"ถวิล เปลี่ยนศรี" กับ 4 ความเสี่ยง "เปิดหน้า" เจรจาดับไฟใต้
ยังคงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง สำหรับการลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพเพื่อดับไฟใต้ ระหว่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับ นายฮัสซัน ตอยิบ ที่อ้างว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น
เรื่องการพูดคุยเจรจา ไม่มีใครคัดค้านในหลักการ แต่เรื่อง "วิธีการ" ที่เปิดหน้า เปิดตัวรวดเร็วเกินไป กำลังถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่าย
หนำซ้ำเรื่องกำลังบานปลายเป็นการเมือง เมื่อมีการพูดถึง "เขตปกครองพิเศษ" หรือ "นครปัตตานี" ในบริบทของข้อเสนอที่รัฐไทยอาจต้องพิจารณาเมื่อการพูดคุยถูกยกระดับไปสู่ "โต๊ะเจรจา"
ถึงวันนี้สปอตไลท์ฉายจับไปที่ นายถวิล เปลี่ยนศรี ผู้ที่เคยร่วมอยู่ในคณะพูดคุยเจรจาในอดีต ในฐานะเลขาธิการ สมช.ยุครัฐบาลประชาธิปัตย์
คำถามและคำอธิบายจากประสบการณ์ของที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ณ วันนี้ น่าจะเป็นคำตอบที่ดีว่าเหตุใดตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัฐไทยไม่เคยเปิดหน้าพูดคุยเจรจากับขบวนการแบ่งแยกดินแดน ปัจจัยแห่งความสำเร็จในวิธีที่ว่านั้นคืออะไร
และอะไรคือ "ความเสี่ยง" ของการเปิดหน้าพูดคุยในแบบที่รัฐบาลชุดนี้กำลังทำ!
O การพูดคุยมีมาตลอด ไม่ใช่เพิ่งเริ่มในรัฐบาลชุดนี้?
เรื่องการพูดคุย หน่วยงานความมั่นคงทำมาตลอด ทั้งในระดับนโยบายและระดับเจ้าหน้าที่ แต่ไม่เปิดเผย อาจมีสะดุดบ้าง หยุดไปบ้าง เช่น หลังจากผมพ้นจากตำแหน่งมา (หมายถึงตำแหน่งเลขาฯสมช.) ก็หยุดไป แล้วก็มาเริ่มต้นใหม่ตามที่เป็นข่าว
ส่วนตัวผมเห็นด้วยกับการพูดคุย เพราะความขัดแย้งทุกแห่งในโลกจบที่การใช้ความรุนแรงใส่กันไม่ได้ บทเรียนที่ผ่านมาชี้ชัดว่าความขัดแย้งจบลงที่การพูดคุย ฉะนั้นการพูดคุยจึงเป็นเรื่องจำเป็นและเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว เพียงแต่การดำเนินการในครั้งนี้ไม่ตรงกับสิ่งที่เคยทำมา ผมเชื่อมั่นว่าวิธีการที่เคยทำมาน่าจะประสบความสำเร็จได้ดีกว่า มีความเสี่ยงน้อยกว่า และลดความสูญเสียให้น้อยลงได้เป็นลำดับ
ฉะนั้นเรื่องการพูดคุยผมเห็นด้วยในหลักการ แต่วิธีการที่กำลังทำอาจจะผิดลำดับ ผิดขั้นตอนไปมาก ผมเห็นกลับกันว่าสิ่งที่ทำวันนี้น่าจะทำตอนจบหรือตอนปลาย ไม่ใช่ทำในขั้นต้นแบบนี้
O ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการพูดคุยสันติภาพมีอะไรบ้าง?
ข้อ 1 การพูดคุยจะได้ผลเมื่อมีช่องทางให้เดินเพียงช่องทางเดียว หรือ single track เพราะข้อเท็จจริงในพื้นที่มีกลุ่มเคลื่อนไหวหลายกลุ่ม ถ้ามีหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นความปรารถนาดีหรือมีวาระซ่อนเร้นอย่างอื่น จะเกิดปัญหาตามมาทันที ที่ผ่านมาก็มีหลายท่านเคยไปทำ เช่นปี 2549 มีลังกาวี โปรเซส ปี 2551 ก็มีทั้งต้นปีและปลายปีที่มีข่าวออกมา การดำเนินการลักษณะนั้นเป็นเรื่องของปัจเจก เป็นเรื่องของตัวบุคคลที่มีความหวังดีไปทำ ไม่ได้ออกมาจากนโยบายรัฐ ไม่ใช่ single track
การมีหลายช่องทางจะเป็นการเปิดช่องให้เขาเลือก ช่องไหนดีกว่า เรียกร้องได้มากกว่า เขาก็จะเข้าช่องทางนั้น ในอดีตเคยมีการนินทาถึงขั้นว่าช่องไหนราคาดีกว่า ง่ายกว่า เกิดขบวนการนายหน้า สร้างราคา เป็นปัญหามาตลอดในอดีต ยุคคอมมิวนิสต์ก็เป็นแบบนี้
ฉะนั้นต้องให้มี single track ใครปรารถนาจะพูดคุยต้องมาช่องทางนี้เท่านั้น หากทำหลายช่องทางจะไม่เกิดผล แน่นอนว่าคนที่มาพูดคุยเป็นปรปักษ์กับเจ้าหน้าที่รัฐ คนที่จะไปทำหน้าที่พูดคุยจึงต้องได้รับฉันทานุมัติ การที่เลขาธิการ สมช. (พล.ท.ภราดร) ไปลงนามก็เป็นการได้รับฉันทานุมัติ แต่จริงๆ เรามีวิธีอื่นที่สามารถบอกเขาว่าได้รับฉันทานุมัติโดยไม่ต้องไปเซ็น ถ้าถามผม ที่ผ่านมามีบางกลุ่มต้องการหนังสือรับรองจากเราไหม...มันก็มี แต่เรามีวิธีการอื่นที่สามารถส่งสัญญาณได้ว่าได้รับฉันทานุมัติ เช่น ตอบสนองบางอย่าง หรือให้นายกรัฐมนตรีพูดเรื่องนี้ในจังหวะเวลาที่เหมาะเจาะพอดี
ข้อ 2 การพูดคุยจะได้ผลต้องร่วมกันทำงานหลายๆ หน่วย เพื่อไม่ให้เกิดจุดอ่อน กระทรวงการต่างประเทศ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และหน่วยที่ใช้กำลัง (กองทัพ) ต้องเข้ามาร่วมทั้งหมด คำถามก็คือกระบวนการที่ไปลงนามกันมาได้ปรึกษาหารือถ้วนทั่วกันหรือเปล่า
ข้อ 3 ต้องมีคณะทำงานชุดเล็กๆ พูดคุยในทางลับก่อน เพราะไม่มีที่ไหนที่เอาระดับสูงไปเดิมพันทันที ถ้าวันหน้าเกมไม่เดินหรือเดินไม่ได้หรือมีข้อผิดพลาด นายกรัฐมนตรี และสมช.ต้องมีทางถอยด้วย เพราะนายกฯไม่ได้เดิมพันเรื่องนี้เรื่องเดียว แน่นอนว่าการเปิดหน้าเปิดตัวไปลงนามกับเขา อาจมองได้ว่ามีความจริงใจ จริงจัง เปิดไพ่เล่นกันเลย แต่ต้องไม่ลืมว่าไม่มีใครบอกได้ว่าแนวทางนี้จะสำเร็จ นี่คือความเสี่ยง
ข้อ 4 อย่าให้มีปัจจัยแทรกซ้อนเข้ามาครอบงำหรือกดดันทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่เบี่ยงเบนไป อย่าให้เซียนข้างกระดานหมากรุกกดดันคนเล่นหมากรุกจนไขว้เขว ต้องยืนยันหลักการว่ายังไม่พร้อมคือยังไม่พร้อม ต้องใช้เวลา 10 ปีก็ต้องใช้ 10 ปี ไม่ใช่ปล่อยให้มีผู้มีอำนาจเหนือคณะทำงานมาบอกว่าต้องเดิน ต้องยอม หรือต้องจบภายใน 1 ปี ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น
O ทั้ง 4 ข้อคือปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในมุมมองของท่านถวิล ซึ่งแตกต่างจากวิธีการที่รัฐบาลชุดนี้ทำ แล้ววิธีการที่ไปลงนามกันมาเมื่อ 28 ก.พ.มีความเสี่ยงอย่างไร?
ผมมองว่ามีความเสี่ยงอยู่ 4 ด้านหลักๆ คือ 1.พอเปิดทุกอย่างไว้บนโต๊ะ ก็จะถูกระดมด้วยคำถาม...คุยกับใคร ตัวจริงหรือเปล่า จะเอาใครไปคุยอีกบ้าง จะคุยอะไรกันบ้าง หลายคำถามยังไม่ถึงเวลาที่จะพูด เช่น ปกครองพิเศษ หรือนครปัตตานี อะไรที่ยังไม่ถึงเวลาก็ต้องบอกว่ายังไม่ถึงเวลา ที่สำคัญพอทุกอย่างกองบนโต๊ะแล้ว ไม่มีทางที่จะทำให้ทุกคนเห็นด้วยทั้งหมด ก็จะสร้างความสับสนมาก ทั้งๆ ที่ยังไม่จำเป็น และยังไม่ถึงเวลาที่ต้องมาเถียงกัน
2.การลงนามเป็นการยกระดับฝ่ายที่เราคุยด้วย จะบอกว่าเซ็นไปก็ไม่มีผลคงไม่ใช่ เพราะใช้เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง ระดับเลขาธิการ สมช. การยอมรับการมีอยู่ของอีกฝ่ายจะเกิดผลตามมา หากเราคงสถานภาพของปัญหาเอาไว้ไม่ได้ การที่เราพูดมาตลอดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาภายใน อาจถูกมองจากนอกบ้านว่าไม่ใช่ปัญหาภายในอีกต่อไปแล้ว แม้เราจะยังยืนยันว่าเป็นปัญหาภายใน แต่คนอื่นเขาเชื่อเราหรือเปล่า เพราะเราได้ยอมรับในสเต็ปแรกไปแล้ว ต่อไปเกิดอะไรขึ้นมา ประเทศอื่นหรือองค์กรระดับนานาชาติย่อมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยได้
3.การลงนามโดยเจ้าหน้าที่ระดับเลขาธิการ สมช. ผมคิดว่าเป็นการให้ราคามากไป และลงทุนแพงไปนิดหนึ่ง ถ้าต้องการผลแค่เปิดฉากพูดคุย เราลงทุนน้อยกว่านี้ก็ได้ พูดตรงๆ โดยข้อเท็จจริงแล้วรัฐไทยยังไม่ได้เสียเปรียบอะไรเลย ไม่ได้เพลี่ยงพล้ำอะไรเลย
ที่พูดอย่างนี้ผมไม่ได้พูดโดยไม่ได้แคร์ว่ามีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นหมื่นคน ผมเห็นด้วยว่าต้องแสวงหาทางเลือกในการแก้ไขปัญหา และการพูดคุยก็เป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ต้องยืนอยู่ตรงจุดที่ว่าเราไม่ได้เป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำหรือไปขอคุยนะ เพราะหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานคือเมื่อไรที่เราแสดงว่าเราต้องการ ตลาดย่อมเป็นของผู้ซื้อ กรณีนี้ก็เช่นกัน ตลาดย่อมเป็นของฝ่ายขบวนการ เพราะเราขอให้เขาพูดคุยถึงขั้นยอมลงนาม และกำลังยกระดับขึ้น เรื่องปกครองพิเศษ นครปัตตานีเริ่มหลุดออกมา สถานะของทั้งสองฝ่ายจึงเริ่มไม่เท่าเทียมกันแล้ว
4.เรากระโจนเข้าไปให้มาเลเซียช่วยมากเกินไปหรือไม่ ที่มีเสียงบอกว่าถ้ากระบวนการไม่สำเร็จ มาเลเซียต้องรับผิดชอบด้วยครึ่งหนึ่งนั้น จริงๆ ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะมาเลเซียก็จะบอกว่าเขาทำเต็มที่แล้ว คุณ (ไทย) ทำไม่สำเร็จเอง
O การไปคุยแบบลับๆ ในอดีตจะถูกกล่าวหาจากฝ่ายขบวนการได้หรือเปล่าว่าไม่จริงใจ?
การเปิดตัวอย่างนี้ ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่จริงใจก็มีผลเท่ากัน แต่หากเปิดช่องทางให้เจ้าหน้าที่ทำงานไปก่อนตามที่ผมบอก เจ้าหน้าที่จะมีเวลาคิด มีเวลาคัดแยกว่าคนไหนตัวจริง คนไหนตัวปลอม คนไหนมีศักยภาพสั่งการในพื้นที่จริงๆ มันมีวิธีที่จะทดสอบกันได้ เมื่อพูดคุยกันไประยะหนึ่งก็จะสร้างความไว้วางใจกัน อะไรที่ทำให้กันได้เพื่อแสดงความจริงใจก็ทำให้กันเพื่อทดสอบดู หากทดสอบแล้วมีความผิดพลาดก็จะไม่เกิดความเสียหายมาก เพราะทุกอย่างยังเป็นความลับ และมีช่องทางถอยด้วยในตัว
ผมไม่ได้ขัดขวางกระบวนการนี้ เพียงแต่ไม่เห็นด้วยเรื่องวิธีการ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากกระตุ้นให้ดำเนินการในขั้นต่อไปอย่างรอบคอบมากขึ้น อย่าใช้ลัทธิวีรชนเอกชน เพราะถูกหลอก ถูกต้มกันมาเยอะแล้ว แต่เมื่อการพูดคุยถูกเปิดออกมาอย่างนี้แล้วก็ต้องเดินหน้าต่อ เพียงแต่เลขาฯสมช.ก็ไม่ควรแถลงเช้า-เย็น หรือตอบทุกเรื่อง
O สรุปคนที่มาลงนามเป็นตัวจริงหรือเปล่า?
ก็คงมีส่วนจริง อยู่ในโครงสร้างขบวนการ แต่ไม่มีส่วนสัมพันธ์กับในพื้นที่มากนัก เรียกได้ว่าไม่ใช่ส่วนของการใช้กำลัง เป็นส่วนนโยบาย เมื่อมาเลเซียให้คนนี้มาก็คงมีส่วนอยู่ แต่เป็นทั้งหมดหรือไม่ เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ ก็ต้องรอดูกันไป และต้องใช้เวลา
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าคุยถูกตัวแล้วจะแก้ไขปัญหาภาคใต้ได้ทันที เพราะการพูดคุยไม่ใช่ยาวิเศษ คุยแล้วสำเร็จ ปัญหาจบ คงไม่ใช่ เพราะปัญหามีมากกว่านั้น ซับซ้อนกว่านั้นมาก
O คิดอย่างไรกับประเด็นนครปัตตานีที่หยิบมาโต้เถียงกันตอนนี้?
ผมคิดว่ายังไม่ถึงเวลาที่ต้องคุย ขั้นตอนนี้คำถามหรือปัญหาต้องมาก่อนคำตอบ เช่น คุณต้องการอะไร ประชาชนในพื้นที่ต้องการอะไร แล้วเรามีกฎหมายอะไรอยู่บ้าง ถ้าตรงไหนแก้ได้ก็ทำไปก่อนเลย ไม่จำเป็นต้องไปเอาคำตอบสุดท้ายมาบอกก่อนว่าคือนครปัตตานี
ผมยืนยันได้ว่าที่คุยกันมาตลอดไม่เคยมีประเด็นเรื่องปกครองตนเองหรือปกครองพิเศษ สิ่งที่เราคุยคือจะแก้ปัญหาอย่างไร และฝ่ายที่พูดคุยด้วยก็ไม่เคยพูดเรื่องปกครองพิเศษ มีแต่พูดเรื่องความเป็นธรรม ความยุติธรรม ฉะนั้นไม่ควรระเบิดให้มันไปถึงตรงนั้นก่อนเวลา
ผมไม่ปฏิเสธว่าเราต้องลงทุนให้หนัก แต่ต้องทำเพื่อคนในพื้นที่ ที่ผ่านมามีหรือยัง เช่น ลงทุนเพื่ออนาคตของคนภาคใต้ในปี ค.ศ.2020 ผมยังไม่เห็นนะ เราลงทุนเพื่อประชาชนได้ แต่ไม่ควรลงทุนเพื่อแกนนำขบวนการพวกนี้ เราไม่ควรไปคุยว่าแกนนำจะว่าอย่างไร แต่เราต้องคุยว่าจะแก้ปัญหาให้ประชาชนได้อย่างไร
ผมคิดว่าเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่อาจจะให้มีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องไปถึงเขตปกครองพิเศษ โครงสร้างที่เรามีอยู่ก็ทำได้ หรืออาจจะไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะปัญหาอาจจะอยู่ที่เจ้าหน้าที่ไม่ดี ก็ไปแก้ตรงนั้น
O ทำไมการทำงานในทางลับที่ผ่านมาจึงไม่ประสบความสำเร็จ?
สาเหตุที่ทำให้การทำงานที่ผ่านมาไม่เห็นผลสำเร็จชัดเจน เพราะปัญหาภาคได้ไม่ได้เป็นวาระของบ้านเมือง แต่เป็นวาระการเมืองไปกลายๆ ผมเพ่งมองมาตลอดตั้งแต่เป็นระดับเจ้าหน้าที่ กระทั่งเป็นรองเลขาธิการ สมช. สรุปได้ว่าความต่อเนื่องไม่มี บ้านเราเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย การทำงานก็เลยหยุดเป็นช่วงๆ อย่างตอนที่ผมทำ (ตอนที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช.) พอการเมืองเปลี่ยนก็หยุดทุกอย่าง และเปลี่ยนกระบวนการทำงานไปอีกอย่างหนึ่งเลย
ต้องไม่ลืมว่าฝ่ายที่เคยไว้เนื้อเชื้อใจเราจากการทำงานมาก่อนหน้านั้นก็จะหยุดไปด้วย ไม่ใช่เราหยุดหรือเปลี่ยนฝ่ายเดียว ผมคิดว่าถ้าเราทำให้เรื่องนี้เป็นวาระของบ้านเมือง มีความต่อเนื่อง ไม่ว่าเปลี่ยนรัฐบาลกี่รัฐบาลก็สานต่อ จะมองเห็นความสำเร็จมากกว่านี้
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายถวิล เปลี่ยนศรี (ภาพโดย ปกรณ์ พึ่งเนตร)