คปก.ถก กม.กระจายอำนาจท้องถิ่น ปชช.ล่าหมื่นชื่อหนุนปัตตานีมหานคร
‘คกก.ปฏิรูปกฏหมาย’ ระดมความเห็น ร่าง พ.ร.บ.จังหวัดจัดการตนเอง- สภาท้องถิ่น ‘สภาองค์กรชุมชน’ ร้องแรงหนุนต่ำไม่เข้มแข็ง ภาค ปชช.เตรียมล่าหมื่นชื่อชง 'ปัตตานีมหานคร'
วันที่ 19 มี.ค. 56 ที่โรงแรมทีเค พาเลซ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดประชุมเครือข่ายด้านการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ให้ใช้ประมวลกฏหมายองค์กรปกครองท้องถิ่น (สภาท้องถิ่นแห่งชาติ) และร่างพ.ร.บ.กลางจังหวัดจัดการตนเอง โดย นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน คปก. กล่าวว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้ชุมชนมีบทบาทในการปกครองตนเอง โดยได้มีความพยายามบูรณาการกฎหมายว่าด้วยการปกครองท้องถิ่นให้เป็นประมวลกฎหมายเพื่อให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีหลักการสำคัญคือจะต้องให้ส่วนท้องถิ่นมีอิสระทุกด้านในการบริหารงานบุคคล การคลังท้องถิ่น มีระบบการตรวจสอบข้อมูลที่เข้มแข็ง และต้องให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม
สำหรับความพยายามของหลายจังหวัด เช่น อำนาจเจริญ เชียงใหม่ ปัตตานี ในการผลักดันจังหวัดจัดการตนเอง ถือว่าเป็นตัวอย่างสำคัญของประชาธิปไตยที่เริ่มต้นจากฐานรากและใช้ในพื้นที่ได้จริง ซึ่งต้องมีการออกพ.ร.บ.กลางจังหวัดจัดการตนเองรองรับ โดยมีเนื้อหากฎหมายที่ชัดเจน และสื่อสารให้เข้าใจทั้งประชาชนในพื้นที่และสาธารณะ
นายไพโรจน์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวกับชุมชนและการจัดการทรัพยากร เช่น ร่าง พ.ร.บ.โฉนดชุมชน ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินก้าวหน้า หรือร่างพ.ร.บ.สิทธิชุมชน ยังอยู่ในขั้นตอนการร่างกฎหมายอยู่ ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่
ด้านนายจินดา บุญจันทร์ ประธานสภาองค์กรชุมชน กล่าวว่าปัจจุบันสภาองค์กรชุมชนสามารถขับเคลื่อนมากถึง 3,300 ตำบลทั่วประเทศ แต่ยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพและเข้มแข็งเท่าไร เพราะขาดการสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณ และบุคลากรที่เพียงพอ ซึ่งเป็นกรณีตัวอย่างว่าหากยังประสบปัญหาเช่นนี้ หวั่นว่าอนาคตการจัดตั้งจังหวัดจัดการตนเองอาจขัดข้องได้
นายปรีชา เดชทองจันทร์ สภาองค์กรชุมชนกรุงเทพฯ กล่าวว่าสภาองค์กรชุมชนอ่อนแอจริง ทำให้การเสนอแผนการจัดการชุมชนต่อองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ไม่ได้รับการสนับสนุน ซึ่งปัญหาหลักมาจาก อปท.กับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ไม่มีการประสานงานที่ชัดเจน
ขณะที่นายตุลย์ ประเสริฐศิลป์ นักวิชาการอิสระ จ.ขอนแก่น กล่าวว่าขอนแก่นกำลังจัดทำพ.ร.บ.ขอนแก่นจัดการตนเอง ตั้งเป้าหมายว่าจะดำเนินการร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการระดมความคิดเห็น โดยได้ร่วมมือกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนที่ไม่เห็นด้วยนั้นมักจะเป็นหน่วยงานราชการส่วนกลางซึ่งยังยึดติดกับลัทธิอำมาตย์นิยมอยู่ นอกจากนี้อุปสรรคที่สำคัญอีกประการในการขับเคลื่อนกฎหมายคือ งบประมาณ
“หลักการคือมีรูปแบบการปกครองพิเศษขอนแก่นมหานคร มีสภาพลเมืองโดยกำหนดสัดส่วนสมาชิกสภาจากอาชีพ ดำเนินงานร่วมกับสภาจังหวัดอย่างไร ส่วนด้านการตรวจสอบนั้นประชาชนสามารถลงชื่อถอดถอนได้ทั้งฝ่ายบริหารและสมาชิกสภาโดยลงคะแนนเสียงไม่น้องกว่า 5,000 คน” นายตุลย์กล่าว
ผู้แทนประชาชนอำนาจเจริญ กล่าวว่าการขับเคลื่อนพื้นที่สู่จังหวัดจัดการตนเองนั้นต้องอาศัยบันได 3 ขั้น คือ 1.ต้องเปลี่ยนจิตสำนึกประชาชนให้หันมาพึ่งพาตนเองแทนการรอความช่วยเหลือจากรัฐ ซึ่งอำนาจเจริญได้ดำเนินการมา 1 ปีภายใต้หลักคิดของธรรมนูญประชาชนคนอำนาจเจริญ 2.ร่วมมือกับสภาองค์กรชุมชนในการจัดเวทีกำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัด โดยประชาชนต้องลุกขึ้นมากำหนดแนวทางด้วยตนเอง 3.ต้องกำหนดผังการดำเนินชีวิตของคนในพื้นที่ โดยมีกฎหมายขึ้นมารองรับผ่านพ.ร.บ.จังหวัดจัดการตนเอง
ผู้แทนปัตตานีมหานคร กล่าวว่าปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเจ้าหน้าที่และประชาชนเสียชีวิตกว่า 5,100 คน และสิ้นเปลืองงบประมาณไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท ดังนั้นการให้เป็นหน้าที่ของภาครัฐเพียงส่วนเดียวอาจไม่สำเร็จ ประชาชนควรเข้าไปร่วมแก้ปัญหาดังกล่าว และข้อเสนอต่อรัฐบาลคือต้องการผู้บริหารที่มีอำนาจสูงสุดทางการปกครองเป็นคนในพื้นที่ และต้องการรักษาอัตลักษณ์ความเป็นมาลายูและการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม จึงเสนอโมเดล ‘ปัตตานีมหานคร’ ซึ่งไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน
“จะเดินหน้าลงชื่อให้ได้ไม่น้อย 1หมื่นรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะครบปลายปีนี้ เพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ ส่งเสริมให้ประชาชนมีพื้นที่แสดงความเห็น ปัญหาสำคัญของการทำสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนใต้คือต้องพังปราการอำมาตย์และปราการทหาร จึงจะทำให้มีสันติภาพเกิดขึ้นได้”ผู้แทนปัตตานีมหานคร กล่าว
ผู้แทนจ.ภูเก็ตจัดการตนเอง กล่าวว่าการปกครองและการพัฒนาภูเก็ตต้องการโครงสร้างที่เอื้อต่อการพัฒนา มีอำนาจและมีธรรมาภิบาล ซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง โดยวางแผนไว้ภายใน 3 ปีจะผลักดันกฎหมายให้แล้วเสร็จ ซึ่งขึ้นอยู่กับการตื่นตัวของคนในพื้นที่ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาล่าช้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คปก.ได้กำหนดแผนการปรับปรุงกฎหมายในปี 56 ทั้งหมด 7 ฉบับ คือ 1.ร่างพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2.การผลักดันร่างพ.ร.บ.กลางจังหวัดจัดการตนเอง 3.การศึกษาเกี่ยวกับแนวทางการยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจในรูปแบบจังหวัดจัดการตนเอง 4.การศึกษากรณีแก้ไขพ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน 5.ร่างพ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมือง 6.ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร องค์กร/หน่วยงานรัฐ และ 7.ร่างกฎหมายการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เสนอโดยภาคประชาชน เช่น ร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร.