นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ชี้ไม่ใช่ปีทองคุ้มครองผู้บริโภค-กสทช.ทำงานไม่จริงจัง
‘เดือนเด่น’ ชี้กสทช.ไม่ให้ความสำคัญคุ้มครองผู้บริโภค งบต่ำ-คนน้อย เลขาฯ วชช.แนะขยายผลพีอาร์ฟรีทีวี
วันที่ 21 มี.ค. 56 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดสัมมนา ‘ปีทองการคุ้มครองผู้บริโภค ทำอย่างไรผู้บริโภคจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง’ ณ สำนักงานกสทช.
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันกสทช.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคปีละประมาณ 4,000-5,000 เรื่อง เช่น กรณีการเก็บค่าบริการโทรศัพท์นาทีละ 99 สตางค์ การส่งเอสเอ็มเอสรบกวนผู้ใช้บริการ หรือพรีเพด ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่า การร้องเรียนของผู้บริโภคต่อกสทช.ยากขึ้น เพราะมีการเรียกขอเอกสารเพิ่มเติม ทำให้เรื่องร้องเรียนกว่า 900 เรื่อง ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาตามเงื่อนระยะเวลา 30 วันที่กฎหมายกำหนด โดยมีเพียง 16% เท่านั้นที่แก้ไขได้ เพราะการดำเนินงานที่ล่าช้าของสำนักงาน ประกอบกับไม่มีการกำกับดูแลที่ชัดเจน
นอกจากนี้ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้งานด้านคุ้มครองผู้บริโภคไม่พัฒนา เกิดจากการจัดสรรงบประมาณน้อย จากเดิมเคยได้ปีละ 200 ล้านบาท เหลือเพียง 60 ล้านบาทในปี 55 โดยใช้ได้จริง 15 ล้านบาทเท่านั้น ประกอบกับจำนวนพนักงานรับเรื่องเรียนที่มีเพียง 15 คน ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนเรื่องร้องเรียนที่มีถึง 5,000 เรื่อง กลายเป็นหลักฐานสำคัญบ่งชี้ว่ากสทช. ไม่สนับสนุนงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคที่ดี แม้จะพูดว่าเป็นปีทอง แต่เป็นเพียงสัญญาลมปากที่ไม่เคยได้ปฏิบัติจริง
“การประชุมงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคปี 55 จำนวน 21 ครั้ง ผอ.กลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (ผอ.รท.) เข้าประชุมเพียง 6 ครั้ง ขณะที่รองเลขาธิการกสทช.เข้าประชุมเพียง 5 ครั้ง หลังจากนั้นก็หายไปทั้งสองท่าน จึงถามว่านี่เหรอความจริงใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนชัดเจนโดยไม่ต้องถกเถียงกัน”
อนุกรรมการฯ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลเชิงประจักษ์ กสทช.ไม่ได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งในเชิงงบประมาณ บุคลากร และการสนับสนุนการทำงานของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแต่อย่างใด นอกจากการสร้างขั้นตอนในการทำงานที่ยุ่งยากเพิ่มเติม ทำให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคล่าช้า
ฉะนั้นกสทช.ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวในการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ใช้โยนหรือโทษความผิดให้ผู้อื่น เพราะอย่าลืมว่ากสทช.เป็นองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน แต่หลายครั้งมักอ้างติดขัดกลไกในการแก้ไขปัญหาเหมือนระบบราชการ จึงแนะนำต้องไปแก้ไขระบบองค์กรให้ดีเสียก่อน
นายชัยรัตน์ แสงอรุณ อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า ปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์จะติดขัดในเรื่องงบประมาณ บุคลากร ซึ่งมองว่าน้อยกว่างานด้านโทรคมนาคมเสียอีก ทั้งที่มีการร้องเรียนจากผู้บริโภค ทั้งกรณีโฆษณาเกินจริงในสื่อวิทยุชุมชน เคเบิลทีวี บ่อยครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง นอกจากนี้บทบาทของคณะอนุกรรมการฯ จากเดิมมีอำนาจหน้าที่ 9 ด้าน กลับถูกปรับลดเหลือเพียง 3 ด้านเท่านั้น จึงยากต่อการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพได้
นายวิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (สวชช.) กล่าวว่า จากปัญหางบประมาณ บุคลากร และการกำกับดูแลของกสทช.ที่ไม่ชัดเจน ทำให้ปีนี้ยากที่จะเป็นปีทองสำหรับการคุ้มครองผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม หากจะให้จัดเวทีเสวนาให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วประเทศคงไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะปัจจัยต่าง ๆ ไม่เอื้ออำนวย แต่ภาคประชาสังคมมองว่า ควรมีการประชาสัมพันธ์ในสื่อกระแสหลักอย่างฟรีทีวี เพื่อรณรงค์ให้ความรู้เข้าถึงสิทธิผู้บริโภค ส่วนการเชื่อมโยงกับวิทยุชุมชนและเคเบิลทีวีนั้น อาจจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังคงมีข้อจำกัดหลายด้านอยู่
“ไม่รู้ว่ากสทช.กล้าประกาศให้ปี 56 เป็นปีทองของการคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างไร ในเมื่อปีที่แล้วจำได้ว่าได้รับคะแนนการประเมินงานดังกล่าวเพียง 3 คะแนนเท่านั้น” เลขาฯ สวชช. กล่าว.