กรมสรรพากร ยันบริหารจัดการดี ไม่จำเป็นต้องขยับ VAT จาก 7% เป็น 10%
รองปลัด ก.คลัง ชี้ไทยจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันอาเซียน ด้านอธิบดีกรมสรรพากร เสนอเพิ่มเพิ่มบุคลากร-เทคโนโลยี-แก้ กม.ล้าสมัย แทนปรับอัตราภาษี
วันที่ 19 มีนาคม ThaiPublica จัดเสวนา "ปฏิรูปโครงสร้างภาษีไทย เพื่อไทย หรือเพื่อใคร" ณ ชั้น 2 โรงแรม VIC3 พหลโยธินซอย 3 (BTS สนามเป้า) โดยมี นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวเปิดการเสวนา และมีดร.สาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นายถาวร รุจิวนารมย์ หัวหน้าหุ้นส่วนกรรมการอาวุโสและกรรมการบริหาร บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (ประเทศไทย) ร่วมเสวนา
นายรังสรรค์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ขณะนี้มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปโครงสร้างภาษี ทั้งภาษีศุลกากร ภาษีสรรพากร และภาษีสรรพสามิต เพื่อให้ไทยมีฐานภาษีที่สอดคล้องกับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะมาถึง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันไทยเก็บภาษีค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศ โดยเรียกเก็บภาษีได้เพียง 2 ล้านล้านบาท ทั้งที่มีเม็ดเงินรายได้ทั้งประเทศ 11 ล้านล้านบาท อีกทั้ง ยังเก็บต่ำกว่าประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยในการปรับโครงสร้างภาษีจะยึดหลักสร้างความเป็นธรรมในสังคม และความยั่งยืนในแหล่งรายได้ของรัฐ
ขณะที่ในเวทีเสวนา ดร.สาธิต กล่าวว่า หากจะจัดปรับการเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพ จะต้องปรับปรุงกฎหมายบางข้อที่ไม่สอดคล้องกับปัจจุบัน ทั้งนี้ ควรส่งเสริมให้นักลงทุนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อนำรายได้ย้อนกลับเข้ามาในประเทศ และขยายฐานการจัดเก็บภาษีให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่นอกระบบ
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยว่า ยังไม่มีนโยบายปรับเพิ่มอัตราการเก็บภาษี ขณะที่ปัจจุบันไทยเก็บภาษีเพียงร้อยละ 7 ซึ่งเกือบต่ำที่สุดในโลก มากกว่าแค่ประเทศญี่ปุ่นและไต้หวันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องปรับอัตราการเก็บภาษี หากมีการบริหารจัดการที่ดีพอ โดยเฉพาะการเพิ่มปริมาณ และประสิทธิภาพของบุคลากรและเทคโนโลยี เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ และจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ที่ผ่านมาเสนอแผนขอปรับเพิ่มบุคลากรก็กลับไม่ได้รับการอนุมัติ
"การเก็บภาษีมากหรือน้อย ไม่สามารถเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ หรือกับจีดีพีของประเทศเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาด้วยว่าเงินที่เก็บนั้นย้อนกลับมาสู่ประชาชน เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการได้มากน้อยแค่ไหน อย่างประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย เก็บภาษี 50% แต่สวัสดิการสำหรับประชาชนดีมาก ทั้งคลอดบุตรฟรี การศึกษาฟรี นี่คืออีกมุมของการเก็บภาษีที่ควรพิจารณา"
เช่นเดียวกับนายถาวร ที่เห็นด้วยว่า มีกฎหมายหลายข้อที่ล้าสมัยมาก และเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้บริษัทไทยไม่กล้าไปบุกตลาดในต่างประเทศ ซึ่งทำให้ไทยสูญเสียโอกาสมากมาย
ด้านดร.สกนธ์ กล่าวว่า เห็นว่า ภาษีสรรพสามิต ยังจำเป็นต้องมีในประเทศไทย การจะปฏิรูปโครงสร้างภาษีจะมองแยกชิ้นไม่ได้ ต้องมองในภาพใหญ่ที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำในประเทศ และปรับทัศนคติคนไทยส่วนใหญ่ที่เข้าใจผิดพลาดเกี่ยวกับการจ่ายภาษีว่าเป็นการลงโทษ