"หาดใหญ่โพล" ชี้คุยบีอาร์เอ็นไม่แก้ปัญหา แต่ยังหนุนเจรจาดับไฟใต้
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวหลายด้านที่เป็นผลสะท้อนจากการลงนามครั้งประวัติศาสตร์เพื่อริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการระหว่างเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ของไทย กับบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น
หนึ่งในนั้นคือ "โพลล์" หรือผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนซึ่งจัดทำโดยมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เรียกสั้นๆ ว่า "หาดใหญ่โพล"
ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ แถลงผลสำรวจของ "หาดใหญ่โพล" ที่เก็บข้อมูลจากประชาชนใน จ.สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส จำนวน 1,002 ตัวอย่าง ในหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ประเด็นแรก ประชาชนมีความพึงพอใจต่อการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แค่ไหน พบว่า ความพึงพอใจอยู่ในระดับน้อย คือได้คะแนนเฉลี่ย 3.76 คะแนน จาก 10 คะแนน
ประเด็นที่สอง เปรียบเทียบผลงานการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลชุดนี้กับรัฐบาลชุดอื่น ๆ พบว่า ประชาชนร้อยละ 76.9 ชื่นชอบผลงานของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รองลงมา ร้อยละ 17.2 ชื่นชมผลงานของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และร้อยละ 5.9 ชื่นชมผลงานรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ประเด็นที่สาม การแต่งตั้งกลุ่มวาดะห์เข้าไปเป็นทีมที่ปรึกษาของรัฐบาลในการแก้ปัญหา สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ประชาชนร้อยละ 59.6 เห็นว่าไม่สามารถช่วยลดความรุนแรงของปัญหาได้
ประเด็นที่สี่ การที่นายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์) ไปพูดคุยกับรัฐบาลมาเลเซีย และการพูดคุยเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 62.6 คิดว่าไม่สามารถแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ขณะที่ประชาชนที่เห็นว่าแนวทางดังกล่าวจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา มีร้อยละ 37.4
ประเด็นที่ห้า การยกเลิกการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ใน 5 อำเภอที่มีเหตุรุนแรงเบาบาง แล้วประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) แทน พบว่า ประชาชนร้อยละ 52.7 เห็นด้วยหากรัฐบาลยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างไรก็ดี ประชาชนร้อยละ 55.8 ต้องการให้ทหารและตำรวจดูแลพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนเดิม และมีประชาชนร้อยละ 38.6 ที่อยากให้ตำรวจและฝ่ายปกครองของกระทรวงมหาดไทยดูแลพื้นที่สามจังหวัดแทนทหาร
ประเด็นที่หก แนวโน้มของปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนร้อยละ 67.5 เห็นว่าแนวโน้มยังคงเหมือนเดิม ขณะที่ร้อยละ 19.3 เห็นว่าแนวโน้มของปัญหาจะมีความรุนแรงลดน้อยลง ส่วนร้อยละ 13.2 เห็นว่าจะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
ประเด็นที่เจ็ด ความกังวลต่อการลอบวางระเบิดใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พบว่า ประชาชนร้อยละ 51.8 ไม่กังวล ขณะที่ประชาชนร้อยละ 53.7 มั่นใจต่อมาตรการรักษาความปลอดภัยรอบ อ.หาดใหญ่ แต่ก็มีประชาชนถึงร้อยละ 46.3 ที่ไม่มั่นใจมาตรการรักษาความปลอดภัย
ประเด็นที่แปด แนวทางการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการมากที่สุด พบว่า ประชาชนร้อยละ 39.2 ต้องการให้มีการเจรจากับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง รองลงมา ร้อยละ 23.2 ต้องการให้ถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ และร้อยละ 19.3 ต้องการเปิดช่องทางให้ผู้หลงผิดกลับเข้าสู่สังคมตามมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ