หมอพลเดช : 6โมเดลมหานครชายแดนใต้ กับสิ่งที่ชาวบ้านอยากได้จริงๆ
สังคมไทยกำลังเข้าสู่โหมดแห่งการถกเถียงกันเรื่องเขตปกครองพิเศษชายแดนใต้ ที่ถูกเรียกขานจากฝ่ายคัดค้านว่า "นครรัฐปัตตานี" ทั้งๆ ที่กระบวนการพูดคุยสันติภาพที่รัฐบาลกรุยทางเอาไว้ยังไม่ได้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ
ข่าวใหญ่ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาถูกเปิดจาก นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งดูแลพื้นที่ภาคใต้ ทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กำกับดูแลศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พำนักอยู่ในพื้นที่ปลายด้ามขวานสัปดาห์ละ 3 วันในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะด้วย
นายถาวร ได้ออกมาฉายภาพให้เห็นถึงอนาคตของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเขาเชื่อว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยล็อคภาพเอาไว้ให้เป็น "นครรัฐปัตตานี" ตามที่เคยหาเสียงเลือกตั้ง และตามที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ตอบคำถามผู้สื่อข่าวในเชิงคาดการณ์ว่า สุดท้ายเรื่องรูปแบบการปกครองในพื้นที่คงหนีไม่พ้นที่จะต้องพูดคุยกันกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ
นายถาวร ได้ให้ข้อมูลโยงไปถึงร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) จัดตั้งสถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (องค์กรมหาชน) พ.ศ.… โดยกล่าวอ้างว่าเป็นการดำเนินการของ ศอ.บต.เพื่อรองรับการจัดตั้งนครรัฐปัตตานี ซึ่งมีข่าวว่าทีมงานของพรรคเพื่อไทยกำลังยกร่างกฎหมายมหานครปัตตานีอยู่ด้วย
"สิ่งที่น่าห่วงคือการจัดตั้งองค์กรแบบเบ็ดเสร็จนั้นจะถูกแทรกแซง เพราะตามมาตรา 9 (2) ของ พ.ร.ฎ.ดังกล่าว ระบุให้รัฐบาลอุดหนุนเงินให้องค์กรนี้เป็นรายปี และในมาตรา 9 (3) ระบุให้องค์กรสามารถรับเงินบริจาคและเงินอุดหนุนจากต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ และเอกชนได้ จึงเกรงว่าที่สุดแล้วจะเป็นการง่ายต่อการรับเงินจากต่างประเทศเพื่อมาสนับสนุนอุดหนุนโจรแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ หรือถูกแทรกแซงจากองค์กรภายนอกประเทศที่เป็นผู้บริจาคเงินหรือไม่" เป็นข้อสังเกตจากรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
หลังจากข้อมูลนี้ได้รับการเผยแพร่ต่อผ่านสื่อสารมวลชนแขนงต่างๆ ร้อนถึง ศอ.บต.ต้องออกแถลงการณ์ยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มยกร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าว แต่เป็นการดำเนินการของสำนักงานปฏิรูปสังคมที่เป็นธรรม (สปร.) ส่วน ศอ.บต.มีบทบาทร่วมกับสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา จัดประชุมภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อระดมความเห็นเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่อง "นครรัฐปัตตานี" หรือ "เขตปกครองพิเศษชายแดนใต้" แต่อย่างใดทั้งสิ้น
ขณะที่ นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานสมัชชาปฏิรูปจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.ปัตตานี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 มี.ค.2556 เพื่อร่วมประชุมคณะกรรมการจัดงานสมัชชาปฏิรูปชายแดนภาคใต้ครั้งที่ 2 ซึ่งกำหนดเอาไว้วันที่ 28 เม.ย.2556 และได้อรรถาธิบายถึงร่าง พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (องค์กรมหาชน) กับข้อเสนอที่เกี่ยวกับการจัดรูปแบบการปกครองหรือการบริหารแบบพิเศษที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าเป็นคนละเรื่องกันเกือบจะสิ้นเชิง!
O การจัดทำร่าง พ.ร.ฎ.สถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (องค์กรมหาชน) ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร?
เรื่องที่ คุณถาวร ออกมาพูด ผมเข้าใจได้ในฐานะที่ท่านเป็นอดีตรัฐมนตรีดูแลการแก้ปัญหาภาคใต้ ขอบคุณที่ท่านยังเอาใจใส่ในเรื่องนี้อยู่ แต่สิ่งที่ท่านเชื่อมโยงกันนั้นบางทีอาจเชื่อมโยงกันทั้งๆ ที่ความจริงไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย แต่เมื่อหยิบมาโยงกันอาจทำให้ประชาชนสับสนได้
จริงๆ แล้วเรื่องร่าง พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องหนึ่ง ส่วนเรื่องรูปแบบการบริหารจัดการพื้นที่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เริ่มจากเรื่อง "ปัตตานีมหานคร" หรือ "มหานครปัตตานี" เรื่องนี้ได้ทราบจากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ หน้า 2 เมื่อ 2-3 วันก่อนว่า มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) .มหานครปัตตานี ของพรรคเพื่อไทย อ่านแล้วเข้าใจได้ทันทีว่า อ๋อ...สิ่งที่พรรคการเมืองซึ่งเป็นรัฐบาลอยู่เขาอาจจะคิดอย่างนั้น แต่ต้องบอกว่าแตกต่างจากที่ภาคประชาสังคมทำอยู่
ส่วนของภาคประชาสังคมที่กำลังทำอยู่นี้ เราไม่มีรูปแบบตายตัวว่าเป็นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่เราใช้เวที 200 กว่าเวทีเพื่อคุยกับประชาชนในระดับรากหญ้าตามอำเภอและตำบลต่างๆ รวมทั้งชนชั้นกลาง ข้าราชการ และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐ รวมไปถึงคนพุทธ กลุ่มนักธุรกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมแล้วกว่า 200 เวที เราทำเสร็จแล้ว ของเรามี 6 รูปแบบ คือ
1 รูปแบบที่มี ศอ.บต.เป็นองค์กรสำคัญในการพัฒนา
2 ให้จัดตั้งเป็นกระทรวงหรือทบวงจังหวัดชายแดนภาคใต้
3 และ 4 เป็นรูปแบบสามนคร (แยกเลือกตั้งผู้บริหารนครเป็นรายจังหวัด คือ นครปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ส่วนที่ต่างกันคือ แบบที่ 3 มี อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) และเทศบาลอยู่เหมือนเดิม แต่เลือกตั้งผู้ว่าฯ ส่วนแบบที่ 4 ให้ยุบ อบต. อบจ. และเทศบาลทั้งหมด สรุปคือรูปแบบที่ 3 เป็นการปกครอง 2 ชั้น ส่วนรูปแบบที่ 4 เป็นการปกครองชั้นเดียว
5 และ 6 เป็นรูปแบบคล้ายๆ กัน เรียกว่ารูปแบบมหานคร โดยการนำพื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอของ จ.สงขลา มารวมกันแล้วเลือกผู้บริหาร แต่ไม่ได้ใช้คำว่ามหานครปัตตานี ใช้คำว่า "ปัตตานีมหานคร" รูปแบบที่ 5 และ 6 จะมีความแตกต่างกันคือ ยังคงให้มีองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในปัจจุบัน ได้แก่ อบต. อบจ. เทศบาล เอาไว้หรือไม่คงไว้ หมายถึงเป็นแบบชั้นเดียวกับสองชั้น เหมือนรูปแบบที่ 3 และ 4
ทั้งหมดนี้เป็นตุ๊กตาที่เราทำขึ้นมาเพื่อให้การพูดคุยถกเถียงทำได้ง่ายขึ้น แต่ใน 6 รูปแบบไม่มีรูปแบบใดที่เรียกว่า "มหานครปัตตานี" ตามที่พรรคเพื่อไทยเสนอ ฉะนั้นมันแตกต่างกัน แต่หลังจากนี้จะมีรูปแบบที่ 7, 8, 9 ก็ย่อมเกิดขึ้นได้
ที่ผ่านมาใน 200 เวทีปรากฏว่ามีหลายเวทีมากที่จะเสนอรูปแบบ ขณะนี้ทีมวิชาการของเรากำลังสรุปความเห็นของประชาชน ว่าเมื่อนำประเด็นเรื่องรูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษไปคุยกับประชาชน เขามีความเห็นอย่างไร เขาชอบแบบไหน เขามีข้อเสนอแนะอย่างไร อันนี้เราจะสรุปและประกาศในสมัชชาปฏิรูปจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งที่ 2 วันที่ 28 เม.ย.2556 ตอนนั้นจะชัดเจนและจะเป็นประโยชน์มากๆสำหรับสองฝ่ายที่กำลังจะพูดคุยเจรจากัน (หมายถึงระหว่างฝ่ายความมั่นคงไทย กับกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน) และจะพูดคุยเรื่องรูปแบบปกครองพิเศษว่าจะเป็นแบบไหน ถ้าสามารถนำข้อสรุปจาก 200 เวทีไปพิจารณาด้วยก็จะเป็นประโยชน์
O ข้อมูลจาก 200 เวทีสามารถสรุปได้หรือไม่ว่าประชาชนให้ความสนใจกับรูปแบบไหนมากที่สุด?
ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการขณะนี้ เราพบว่าพอชวนประชาชนมาพูดคุยเรื่องการปกครอง มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างไกลตัวเขา เพราะฉะนั้นเขาจะคุ้นเคยกับรูปแบบ ศอ.บต.ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อันนี้ส่วนมากเลยทีเดียวที่อยากให้เป็นรูปแบบปัจจุบัน ถ้าเป็นอีกแบบ คือ ปัตตานีมหานคร ซึ่งหมายถึงรูปแบบที่ 5 และ 6 อันนี้ก็มีคนสนใจเยอะเหมือนกัน มันกลายเป็นแบบนี้
ในส่วนของการพูดคุยเจรจาแล้วสุดท้ายอาจเป็นการปกครองพิเศษหรือไม่นั้น อันนี้เป็นความเห็นของคนนั้นคนนี้ รวมทั้งของคุณถาวร และของพรรคเพื่อไทย เรายังไม่ได้คุยกับฝ่ายขบวนการว่าคิดอย่างไร เราไม่รู้ เพราะฉะนั้นอย่าไปด่วนสรุป
เรายืนยันเลยว่าจัดเวทีมา เริ่มต้นเราคิดว่าชาวบ้านจะสนใจเรื่องของการปกครองพิเศษ แต่ชาวบ้านจริงๆ เขาไม่คุ้นชินกับเรื่องแบบนี้หรอก เขาสนใจเรื่องความยุติธรรม ความยากจน ปัญหายาเสพติดมากกว่า และนี่เป็นที่มาที่ทำให้เราเสนอร่าง พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การมหาชนเพื่อทำงานฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นและการพัฒนาชายแดนใต้ เพราะเราเห็นว่าจัดเวทีที่ผ่านมา 200 เวที ตายแล้ว...ชาวบ้านเขาไม่สนใจเรื่องอย่างนั้นหรอกนะ (หมายถึงเรื่องปกครองแบบพิเศษ) แต่สนใจเรื่องงานพัฒนา
แต่งานพัฒนาที่ผ่านมาโดยภาครัฐมีข้อจำกัดตรงที่ภาครัฐมีเงิน พัฒนาเยอะ ปีหนึ่งสายพัฒนาใช้งบประมาณ 6 พันล้านบาท แต่ไม่สามารถไปถึงชาวบ้านได้ ไม่สามารถสร้างความเชื่อถือไว้วางใจและแก้ปัญหาของประชาชนได้จริง เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าปัจจุบันนี้รัฐ เป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนและกับขบวนการ ดังนั้นเมื่อรัฐเป็นฝ่ายพัฒนา มันก็มีกำแพงกั้นอยู่ ดังนั้นนักพัฒนาจากหน่วยงานรัฐจึงเข้าชุมชนไม่ได้ เข้าพื้นที่ไม่ได้ เงินที่มามากก็จริง แต่ไปไม่ได้ ไปไม่ได้ผล อันนี้เป็นช่องว่างใหญ่
เราจึงคิดถึงว่ามันจำเป็นต้องมีองค์กรอีกแบบหนึ่ง องค์กรที่เป็น มหาชน เช่นเดียวกับ พอช. (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) มันไม่ใช่องค์กรราชการ สามารถเข้าถึงชาวบ้านได้ดีกว่า
O สังคมไทยควรเรียนรู้และเตรียมทำความเข้าใจประเด็นใดบ้างในเส้นทางการพูดคุยสันติภาพเพื่อแก้ปัญหาภาคใต้?
สังคมไทยขอแยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรสนใจติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ถ้าหากว่าเขาพูดคุยครั้งที่ 2-3-4 แล้วมีข้อเสนออย่างนั้นอย่างนี้ เราคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องแสดงความคิดเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ขอให้มีการปรับปรุงอย่างนั้นปรับอย่างนี้ ไห้มีส่วนร่วมอย่างกระตือรือล้น
ส่วนคนไทยที่อยู่ในภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ ขอให้เอาใจใส่ติดตามข้อมูลข่าวสารเรื่องนี้ ฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน อย่าฟังเสียงฝ่ายใดฝ่ายเดียว อย่ามีอคติ อย่าปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร ให้เปิดรับข้อมูลข่าวสารทุกฝ่ายแล้วใช้ดุลพินิจเอาเองว่าแบบไหนจึงจะเป็นคุณและประโยชน์ต่อ ประเทศไทยโดยรวม เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นภายใต้รัฐธรรมนูญ
O บทบาทของภาคประชาสังคมต่อการพูดคุยสันติภาพที่มาเลเซียจะทำอะไรบ้าง?
ทางภาคประชาสังคมสนับสนุนเรื่อง peace dialogue อยู่แล้ว แม้แต่การยกระดับเป็นการ "เจรจาสันติภาพ" หรือ peace negotiation เราก็ยินดีสนับสนุน เพราะเราอยากให้แก้ปัญหาด้วยความสันติ ไม่อยากให้แก้ปัญหาด้วยความรุนแรง
แต่จาก peace dialogue ไปสู่ peace negotiation ต้องใช้เวลาแล้วก็ต้องมีการพูดคุยหลายรอบ ไม่มีข้อยุติ เพราะฉะนั้นประชาชนต้องอดทน ติดตาม รู้ทันข่าวสาร ไม่สับสน ไปกับนักการเมืองที่จะมาพูดอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะทิศทางนี้เป็นทิศทางที่ถูกต้อง ดีแล้ว เพียงแต่ว่าถ้าประชาชนต้องรู้เท่าทันและติดตามตลอดเวลา ถ้าทำได้การเจรจาสันติภาพระหว่างสองฝ่ายจะอยู่ในร่องในรอย ไม่อย่างนั้นก็ไปแอบทำกันมุบมิบ ไปคุยอะไรกันชาวบ้านไม่รู้เรื่อง เช่น เรื่องมหานครปัตตานี เรื่องนั้นเรื่องนี้ การมาพูดคุยกันเปิดเผยเป็นเรื่องดี
ภาคประชาสังคมเห็นความสำคัญและขอสนับสนุนให้เกิดการพูดคุยกันแทนที่จะยิงกัน พวกเราอยากเห็นการหยุดสู้รบ หยุดระเบิด หยุดยิง หยุดฆ่าทำร้าย โดยเฉพาะการหยุดทำร้ายผู้บริสุทธิ์ ตรงนี้อยากให้หยุดสักที หันมาพูดคุยเจรจากัน ส่วนการพูดคุยจะมีข้อตกลงอะไร อันนี้อยากให้ประชาชนมีสวนร่วม ได้รับรู้ได้ฟังความเห็นประชาชนเป็นระยะๆ ด้วย
O มองแนวโน้มปัญหาภาคใต้อย่างไร?
แนวโน้มน่าจะดีขึ้นเมื่อมีการพูดคุย และยกระดับไปสู่การเจรจา จากเจรจาต้องมีข้อยุติ อยากเห็นภายในสิ้นปีนี้ว่าการเจรจามีข้อยุติระหว่างสองฝ่าย ถ้าข้อยุตินั้นนำไปสู่การหยุดยิง หยุดใช้ความรุนแรง หยุดการใช้กฎหมายพิเศษ ตรงนี้คือความหวังของคนทั้งประเทศ แล้วจากนั้นเราจะไปสู่การสร้างสันติภาพและสันติสุขที่ยั่งยืนได้ แล้วเราจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างสง่าผ่าเผย
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นพ.พลเดช ปิ่นประทีป (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)