หมอชนบทนัดม็อบ “ปลด รมว.สธ.” เหตุนโยบาย “ปรับลดเบี้ยกันดาร”
บุคลากรสาธารณสุข รพ.ชนบท เตรียมนัดรวมพล ร้องนายกฯปลด “นพ.ประดิษฐ์” เหตุออก “นโยบาย สธ.ปรับลดเบี้ยกันดาร” ชี้ซ้ำเติมปัญหาสมองไหล สวนทางนโยบายลดแออัด รพ.เมือง
วันที่ 19 มี.ค.56 น.พ.วชิระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง จ.นครราชสีมา อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยความคืบหน้ากรณีที่กลุ่มแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขในชนบท คัดค้านนโยบาย นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์รัฐมนตรีว่าการกระทรางสาธารณสุข(รมว.สธ.) ที่ปรับอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวพื้นที่ทุรกันดาร เป็นการจ่ายตามภาระงาน โดยให้เหตุผลคัดค้านว่าจะส่งผลให้บุคลากรในชนบทสมองไหลออกนอกพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก เพราะรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพปัจจุบัน และเรียกร้องให้ปลด รมว.สธ.
นพ.วชิระ กล่าวว่าการออกมาเรียกร้องไม่ได้ต้องการร่ำรวยแต่เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบันอย่างพอเพียง ชดเชยการขาดโอกาส ทั้งชีวิตความเป็นอยู่ ครอบครัว การศึกษาของบุตร ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรีเรื่องเบี้ยกันดารใช้มากว่า 30 ปีในอัตรา 2,200 บาทต่อเดือน ไม่เคยปรับเลย จึงไม่สามารถจูงใจให้แพทย์อยู่ในชนบทได้ เพราะช่องว่างรายได้ในโรงพยาบาลเอกชนมากกว่าโรงพยาบาลรัฐหลายสิบเท่า แม้กระทั่งคลินิกเสริมความงามก็จ้างแพทย์ขั้นต่ำ 120,000 บาทต่อเดือน เพิ่งมาปรับเพิ่มเบี้ยกันดารเมื่อปี 2551สมัยนายเฉลิม อยู่บำรุงเป็น รมว.สธ.ได้ผลอย่างมากโดยเพียง 3ปีมีแพทย์ ทันตแพทย์ที่เคยลาออกไปอยู่เอกชนขอบรรจุกลับกว่า 300 คน อัตราสมองไหลลดลงมาก มีแพทย์เฉพาะทางเพิ่มขึ้นจาก 200 เป็น 700 คน แพทย์ที่หมดทุนจากรัฐบาลแล้วอยู่ต่อเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ทำให้ประชาชนได้รับบริการเร็วขึ้น มีหมอใกล้บ้านใกล้ใจเป็นด่านหน้าทำงานครอบคลุมหลายมิติทั้งรักษาป้องกันโรค
“รัฐมนตรีไม่เข้าใจเพราะสั่งการบนหอคอยงาช้าง ไม่เคยออกไปใช้ทุนในชนบทต่างจังหวัด ไม่เคยซึมซับความลำบากของประชาชนที่ต้องตื่นแต่เช้าไปรอเข้าคิวหาหมอตั้งแต่ตีห้า บางครั้งต้องใช้รองเท้าวางไว้เพื่อเข้าคิวรอพบหมอในเมือง ตื่นตี 4 เช้า กลับ 6 โมงเย็น การมีหมอไปอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนเป็นด่านหน้าที่ช่วยลดอัตราการเข้าไปรักษาแออัดในเมือง ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนอย่างมาก”
หมอชนบท กล่าวอีกว่าการกระทำของ น.พ.ประดิษฐ์ เป็นการตัดเสบียงและดูหมิ่นเหยียดหยามบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่กันดารให้หมดกำลังใจ สิ่งที่เรียกร้องตอนนี้เพราะไม่ต้องการเห็นหมอสมองไหลเอาตัวรอดละทิ้งชาวบ้านในชนบท โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีผลอย่างสูงต่อความมั่นคงของประเทศ หากไม่สามารถรักษาบุคลากรสาธารณสุขให้อยู่ในพื้นที่ได้ ดังนั้นแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร บุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลชุมชน จึงเตรียมชุมนุมครั้งใหญ่พื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขโดยเร็ว .