เยาวชนไทยร้องรบ.ลาวตามหานักพัฒนา ‘แมกไซไซ’ หายตัวลึกลับ
เยาวชนไทยลุ่มน้ำโขงยื่นหนังสือสถานทูตลาว เรียกร้อง-รณรงค์ตามหา ‘สมบัด สมพอน’ อดีตนักพัฒนาแมกไซไซหายตัวลึกลับ คาดเหตุช่วยชาวบ้านขัดผลประโยชน์
วันที่ 15 มี.ค. 56 ที่สถานทูตลาวประจำประเทศไทย เครือข่ายเยาวชนไทยและแม่น้ำโขง ประมาณ 30 คนเข้ายื่นหนังสือถึง ฯพณฯ ทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีประเทศลาว พร้อมสำเนาถึงประธานสภาแห่งชาติ ประเทศลาว กรรมการกรมการเมืองศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลาว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันความสงบ ประเทศลาว เลขาธิการอาเซียน และสมาชิกคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ให้มีการสืบค้นหาตัว นายสมบัด สมพอน ผู้ได้รับรางวัลรามอนแมกไซไซ สาขาบริการชุมชน ปี 48 ภายหลังถูกกลุ่มบุคคลนิรนามลักพาตัวหายไปด้วยรถกระบะ หลังจากถูกตำรวจเรียกให้หยุดที่ด่านตรวจบนถนนท่าเดื่อ อ.ศรีสัดตะนาก กรุงเวียงจันทร์
โดยหนังสือมีใจความว่า ประเทศลาวเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยในม. 9 ได้กล่าวถึงการคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของบุคคล และยังลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย นอกจากนี้ประเทศลาวและประเทศสมาชิกของอาเซียนได้ลงนามร่วมกันในปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน ดังนั้น ลาวจึงต้องสนับสนุน ส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
ทั้งนี้ เรียกร้องให้หน่วยงานข้างต้น ตระหนักว่า การลักพาตัวสมบัด สมพอน คืออาชญกรรมต่อสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคแม่น้ำโขงของอาเซียน เป็นสิ่งขัดขวางการพัฒนาของภูมิภาคนี้ อีกทั้งละเมิดหลักการสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ซึ่งเหตุการณ์รุนแรงเช่นนี้ควรได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นด้วยความสมานฉันท์
นอกจากนี้ต้องสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสืบสวนการถูกลักพาตัวไปอย่างเร่งด่วนและโปร่งใส ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ พร้อมเปิดเผยข้อมูลความคืบหน้าในการสืบสวนอย่างครบถ้วนแก่ครอบครัวของสมบัด และบุคคลอื่นที่ควรได้รับ ที่สำคัญจะต้องรับรองว่าจะตามหาสมบัดอย่างถึงที่สุดด้วยมาตรการทั้งหมดที่มี เพื่อช่วยเหลือให้กลับสู่ครอบครัวโดยเร็วที่สุด
น.ส.ศักดิ์สินี เอมะศิริ แกนนำเครือข่ายเยาวชนไทยและแม่น้ำโขง กล่าวว่า การหายตัวไปของท่านสมบัด สมพอน บอกไม่ได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่ส่วนตัวคิดว่าน่าจะเป็นกรณีเดียวกับการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร และบุคคลอื่น ๆ ในอดีตที่ช่วยเหลือชาวบ้านที่ขัดผลประโยชน์ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าท่านสมบัด สมพอน ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเราจะสานต่อเจตนารมณ์ในการส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างเยาวชนด้วยกัน ตามที่ท่านเคยมีแนวทางช่วยเหลือเยาวชนในภูมิภาคอาเซียนเกี่ยวกับการส่งเสริมการเรียนรู้และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
“เราในฐานะเยาวชนจะทำกิจกรรมเรียกร้องตามหาท่านสมบัดด้วยสันติวิธี โดยไม่จำเป็นต้องไปด่า ประท้วง หรือโวยวาย แต่เราจะทำในศักยภาพของเยาวชนผ่านการแสดงออกหลายหลายแง่มุม เช่น ศิลปะ ดนตรี การแสดง” แกนนำเครือข่ายฯ กล่าว
ล้อมกรอบ
ประวัติโดยย่อ สมบัด สมพอน
สมบัด สมพอน เป็นลูกชายคนโตของครอบครัวเกษตรกรรมยากจนจากบ้านดอนเขียว แขวงคำม่วน เขาคุ้นเคยกับความยากจน หิวโหย และความไม่มั่นคงในชีวิตมาตั้งแต่กำเนิด ในทศวรรษที่ 1960 ครอบครัวของสมบัดต้องลี้ภัยเป็นการชั่วคราวในไทย เพื่อหนีการปะทะกันระหว่างกองกำลังปฏิวัติลาวและกองกำลังของรัฐบาลในสงครามอินโดจีน ในขณะนั้นด้วยอายุเพียง 8-9 ปี สมบัดต้องรับภาระเป็นผู้ลักลอบพายเรือข้ามแม่น้ำโขงกลับมายังฝั่งลาว เพื่อมารับข้าวสารจากญาติในหมู่บ้านเดิมของเขา เพื่อนำกลับไปเลี้ยงครอบครัว เนื่องจากภาวะขาดแคลนอาหารที่ค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทย
เมื่อครอบครัวสามารถกลับไปยังลาวได้ สมบัดต้องออกจากบ้านอีกครั้งเพื่อศึกษาต่อระดับมัธยม โดยไปอาศัยอยู่กับญาติในเมืองท่าแขก แขวงจำปาสัก แขวงสะหวันนะเขต และกำแพงนครเวียงจันทร์ตามลำดับ จากความมานะพยายามอย่างหนักนี้เอง ในปี 2512 เขาได้รับทุนนักเรียนแลกเปลี่ยนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เพื่อเดินทางไปศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายยังรัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา โดยพักอาศัยอยู่กับครอบครัวชาวอเมริกัน ต่อมีปี 2514 สมบัดได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง เขาจึงกลับไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่ม.ฮาวายในสาขาการศึกษาและการเกษตร
หลังเรียนจบในปี 2522 สมบัดตัดสินใจกลับไปยังประเทศลาว ซึ่งเป็นการสวนทางกับคำแนะนำของเพื่อน ๆ ที่เตือนว่าเป็นช่วงที่ลาวกำลังประสบความวุ่นวายทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม หลังสงครามอินโดจีนสิ้นสุดลงในปี 2518 และรัฐบาลสังคมนิยมใหม่ในลาวได้ก่อกำเนิดขึ้น ดังนั้น การทำมาหากินเพื่ออนาคตย่อมอยู่ในภาวะเสี่ยง อย่างไรก็ตาม ความปรารถนาเพียงสิ่งเดียวของสมบัด คือการได้กลับไปยังประเทศบ้านเกิดเมืองนอนและใช้ความรู้พร้อมทั้งทักษะที่มีในการยกระดับชีวิตของชาวนาและเกษตรกรผู้ยากไร้เหมือนดังกับที่พ่อแม่ของเขาเป็น
ปี 2523 สมบัดเริ่มทดลองระบบการเกษตรแบบผสมผสานที่ใช้ข้าวเป็นพืชหลัก โดยได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลและการสนับสนุนด้านทุนจากต่างประเทศ เขาอบรมเกษตรกรเพื่อช่วยให้เกษตรกรเหล่านั้นสามารถรักษาความมั่นคงทางอาหารด้วยการใช้เทคโนโลยีต้นทุนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังทำการฝึกอบรมกับกลุ่มผู้หญิงและบุคลากรของภาครัฐเรื่องการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมและการบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ดังนั้นจึงไม่ใช่เฉพาะในกลุ่มเกษตรกร แต่รวมไปถึงกลุ่มอื่น ๆ อาทิ ผู้ประกอบการขนาดเล็ก กลุ่มผู้หญิง กลุ่มคนหนุ่มสาว จากประสบการณ์การทำงานดังกล่าว สมบัดเชื่อว่าในการบรรเทาความยากจนนั้น แนวทางการพัฒนาจะต้องเป็นแนวทางที่ผสมผสานในหลายมิติ ดังนั้นจึงต้องทำงานร่วมกัน และในกรณีประเทศลาวที่มีประชากรอายุต่ำกว่า 20 ปี อยู่ถึงร้อยละ 50 อนาคตของชาติจึงอยู่กับการสร้างเสริมศักยภาพให้กับเยาวชนคนหนุ่มสาว เพื่อหาหนทางรับมือกับความท้าทายเกี่ยวกับการพัฒนาที่ในขณะนี้ชุมชนและสังคมกำลังเผชิญอยู่
ปี 2539 สมบัดก่อตั้งศูนย์ฝึกอบรมฮ่วมพัดทะนา หรือที่รู้จักกัดีในนาม องค์กรปาแดก จากฐานงานที่เขาทำมาก่อนหน้านี้ทั้งในเรื่องเกษตรกรรม การพัฒนาชนบท และโครงการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์และพลังงานที่ยั่งยืน ทั้งยังสนับสนุนการจัดตั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้วย ที่สำคัญยังได้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ สาขาบริการชุมชน ในปี 2548 ด้วย.