ป.ป.ช. เล็งชงร่างกองทุนป้องกันทุจริตเข้าสภา พ.ค.นี้ คาดตั้งได้ปลายปี57
ป.ป.ช.รับฟังความเห็นรอบสุดท้าย ร่างกองทุนป้องกันทุจริต เตรียมเสนอรัฐสภา หวังบูรณาการทุกภาคส่วนต้านโกงอย่างมีประสิทธิภาพ มั่นใจปี ’58 เห็นผลเป็นรูปธรรม
วันที่ 18 มีนาคม สำนักงาน ป.ป.ช. จัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการป้องกันการทุจริต ณ ห้องภาณุรังษี โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพมหานคร โดยมี นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา รศ.ดร.เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร. สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต ดร.พีรพล ไตรทศาวิทย์ อนุกรรมการ ป.ป.ช. (อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย) และดร.มานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) นำเสนอและอภิปรายผลการศึกษา เรื่อง “กองทุนสนับสนุนการป้องกันการทุจริต” และรับฟังความเห็นจากผู้ร่วมสัมมนาเป็นครั้งสุดท้าย
ด้านดร.พีรพล กล่าวว่า แนวคิดในการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการป้องกันการทุจริต เกิดขึ้นจากผลการศึกษาของคณะทำงานพิจารณาแนวทางการกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริตภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการป้องกันการทุจริต ที่ผลการศึกษาส่วนหนึ่งระบุว่า กองทุนป้องกันการทุจริต จะเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการป้องกันการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงมีการศึกษาความเหมาะสม รายละเอียดและร่างรูปแบบของกองทุนฯ ภายใต้แนวคิด “เพื่อบูรณาการการขับเคลื่อนการป้องกันการทุจริตร่วมกันทุกภาคส่วน”
“ภายหลังรับฟังความเห็น จะนำเสนอร่าง พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการป้องกันการทุจริต พ.ศ. … ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในเดือนเมษายนนี้ จากนั้นจะนำเสนอต่อรัฐบาลและรัฐสภา ในเดือนพฤษภาคม โดยคาดว่าจะผ่านรัฐสภาเป็นกฎหมายภายในปี 2557 จึงจะเริ่มจัดตั้งและดำเนินการได้ปลายปี 2557 และเห็นผลงานอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2558”
ด้านนพ.พลเดช กล่าวถึงการใช้งบประมาณในการแก้คอร์รัปชั่นว่า ในแต่ละปี ป.ป.ช.ได้งบประมาณเฉลี่ย 1,077 ล้านบาท หรือ 16.50 บาทต่อหัวประชากร ในจำนวนนี้เป็นงบป้องกันเพียง 54.6 ล้านบาท หรือ 0.50-1.00 บาทต่อหัวเท่านั้น ในขณะทีฮ่องกง ในปี 2551 หน่วยงาน ICAC ใช้เงินร้อยละ 0.3 ของงบประมาณรายจ่าย หรือร้อยละ 0.05 ของจีดีพี ซึ่งคิดเป็น 400-500 บาทต่อหัว ฉะนั้น หากนำมาตรฐานของฮ่องกงมาใช้กับไทย งบในแต่ละปีควรเป็น 4,698 ล้านบาท
ทั้งนี้ มุ่งหวังให้กองทุนดังกล่าว เป็นกลไกบูรณาการทำงานรัฐ เอกชนและประชาสังคม รวมถึงส่งเสริมสนับสนุนการรณรงค์ปรับเจตคติสังคมทุกรูปแบบ เพิ่มนวัตกรรมการป้องกันและแก้ปัญหาทุกภาคส่วน ช่วยพัฒนาศักยภาพและบทบาทภาคประชาชนและชุมชนท้องถิ่น เพิ่มการศึกษาวิจัย ฝึกอบรม จัดการความรู้และดูแลช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามทุจริต โดยให้เป็นองค์กรอิสระจากอิทธิพลทางการเมือง ธุรกิจและราชการ รวมถึงอยู่นอก ป.ป.ช.แต่มีการสนับสนุนและตรวจสอบซึ่งกันและกัน
ส่วนแหล่งที่มาของเงินทุน นพ.พลเดช กล่าวว่า ได้ออกแบบให้มาจากเงินเพิ่มตามจำนวนของโครงการเมกะ โปรเจกต์ สัดส่วนจากยึดทรัพย์ เงินบริจาคผู้เสียภาษีเงินได้ เงินอุดหนุนจากรัฐบาล เงินอุดหนุนและการบริจาคจากภาคเอกชนหรือต่างประเทศ เงิน 1% จาก กสทช. เงินส่วนหนึ่งจากกองสลาก รายได้จากการจัดการทรัพย์สินและรายได้เงินบำรุง ธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่นๆ
ด้านรศ.ดร.เอก กล่าวถึงรูปแบบในการบริหารงานกองทุนว่า จะมีคณะกรรมการคู่ขนานในระดับเดียวกัน ที่แบ่งแยกอำนาจกัน แต่ตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ได้แก่ 1.คณะกรรมการบริหาร จำนวน 7 คน 2.คณะกรรมการประเมินผล จำนวน 5 คน ทำหน้าที่ประเมินผลงานของคณะกรรมการบริหาร
ขณะที่รศ.ดร. สังศิต กล่าวว่า ในการตรวจสอบและประเมินผล จะเป็นไปตามกลไกของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยจะมีเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนปีละ 1 ครั้ง และมีการจัดประชุมสมัชชาป้องกันการทุจริตปีละ 1 ครั้ง ตั้งอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือรับฟังความเห็นจากประชาชน และจัดทำบัญชีกองทุนตามหลักสากล เพื่อให้การทำงานโปร่งใสและตรวจสอบได้ รวมทั้งให้มีการประเมินผลการดำเนินงานประจำปี และรายงานผลต่อคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส.ส. ส.ว.และสาธารณชน เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตประสงค์ของกองทุน
ส่วนดร.มานะ กล่าวในส่วนของภาคเอกชนว่า การทำงานในภารกิจการป้องกัน ปลูกฝังและเปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นงานใหญ่ที่ต้องใช้กำลังคนและทุนทรัพย์มาก ทั้งนี้ การทำงานที่ผ่านมาขาดอำนาจในการดำเนินการและการปกป้องจากกฎหมาย เช่น ถูกฟ้องร้อง ข่มขู่ กลั่นแกล้ง ขาดเวทีแสดงความคิดเห็น เปิดโปง และไม่มีหน่วยงานมารับดำเนินการต่อ ฉะนั้น นี่จึงเป็นบทหนึ่งในการเริ่มต้นกองทุนสนับสนุนการป้องกันการทุจริต โดยจะติดตามการอนุมัติงบประมาณในโครงการใหญ่ๆ ของรัฐบาล รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาทการใช้งบประมาณในแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท