กษ.มั่นใจ"ไม่รับจำนำข้าวอายุสั้น" ไม่กระทบเกษตรกร ‘ดร.นิพนธ์’ชี้ส่อล้มโครงการ
กษ.มั่นใจไม่รับจำนำข้าว 18 สายพันธุ์-ไม่กระทบเกษตรกร โต้พาณิชย์ฯปีนี้ไม่มีข้าวอายุสั้นเข้าโครงการ ‘ดร.นิพนธ์’ชี้ตรวจสอบยาก-เกณฑ์ใหม่ส่อสัญญาณ รบ.เตรียมล้มโครงการเพราะถังแตก
วันที่ 20 มี.ค. 56 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) เปิดเผยว่าจากมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) 11 มี.ค. 56 ได้ให้ความเห็นชอบกรอบการดำเนินโครงการและหลักเกณฑ์การรับจำนำข้าวเปลือกรอบที่ 2 ปีการผลิต 55/56 หรือ ข้าวนาปรังปี 56 โดยคงราคาข้าวเปลือกเจ้า 100% ที ตันละ 1.5 หมื่นบาท ความชื้นไม่เกิน15% เช่นเดิม และได้เพิ่มหลักเกณฑ์สำหรับข้าวที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการมีอายุต่ำกว่า 110 วันที่มีคุณภาพต่ำ 18 สายพันธุ์
ได้แก่ 1.)พันธุ์ข้าว 75 หรือ บีพี 75 2.)พันธุ์ ซี 75 3.) พันธุ์ราชินี 4.) พันธุ์พวงทอง 5.)พันธุ์พวงเงิน 6.)พันธุ์พวงเงินพวงทอง 7.)พันธุ์พวงแก้ว 8.)พันธุ์ขาวปทุม 9.)พันธุ์สามพราน 1 10.) พันธุ์ 039 หรือเจ้าพระยา 11.)พันธุ์โพธิ์ทอง 12.)พันธุ์ขาวคลองหลวง 13.)พันธุ์มาเลเซีย 14.)พันธุ์เตี้ยมาเล 15.)พันธุ์ขาวเมเล 16.) พันธุ์มาเลแดง 17.)พันธุ์เบตง และ18)พันธุ์อีแล็ป หรืออีเล็ป ซึ่งถือเป็นการควบคุมคุณภาพข้าวตั้งแต่ต้นน้ำ กระตุ้นให้เกษตรกรใช้พันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพและได้รับการรับรองจากกรมการข้าว เพื่อคงความยอมรับด้านคุณภาพข้าวไทยในตลาดโลก
นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่าจากข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งกรมฯได้ออกใบรับรองให้เข้าร่วมในโครงการรับจำนำข้าวรอบที่ 2 (นาปรัง) ตั้งแต่เดือน ก.พ. – มี.ค. 56 แล้ว 2.8 แสนครัวเรือน หรือร้อยละ 81.6 โดยมีพื้นที่ปลูกข้าวที่ออกใบรับรองแล้ว 6.3 ล้านไร่ ผลผลิต 3.8 ล้านตัน ยืนยันว่าไม่มีเกษตรกรนำพันธุ์ข้าวอายุต่ำกว่า 110 วันทั้ง 18 สายพันธุ์เข้าร่วมโครงการรับจำนำ ซึ่งหากตรวจพบจะไม่ออกใบรับรองเพื่อเข้าร่วมโครงการรับจำนำ โดยที่ผ่านมากรมฯได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรงดปลูกข้าวอายุสั้นทั้ง 18 สายพันธุ์เนื่องจากคุณภาพต่ำขายไม่ได้ราคา จึงเชื่อว่าการกำหนดอายุและสายพันธุ์ข้าวจะไม่ส่งผลกระทบเกษตรกร
ทั้งนี้ตามข่าวที่กระทรวงพาณิชย์ระบุว่าพบข้าวอายุสั้นเข้าในโครงการรับจำนำ 6-7 หมื่นตัน ทำให้รัฐบาลขาดทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาทนั้น ขอชี้แจงว่าเป็นข้าวที่เข้าโครงการเมื่อปี 54/55 ซึ่งถูกตัดราคาตามคุณภาพไปมาก จึงเชื่อว่าในปีนี้จะไม่มี และแม้จะมีการปลูกข้าวอายุสั้นจริง แต่ส่วนใหญ่เป็นการปลูกเพื่อบริโภคเองในครัวเรือน เพราะขายไม่ค่อยได้ราคา ส่วนการตรวจสอบสายพันธุ์ข้าว ณ จุดรับจำนำ เชื่อว่าเจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า (อ.ค.ส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและมีวิธีการตรวจสอบที่แม่นยำจะสามารถตรวจสอบแยกแยะพันธุ์ข้าวได้
ด้านนายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าวกล่าวเพิ่มเติมว่าได้เสนอโครงการให้มีการปรับเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวทั้งประเทศต่อที่ประชุม กขช. เพื่อจะเริ่มดำเนินการในปี 57 โดยใช้ระยะเวลาการปรับเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ 3 ปี
ด้านดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)ให้ความเห็นถึงหลักเกณฑ์การไม่รับจำนำข้าวอายุสั้น 18 สายพันธุ์ว่า อาจเป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลต้องการจะถอนโครงการจำนำข้าว เนื่องจากปัญหาขาดดุลทางการเงิน ทั้งนี้การตรวจสอบข้าวอายุสั้นตามที่ประกาศห้ามนั้นมีความเป็นไปได้ยาก เนื่องจากการตรวจสอบดีเอ็นเอข้าวต้องใช้เวลานาน และขาดเจ้าหน้าที่โรงสีที่มีความรู้ความชำนาญในการแยกแยะพันธุ์ข้าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมชาวนาไทยเตรียมยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯในสัปดาห์หน้า เพื่อขอให้ยกเลิกประกาศดังกล่าว เพราะชาวนาหลายจังหวัดได้ลงทุนปลูกข้าวอายุสั้นไปแล้วเพราะรัฐบาลรับปากว่าจะรับจำนำข้าวทุกเมล็ด