"เอกชัย" แนะสูตร "ขนมชั้น" พูดคุยดับไฟใต้
มีโอกาสสูงที่ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า จะมีชื่อติดเป็น 1 ใน 15 ของคณะทำงานพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการนัดแรกในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มบุคคลที่ถูกระบุว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น ในวันที่ 28 มี.ค.2556 ที่ประเทศมาเลเซีย
พล.อ.เอกชัย ไม่ใช่ "คนนอกวง" แต่เป็น "คนในวง" ที่อยู่ในโครงสร้างการกระตุ้นให้เกิดกระบวนการพูดคุยสันติภาพดับไฟใต้อยู่แล้ว คือ คณะทำงานสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง ในศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.)
พล.อ.เอกชัย อยู่ในฐานะตัวแทนสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งมีองค์ความรู้และประสบการณ์จากการศึกษากระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก และนั่นคือบทบาทที่ทำมาตลอด ทั้งยังเข้มข้นขึ้นหลังจากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็น เมื่อ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา
"บทบาทของ สมช.ในช่วงนี้ต้องเร่งทำใน 3 เรื่อง คือ
1.โครงสร้างของคณะพูดคุย ต้องมีทั้งผู้เชี่ยวชาญจาก สมช. กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
2.สร้างระบบการพูดคุย ที่ผ่านมาสถาบันพระปกเกล้าเสนอรูปแบบการพูดคุยแบบ 'ขนมชั้น' ไม่ใช่ 'สังขยา' คือคุยกันเป็นชั้นๆ ไปเรื่อยๆ พร้อมๆ กัน ตั้งแต่ระดับบนลงไปถึงระดับล่าง อาจจะมีรูปแบบการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการประกอบไปด้วย ไม่ใช่คุยเฉพาะระดับบนหรือผู้ที่เปิดตัว (เหมือนหน้าขนมสังขยา)
3.รวมหมู่คนกลุ่มต่างๆ จากทั้งในและนอกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีพื้นที่คิดและสื่อออกไป แต่ต้องเป็นแนวทางสันติวิธีเท่านั้น เช่น อ.มาร์ค ตามไท อ.โคทม อารียา เพื่อเป็นถังความคิด หรือ think tank กลุ่มนี้จะทำหน้าที่ทั้งคุยในประเทศ คุยต่างประเทศ ในสวีเดิน ฟินแลนด์ อินโดนีเซีย และที่อื่นๆ จากนั้นนำข้อมูลมาเชื่อมประสานกัน ไม่ใช่ฟังแต่บีอาร์เอ็น”
พล.อ.เอกชัย ชี้ว่า การสร้างระบบการพูดคุย และการสร้าง think tank เป็นเรื่องสำคัญ
"ภาคประชาสังคมในพื้นที่ และเครือข่ายของสถาบันพระปกเกล้าที่สร้างมาหลายปีต้องขับเคลื่อนคน 1.8 ล้านคนเพื่อหาประเด็นที่เป็นความต้องการที่แท้จริงของประชาชนมาตกผลึก ขณะเดียวกันก็ต้องคุยกับคนนอกพื้นที่อีก 65 ล้านคนผ่านสื่อเพื่อให้เข้าใจบริบทของภาคใต้ ตรงนี้อาจจะต้องจับมือกับสมาคมสื่อ เมื่อสอดประสานกับการทำงานของ think tank ประเด็นไหนที่เห็นตรงกันก็เคาะเป็นเรื่องๆ ไป" ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีฯ อธิบายวิธีการทำงานในกระบวนการสันติภาพ
เขาย้ำว่า คำตอบสุดท้ายอาจไม่ใช่เรื่อง "ปกครองพิเศษ" ดังที่บางส่วนในสังคมไทยหวั่นกลัวกัน
"อาจจะแค่เรื่องความเป็นธรรม แนวทางการช่วยเหลือคนที่ยังติดคุก มันเป็นไปได้ทั้งสิ้น เขตปกครองพิเศษอาจจะไม่ใช่เลยก็ได้ หรือถ้าใช่มันก็มีหลายรูปแบบที่ต้องคุยกัน อาจยึดตามโครงสร้าง ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ในปัจจุบันนี้ แต่เปลี่ยนให้เลขาธิการ ศอ.บต.มาจากการเลือกตั้ง โดยที่นายกรัฐมนตรียังเป็นผู้อำนวยการอยู่ แบบนี้่ก็ทำได้ ส่วนสภา ศอ.บต. (สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้) วันนี้ก็มีอยู่และมาจากประชาชนอยู่แล้ว ทั้งหมดก็เป็นรูปแบบภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย"
ส่วนการศึกษาบทเรียนการปลดชนวนความขัดแย้งนั้น พล.อ.เอกชัย บอกว่า สถาบันพระปกเกล้ามีรายงานผลการศึกษาการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ "โรดแมพสันติภาพ" ที่ได้เสนอให้ สมช.ด้วย
"กรณีหลักๆ ที่เราศึกษาก็เช่น อาเจะห์ (ขบวนการอาเจะห์เสรี หรือกัม กับอินโดนีเซีย) ต้องบอกว่าปัญหาของเรายากเป็น 5 เท่าของอาเจะห์ เพราะกรณีอาเจะห์ ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอินโดนีเซียคือกลุ่มกัม ประกาศตัวชัดเจน แต่ของเราไม่มีการประกาศ
นอกจากนั้นก็มีไอร์แลนด์เหนือ (ไออาร์เอกับอังกฤษ) เป็นประเด็นทางศาสนาเหมือนกัน ประชากรราวๆ 1.8 ล้านคนคล้ายๆ กับของเรา กลุ่มที่ต่อต้านอยากไปอยู่ไอร์แลนด์ ไม่เอาอังกฤษ ก็อาจจะคล้ายๆ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สุดท้ายปัญหาก็จบด้วยการพูดคุยเจรจา แต่ใช้เวลายาวนานถึง 37 ปี
สูตรการแก้ปัญหาของไอร์แลนด์เหนือน่าสนใจ คือจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน การตั้งรัฐบาลของเขาให้ประชาชนกำหนด คือให้พรรคที่ได้คะแนนเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 ถ้าได้เสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งต้องจับมือกับพรรคที่ 2 ถ้าเสียงยังไม่เกินกึ่งหนึ่งอีก ก็ต้องจับมือกับพรรคที่ 3 จนกว่าเสียงจะเกินครึ่ง ห้ามพรรคที่ 1 ไปจับมือกับพรรคที่ 3-4 เพื่อตั้งรัฐบาล
อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือประสบการณ์ของรวันดา (ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างเผ่าฮูตูกับตุสซี่) พบว่าสื่อมีความสำคัญมากในกระบวนการแก้ปัญหาขัดแย้ง มีการขอให้สื่อหยุดเสนอข้อความที่ล่อแหลมหรือสร้างความเกลียดชังเป็นเวลา 1 ปี อีกประการหนึ่งคือรวันดาไม่มีเงินเยียวยา เขาใช้วิธีให้เอาครอบครัวเหยื่อมาเปิดใจพูดคุย ถือเป็นการเยียวยารูปแบบหนึ่ง"
ส่วนกระบวนการสันติภาพของไทยจะเป็นรูปแบบไหนนั้น เป็นเรื่องที่คนไทยทั้งในและนอกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จักต้องร่วมพิจารณา!
------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ (จากแฟ้มภาพอิศรา)