ดร.สุรินทร์แนะไทยเร่งพัฒนาฝีมือ เป็นผู้ให้บริการทางกฎหมาย รับ AEC
อดีตเลขาธิการอาเซียน จี้ราชการไทย เร่งปรับตัวรับมือเปิดประชาคมอาเซียน เจรจา ต่อรอง ปกป้องผลประโยชน์ชาติ เชื่อย่ำอยู่กับที่ ไร้ประสิทธิภาพ ไม่โปร่งใส เสี่ยงนำประเทศไปสู่ความขัดแย้ง - เสียผลประโยชน์
(21 มี.ค.) ที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลปกครองจัดการบรรยายพิเศษเรื่อง “ประเทศไทยกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” โดย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน
ดร.สุรินทร์ กล่าวถึงการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับบทบาทของระบบราชการไทยด้านการยุติธรรม โดยเฉพาะศาลปกครองว่า ศาลปกครองในปัจจุบันมีความจำเป็นที่จะต้องดำรงความยุติธรรมระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชน เพราะหน่วยงาน องค์กรของรัฐต่าง ๆ มีความซับซ้อนมากขึ้น รวมทั้งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะส่งผลมาสู่ศาลปกครองด้วย เนื่องจากจะมีความเกี่ยวข้องหลายเรื่องระหว่างหน่วยราชการกับผู้เล่นทางเศรษฐกิจใหม่ที่จะเข้าในระบบเศรษฐกิจของไทย
ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า การเข้ามาประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างต้องขอใบอนุญาตจากไทย ต่างชาติจะเข้ามาร่วมลงทุนมากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนคือการให้บริการทางกฎหมาย (legal services) เพราะเขาต้องการมาใช้นักกฎหมายไทยที่มีความเชี่ยวชาญในการร่างสัญญาต่าง ๆ ที่รัดกุมเป็นประโยชน์กับเขา
“ในขณะนี้ สิงคโปร์ได้เปิดการให้บริการทางกฎหมายให้กับการลงทุนจากทั่วโลก บริษัทต่าง ๆ ที่จะมาลงทุนในอาเซียนไปขอใช้บริการทางกฎหมายจากสิงคโปร์ช่วยร่างสัญญาให้ จะเห็นว่า ประเทศไทยเสียเปรียบตรงจุดนี้ไปแล้ว”
อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พ.ศ. 2558 จะมีกรณีต่าง ๆ ที่ให้งานด้านศาลปกครองเข้าไปเกี่ยวข้อง ไปมีส่วนชี้แนะให้คำแนะนำหน่วยงานต่าง ๆ เหล่านั้น เพราะจะมีคนที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งไทยต้องอาศัยความพร้อมด้านบุคลากรที่มีทักษะและประสบการณ์เพื่อรับประกันความเป็นธรรมและความโปร่งใสแก่นักลงทุน บริษัทต่าง ๆ ชาติไทย มิฉะนั้นไทยจะเสียเปรียบการให้บริการทางกฎหมาย ไปอยู่ในประเทศที่มีความพร้อมกว่า ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะมาลงทุนในประเทศไทยจะลดลง
ดร.สุรินทร์ กล่าวอีกว่า ภายหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ระบบราชการจะมีฐานะผู้กำกับควบคุมดูแล กิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น แม้ระบบราชการไทยยังไม่พร้อมที่จะรับมือกับประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก แต่ผลประโยชน์ของประเทศชาติตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เราต้องไปต่อรอง ปกป้อง ผลประโยชน์ของประเทศ นอกประเทศ เป็นความท้าทายต่อระบบราชการไทยทั้งหมด ที่ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองครั้งใหญ่ ต่อไปนี้หน่วยราชการและข้าราชการจะมีโอกาสสัมผัสกับชาวต่างชาติมากขึ้น ถ้าเรายังไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีความโปร่งใส ก็เสี่ยงที่จะนำประเทศไปสู่ความขัดแย้งและเสียผลประโยชน์
“เงินทุนแสนสองหมื่นล้านบาทที่จะมาลงในอาเซียน เขาจะไม่มาลงที่ประเทศไทยก่อน เพราะหลายอย่างยังไม่พร้อม โดยเฉพาะ 30% ของเงินลงทุนจะต้องรั่วไหลไปกับการคอร์รัปชั่น ถ้าไม่มีระบบตรวจสอบการใช้อำนาจที่จะประกันความโปร่งใสและความเชื่อมั่นของนักลงทุน” ดร.สุรินทร์ กล่าว