ.สตูล 1.2 หมื่นล้านบาท ท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 อ.จะนะ จ.สงขลา 1 หมื่นล้านบาท โครงการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมท่าเรือน้ำลึกปากบารา-ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 (จะนะ) 4.6 หมื่นล้านบาท
พาดหัวข่าว ‘คมนาคมเร่งเดินหน้าท่าเรือปากบาราเงินลงทุน 1.2 หมื่นล้านภายใน 4 ปี’ ของสำนักข่าวไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กำกับดูแลขนส่งทางน้ำให้สัมภาษณ์ว่าจะเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างคือท่าเรือน้ำลึกปากบารา 1.2 หมื่นล้านบาท มีศักยภาพรองรับการส่งออกสินค้าในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะยางพาราซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยแต่ละปีมีมูลค่าเกือบ 3 แสนล้านบาท คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 3-4 ปี ส่วนท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 งบ 1หมื่นล้านบาท
“โครงการลงทุนเหล่านี้เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและลดต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยในอนาคต รัฐบาลกำหนดเป้าหมายต้องลดต้นทุนที่ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 15.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 2 ภายใน 7 ปีข้างหน้า”
ขณะที่ทรรศนะผู้ประกอบการเดินเรือว่าท่าเรือน้ำลึกปากบารา จากเวทีเสวนา "ท่าเรือน้ำลึกปากบารา เศรษฐกิจ 'ได้' หรือ 'เสีย'" 22 มี.ค.54 ในพาดหัว ‘เสวนา: ท่าเรือน้ำลึกปากบารา เศรษฐกิจ ได้หรือเสีย’ ของสำนักข่าวประชาไท นายสุวัฒน์ อัศวทองกุล นายกสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพ เห็นต่างจากนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) นายวันชัย ศารทูลทัต ประธานกรรมการบริษัทไทยเบฟเวอเรจโลจิสติกส์จำกัด นายนาวี พรหมทรัพย์ ที่ปรึกษาประธานหอการค้า จังหวัดสตูล ฯลฯ เรื่องความคุ้มค่าทางธุรกิจ
นายสุวัฒน์ มองว่าท่าเรือน้ำลึกปากบาราไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ไม่คุ้มค่าที่จะสร้าง เนื่องจากสินค้าส่งออกทางภาคใต้มีปริมาณจำกัด ส่วนใหญ่เป็นยางพาราและอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง โดยจะมีสินค้าส่งออกประมาณ 1.5 แสนทีอียู(20ตู้คอนเทนเนอร์) ออกที่สงขลา 6-7หมื่นตู้ และออกที่ปีนัง 6-7หมื่นตู้
“เราคาดหวังกับท่าเรือน้ำลึกปากบารามากเกินไป สินค้าไทยในภาคใต้มีประมาณ 3 แสนตู้ต่อปี สินค้าหลักคือยางพารา ผู้ซื้อรายใหญ่คือจีนกับญี่ปุ่นส่งออกที่ท่าเรือสงขลา จึงต้องออกทางฝั่งตะวันออก ยางพาราควรออกที่สงขลาเพราะจะได้ค่าระวางถูกกว่า ฉะนั้นสินค้าภาคใต้เอง ที่จะมาออกทางปากบาราจึงเหลือน้อย… แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล เนื้อหาฟังดูดีแต่ค่าใช้จ่ายสูง เพราะว่าเป็นการขนส่งแบบซ้ำซ้อน เส้นทางรถไฟมีความยาว 100 กว่ากิโลเมตร ทำให้มีค่าใช้จ่ายต่อตู้สูงแพงเกินไป ในแง่ผู้ประกอบการคงไม่ใช้ ฉะนั้นค่าถ่ายลำที่มาเลเซียจะถูกกว่า ถ้ามองระยะเวลาอาจจะลดลงจริง แต่ถ้ามองในแง่ธุรกิจไม่น่าจะเป็นประโยชน์นัก”
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ( สนข. ) พูดในงานสัมมนา "การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน ประเทศชาติและประชาชน (ภาคใต้) ได้อะไร?" 10 มี.ค.56 ในเชิงจะสร้างรายได้และเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ให้กับภาคใต้ ในพาดหัวข่าวของข่าวสด ‘ทุ่มงบ 10%ลงภาคใต้-ปัดฝุ่นท่าเรือปากบาราสตูล "ปู"เรียกหารือด่วนร่างพ.ร.บ 2 ล้านล้าน’ นายจุฬา บอกว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาคใต้จะเป็นการเชื่อมโยงเส้นทางไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 โดยภาคใต้เน้นการพัฒนาระบบราง ท่าเรือ และถนน ใช้งบประมาณเบื้องต้นประมาณ 10% ของ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งในปีแรกของการดำเนินการจะพัฒนาระบบถนนที่จะขยายเป็น 4 เลน และซ่อมแซมบางเส้นทาง อาทิ เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-หาดใหญ่ และเส้นทางระนอง-ชุมพร ขณะที่ระบบรางและท่าเรือจะเริ่มดำเนินการปี 2557-2558
“ส่วนการพัฒนาท่าเรือ โดยเฉพาะท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารานั้น กระทรวงคมนาคมยืนยันเดินหน้าก่อสร้างภายใต้โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เพราะถือว่าเป็นประโยชน์กับประเทศ ในด้านการกระจายสินค้าไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งเชื่อว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภาคใต้ครั้งนี้ จะสร้างรายได้และเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ให้กับภาคใต้ได้อย่างแน่นอน” นายจุฬา เชื่อ
ทว่า ผศ.ดร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล ผอ.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง มีพาดหัวข่าว ‘ยันผุดท่าเรือปากบาราไม่คุ้ม-ใช้ทวายแทน ชี้สู้ท่าเรือใหญ่ในแถบเอเชียไม่ได้’ โดยมองว่าปัจจุบันเจ้าของบริษัทเดินเรือระดับท็อป 25 ของโลกคือผู้กำหนดเส้นทางเดินเรือ เช่น เอเวอร์กรีนของไต้หวัน ฮุนไดของเกาหลีใต้ บริษัทเหล่านี้กำหนดเองว่าจะหยุดที่ไหน แล้วในแง่ของขนาดท่าเรือ แหลมฉบังถือเป็นท่าเรือขนาดกลาง มีความจุปีหนึ่ง 10.2 ล้านทิวบ์ (ทิวบ์คือตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต) ส่วนท่าเรือกรุงเทพเต็มที่ปัจจุบันประมาณล้านกว่าทิวบ์ ที่ปากบาราแค่ 3 แสนทิวบ์ จะเห็นว่ามันไม่ใหญ่ จะไปเปรียบเทียบกับท่าเรือสิงคโปร์ไม่ได้ ท่าเรือสิงคโปร์เป็นท่าเรือติดอันดับโลก ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังที่จุได้ 10 กว่าล้าน แต่มีสินค้าจริงๆแค่ 5 ล้านกว่าตู้ แม้แต่แหลมฉบังเองยังไม่มีของไปวางให้เต็ม ดังนั้นในทางปฏิบัติเรือก็จะไปชุมทางอยู่ที่สิงคโปร์
“ผมพูดมาสี่ห้าปีแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับท่าเรือน้ำลึกปากบารา เพราะการสร้างท่าเรือมันต้องมีปัจจัยแห่งความสำเร็จเยอะ หนึ่ง-ขึ้นอยู่กับภาคเอกชน หมดยุคแล้วที่ภาครัฐจะสร้างท่าเรือ โดยไม่ดูมิติอื่นๆ”
……………………………………
เป็นหลายทรรศนะที่สวนทางอย่างสิ้นเชิงกับกระทรวงคมนาคม ที่ยังคงยืนยันต้องสร้างแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2ล้านบาทของรัฐบาล ที่ภาคประชาชนคนภาคใต้ขอลุกขึ้นคัดค้านเต็มแรง .