สภาฯคว่ำ กม.ประกันสังคมฉบับ ปชช. แรงงานตอก รบ.ต้องการหมกเม็ดปัญหากองทุนฯ
ร่าง กม.ประกันสังคมฉบับ ปชช. ดัน “สปส.เป็นองค์กรอิสระ-ขยายคุ้มครองแรงงานนอกระบบ”ร่วงกลางสภาฯ ภาคประชาชน-สส.เจ้าของร่างตอก รบ.ต้องการหมกเม็ดความไม่โปร่งใสกองทุนฯ
วันที่ 21 มี.ค.56 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ เป็นประธาน และได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม 4 ฉบับคือฉบับ ครม. ฉบับนายเรวัต อารีรอบ ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ ฉบับ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 14,265 คน และฉบับนายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้รับหลักการวาระ 1 ในฉบับ ครม.และฉบับนายเรวัต พร้อมตั้งกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญ 31 คนแปรญัตติ 7 วัน ทั้งนี้ ส่วนอีก 2 ฉบับนายนครและฉบับภาคประชาชน สภาฯลงมติไม่รับหลักการ
สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับ ครม.เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน กรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษา กรรมการแพทย์ และอำนาจหน้าที่คณะกรรมการการแพทย์ รวมทั้งการคำนวณค่าจ้างรายวันในการจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ ยกเลิกการตัดสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีจงใจหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำให้ตนประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย เพื่อขยายความคุ้มครองให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์มากยิ่งขึ้น
วันเดียวกันที่รัฐสภา นายนคร เปิดเผยถึงกรณีที่สภาฯ ฉบับของตนและฉบับภาคประชาชนว่า ขอแสดงความเสียใจกับประชาชนผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศเพราะทั้ง 2 ร่างเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงาน เป็นการแก้ปัญหาของกองทุนประกันสังคมที่มีมาอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลกลับไม่มีความจริงให้กับผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง
ด้านน.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนและผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฯฉบับประชาชน เปิดเผยว่ากองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งภาคประชาชนควรจะมีส่วนรวม คณะกรรมการประกันสังคมน่าจะมีการเลือกตั้งเพื่อความโปร่งใส ให้เกิดประโยชน์กับผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง ร่างกฎหมายฉบับประชาชนมีสาระให้ปรับปรุงกองทุนประกันสังคมให้มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ ซึ่งภาคประชาชนได้ใช้เวลาถึง 3 ปีในการผลักดัน และประวัติศาสตร์การพิจารณาร่างกฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอไม่เคยถูกตีตกตั้งแต่วาระแรก อย่างน้อยก็ต้องนำไปถกเถียงกันในชั้นกรรมาธิการ
น.ส.วิไลวรรณ กล่าวอีกว่าการตีตกกฏหมายครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ต้องการให้มีการตรวจสอบการบริหารจัดการกองทุนฯ ซึ่งในปัจจุบันมีปัญหาความไม่โปร่งใสหลายอย่าง เช่น ใช้งบประมาณดูงานต่างประเทศปีละกว่า 30 ล้านบาท งบประชาสัมพันธ์อีกหลายสิบล้าน สถานประกอบการค้างจ่ายเงินสมทบถึง 4,000 ล้านบาท เมื่อรัฐบาลไม่ต้องการช่วยเหลือคนจนและแรงงาน จึงขอปฏิเสธรัฐบาลชุดนี้ที่บริหารประเทศแบบเผด็จการไม่เคยฟังเสียงประชาชน ใช้แต่เสียงส่วนใหญ่ในสภาฯ
ทั้งนี้สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับประชาชนแตกต่างจาก พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ กำหนดให้สำนักงานประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระ บริหารงานกองทุนฯ ผ่านรูปแบบการมีคณะกรรมการชุดต่างๆ มีกระบวนการหรือกลไกการตรวจสอบ ขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่มให้บัตรเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาล และผู้ประกันตนมีสิทธิรับรู้เข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกองทุนประกันสังคมทุกเรื่อง เพิ่มบทลงโทษนายจ้างกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย .
ที่มาภาพ : http://bit.ly/YtjwS5