วสท.ชี้ข้อกำหนดโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านยังไม่รอบคอบ หวั่นได้งานไม่คุ้มเงิน
วสท.ยันโครงการน้ำควรหยุดและทบทวน ฉะเอาการศึกษาขึ้นหิ้งมาปัดฝุ่นขาย ไม่ได้มีแนวคิดใหม่ วิเคราะห์ข้อกำหนดมูลค่าก่อสร้างสูงสุดไม่ช่วยให้ได้เปรียบอย่างที่คิด หวั่นได้ไม่คุ้มเสีย
วันที่ 21 มีนาคม สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) จัดเสวนา เรื่อง "TOR 3.5 แสนล้าน ประเทศไทยจะได้อะไร" ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร วสท. โดยมี นายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายกฯ วสท. นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ผศ.ดร.คมสัน มาลีสี รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ดร.วิชา จิวาลัย กรรมการสภาวิศวกร และผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมร่วมเสวนา
นายปราโมทย์ กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลไม่เข้าใจการขับเคลื่อนโครงการใหญ่ๆ ไม่สามารถใช้ขั้นตอนอย่างที่รัฐบาลกำลังทำได้ จะต้องมีการวางระบบออกแบบไว้ก่อน ทั้งนี้ ตนเห็นว่า ครม.ทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่อนุมัติให้สร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งท้ายที่สุดก็เริ่มต้นการก่อสร้างไม่ได้ เพราะผิดขั้นตอนตั้งแต่แรก โดยเฉพาะการรับฟังความคิดเห็นประชาชน เช่นเดียวกับทีโออาร์ฉบับล่าสุดก็ยังให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนน้อย
ด้านผศ.ดร.คมสัน กล่าวถึงข้อกำหนดในทีโออาร์ที่ระบุให้บริษัทต้องรับผิดชอบในการจัดทำการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเองและกำหนดระยะเวลาการก่อสร้างตามสัญญาเป็นเวลา 5 ปี นั้น มีความเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนที่ต้องใช้เวลาเป็น 10 ปีขึ้นไป เนื่องจากต้องจัดทำการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการเวนคืนที่ดิน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลายาวนานก่อนที่จะก่อสร้างได้ ฉะนั้น การเขียนทีโออาร์ในลักษณะนี้ จึงเท่ากับว่า "ผลักภาระ" ไปยังบริษัทที่รับเหมาทั้งหมด
"แม้ว่า กบอ.มองว่าข้อกำหนดเช่นนี้จะเป็นผู้ได้ประโยชน์ และให้กำหนดมูลค่าการก่อสร้างสูงสุด (maximum price) ไว้แล้วก็ตาม ท้ายที่สุดบริษัทจะหาทางเลี่ยงและเงินทั้งหมดจะไปกองอยู่ที่การประกันความเสี่ยงของบริษัท แต่เนื้องานในการก่อสร้างจะได้ไม่คุ้มจำนวนเงิน เนื่องจากบริษัทที่รับเหมาในแต่ละโครงการนั้นไม่มีทางยอมเสียประโยชน์หรือขาดทุนขนาดนั้น ดังนั้น ข้อกำหนดที่ กบอ.คิดว่ารอบคอบหรือได้เปรียบแล้วอาจไม่ถูกต้องนัก"
ส่วนดร.วิชา กล่าวว่า ขณะนี้โครงการในงบบริหารจัดการน้ำที่มาจากการเร่งรีบกู้เงินนี้ยังไม่มีการระบุชัดว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบหากโครงการไม่เสร็จสิ้น หยุดชะงักหรือมีปัญหาฟ้องร้อง จะมีผู้รับผิดชอบทางกฎหมาย หรือพิจารณาลาออกหรือไม่ ซึ่งน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ผ่านมายังไม่มีการจัดทำรายงานทางเทคนิค (Technical report) ของสาเหตุที่เกิดน้ำท่วม ยังไม่มีการสังคายนาข้อมูลของลุ่มน้ำต่างๆ โดยเฉพาะเจ้าพระยา ดังนั้น ไม่สามารถทำการออกแบบและรับเหมาก่อสร้าง (Design and Build) ได้
"แม้จะจ้างทีมที่ปรึกษามาควบคุมงานให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ ก็ยังมองไม่เห็นว่าใครจะกล้าหาญเอาคอมาขึ้นเขียง"
ทั้งนี้ วิศวกรผู้ทรงคุณวุฒิส่วนใหญ่ก็เห็นตรงกันว่าโครงการย่อยในทีโออาร์ฉบับล่าสุดล้วนเป็นโครงการที่หน่วยงานราชการไทยได้คิดและทำการศึกษา "ขึ้นหิ้ง" ไว้นานแล้ว ทั้งที่ประชาชนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่เป็นโครงการที่มีคนอยากได้ ก็ถูกนำมา "ปัดฝุ่น" แล้วผลักไปยังมือผู้รับเหมา ไม่ได้เป็นโครงการที่ได้จากการเลือกสรรเทคนิคใหม่ๆ จากต่างประเทศแต่อย่างใด
ขณะที่นายสุวัฒน์ กล่าวว่า การบริหารจัดการเรื่องโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทเป็นตัวอย่างการบริหารจัดการสำคัญที่จะทำให้ประชาชนหรือองค์กรหน่วยงานภาคส่วนอื่นๆ ไม่สามารถไว้วางใจรัฐบาลในโครงการอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะโครงการที่จะกู้เงินก้อนโตอย่างจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม วสท.ไม่มีวาระซ้อนเร้นใดๆ ในการออกมาจัดเวทีเสวนาเป็นไปเพื่อต้องการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ในส่วนของข้อเสนอต่อโครงการนี้ ทาง วสท.ยืนยันตรงกันว่ารัฐบาลควรหยุดชะลอโครงการ เพื่อตั้งหลักและทบทวนข้อมูลและวิธีการ แล้วค่อยเริ่มต้นใหม่อย่างถูกวิธี ไม่อย่างนั้นทางสุดท้ายคงต้องเปลี่ยนผู้บริหาร